สหราชอาณาจักรกำลังเจอไฟย้อนศรทางการทูต เกี่ยวกับการเดินทางของบรรดาแขกระดับวีไอพี ที่เตรียมไว้สำหรับร่วมพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยเวลานี้ผู้นำหลายชาติขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ หลีกเลี่ยงข้อเสนอ “จอดแล้วจร” แล้วเดินทางร่วมพระราชพิธีด้วยรถบัสที่จัดเตรียมไว้ให้
หลายประเทศทั้งเล็กและใหญ่กำลังผลักดันให้ทางสำนักงานเครือจักรภพและการพัฒนาต่างประเทศ (FCDO) แห่งสหราชอาณาจักร เพิกถอนระเบียบการที่กำหนดให้บรรดาประมุขแห่งรัฐต่างชาติส่วนใหญ่ เข้าร่วมพระราชพิธีพระบรมศพในวันจันทร์หน้า (19 ก.ย.) ด้วยการจอดยานพาหนะไว้ที่สถานที่แห่งหนึ่ง ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน แล้วเดินทางไปยังพระราชพิธี ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ด้วยการนั่งรถบัสร่วมกันที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรจัดเตรียมไว้ให้
บรรดาผู้แทนทูตจาก 5 ชาติ ในนั้นรวมถึงบางส่วนภายใต้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ (จี7) เปิดเผยกับเว็บไซต์ข่าว POLITICO ว่าพวกเขาอยากได้ยกเว้นสำหรับผู้นำของพวกเขา โดยอ้างปัจจัยเกี่ยวกับอายุและเหตุผลด้านความปลอดภัย
POLITICO รายงานอ้างว่า ระเบียบการด้านการเดินทางดังกล่าว ซึ่งถูกส่งไปยังสถานทูตต่างๆ ในต่างแดนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะไม่บังคับใช้กับผู้นำหลายคน ในนั้นรวมถึง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และรายงานข่าวนี้ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวรัฐบาลสหราชอาณาจักรในเวลาต่อมา
คาดหมายว่า ไบเดน จะเดินทางไปยังพระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ด้วยรถลิมูซีนกันกระสุนของเขา ซึ่งบ่อยครั้งถูกเรียกว่า “The Beast (สัตว์ร้าย)” ส่วนผู้นำคนอื่นๆ จะเดินทางสู่พระราชพิธีบรมศพ ด้วยข้อกำหนดด้านความมั่นคงอย่างเฉพาะเจาะจง อย่างเช่นประธานาธิบดีไอแซก เฮอร์ซอก อาจได้รับอนุญาตให้ยานพาหนะส่วนตัว แหล่งข่าวคนเดิมระบุ
อย่างไรก็ตาม บรรดาคณะทูตต่างชาติประจำกรุงลอนดอน รู้สึกไม่ประทับใจกับระบบ 2 ชั้นดังกล่าว และตอนนี้กำลังส่งเสียงคร่ำครวญ หาทางได้รับคำรับประกันว่าผู้นำประเทศของพวกเขาจะได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกันกับ ไบเดน และสำหรับบางคน เป็นการหลีกเลี่ยงสิ่งที่มองว่าเป็นการเสียเกียรติ ที่ต้องเดินทางด้วยรถบัสร่วมกับบรรดาผู้นำชาติอื่นที่มีความสำคัญน้อยกว่า
“เรากำลังพยายามขอการยกเว้นจากรถบัส” ผู้แทนทูตต่างชาติรายหนึ่งประจำลอนดอนยอมรับ “แต่จนถึงตอนนี้ ยังไม่มีโชคเท่าไหร่”
พวกคณะทูตต่างชาติเผยว่าทางสำนักงานเครือจักรภพและการพัฒนาต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร ไม่ได้ชี้แจงว่าใช้เกณฑ์กำหนดใดสำหรับอนุญาตให้ผู้นำบางคนได้รับข้อยกเว้นจากระบียบการเดินทางด้วยรถบัสร่วม จากทางตะวันตกของลอนดอน คณะทูตหลายชาติติดต่อไปยังสำนักงานแห่งนี้โดยตรงเพื่อขอข้อยกเว้น แต่มีเพียงน้อยนิดที่ได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการ
“ประธานาธิบดีของเรายินดีที่จะขึ้นรถบัสเมื่อได้รับแจ้งเช่นนั้น แต่ท่านอายุมากกว่า 80 ปีแล้ว ถ้ามีหนทางหลีกเลี่ยง เราก็จะพยายาม” ทูตระดับอาวุโสรายหนึ่งกล่าว
ส่วนทูตอีกคนกล่าวว่า “มีความกังวลอย่างมหาศาลในบรรดาผู้นำทั้งหลาย เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ระบุตัวตนของบรรดาคณะผู้ติดตามที่โดยสารรถบัสไปด้วย” ทั้งนี้ สำนักงานเครือจักรภพและการพัฒนาต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร ได้พูดคุยกับคณะผู้แทนจากทุกประเทศที่ผู้นำมีแผนเดินทางร่วมพระราชพิธีศพ แต่ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า จะตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับตำแหน่งที่นั่งบนรถบัส
ทูตอีกคนเสริมว่า การบรรยายสรุปของสำนักงานเครือจักรภพและการพัฒนาต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักรเป็นเรื่องน่ายินดี แต่มันกลับก่อคำถามเพิ่มเติมมากกว่าเป็นคำตอบ พร้อมระบุว่า “พวกเขาบอกกับเราว่าอย่าคาดหวังอะไรมาก อย่าปรารถนาจนเกินไป คาดหมายไว้เลยว่าจะเจอปัญหาต่างๆ ความท้าทายทางโลจิสติกส์มันใหญ่หลวงนัก พวกเขาพยายามโน้มน้าวให้เราใช้รถบัส บอกว่ามันง่ายที่จะบริหารจัดการทุกอย่าง”
บรรดาผู้แทนต่างชาติบางส่วนอาจเคยชินบ้างกับการใช้รถบัสร่วมกัน ในการเข้าร่วมพิธีการใหญ่ก่อนหน้านี้ที่จัดโดยสหราชอาณาจักร ในนั้นรวมถึงการประชุมซัมมิตโลกร้อน COP26 ที่กลาสโกว์เมื่อปีที่แล้ว และพระราชพิธีพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่มหาวิหารเซนต์ปอล
อย่างไรก็ตาม ทูตอีกคนซึ่งเป็นตัวแทนประเทศยุโรปชาติหนึ่ง ซึ่งผู้นำของพวกเขาไม่คัดค้านการใช้รถบัสร่วม บอกว่าบรรดาประมุขรัฐของชาติอื่นๆ บางส่วน ซึ่งไม่เคยชินกับการเดินทางร่วมด้วยรถบัส อาจมองว่าการเดินทางด้วยวิธีดังกล่าวเป็นการท้าทายเกียรติศักดิ์ศรีของพวกเขา และความพยายามโน้มน้าวให้ยอมรับระเบียบการของทางสำนักงานเครือจักรภพและการพัฒนาต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่าย
(ที่มา : POLITICO)