(22 เม.ย. 64) เฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา ของ นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่ม “ราษฎร 63” ที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โพสต์ข้อความ ระบุว่า
“ข้อความฝากจากเรือนจำ 21 เม.ย. 64
เมื่อวานตอนหกโมงเย็น ผมกับเพื่อนยืนเฉยๆ ในห้องขังเป็นเพื่อนพี่น้องข้างนอก ยอมรับว่า ขาตึงเลยครับ มันไม่ง่ายอย่างที่คิด แต่ยืนยันจะทำทุกวันอย่างน้อยก็เพื่อสำนึกในน้ำใจของเพื่อนข้างนอกและเปลี่ยนตัวเองในเรือนจำว่า เราไม่ได้สู้เพียงลำพัง
ช่วงที่ฝนตกในเรือนจำ ผมจะนึกถึงบทเพลงของสามัญชน ผมว่ามันเข้ากับชีวิตตอนนี้ยิ่งตอนที่ละอองฝนสาดเข้ามาในห้องยิ่งทำให้คิดถึงเพื่อนที่อยู่ข้างนอก ฝากเพื่อนข้างนอกดูแลสุขภาพ พวกเราที่อยู่ข้างในก็จะดูแลสุขภาพด้วย
คิดถึงทุกคน อานนท์ นำภา #ยืนหยุดขัง”
ขณะเดียวกัน ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และทำให้เรื่อง ไม่ยอมรับขบวนการของกฎหมาย และถอนทนายความ ของ “เพนกวิน” นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ และเพื่อนแกนนำ 3 นิ้ว ชัดยิ่งกว่าชัดขึ้นมาทันที
กรณี “ชุบ ชัยฤทธิไชย” ทนายความ โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า
“ติดตามความเคลื่อนไหว ในคดีที่มีการฟ้องร้องเพนกวิน ของศาล วันนี้ มีข้อที่ฟังแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกอะไรบางอย่าง
ในฐานะที่เป็นนักกฎหมาย จากกรณีดังกล่าว ทำให้เกิดเป็น “ข้อสังเกต” บางประการ เกี่ยวกับการต่อสู้คดีของจำเลยในศาล
ในเบื้องต้น เป็นที่เข้าใจ และยอมรับกันได้ คือ ศาลต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามตัวบทกฎหมาย ไม่มีอำนาจ หรือ สิทธิ ในการที่จะทำอะไร “นอกกรอบ” ของกฎหมายได้
กระบวนพิจารณาในชั้นศาล ในชั้นนี้ ได้แก่ การตรวจสอบพยานหลักฐาน และกำหนดการสืบพยานโจทก์จำเลย
ฝ่ายโจทก์ และ ฝ่ายจำเลย ต่างจะทำการตรวจสอบเอกสารหลักฐานของอีกฝ่าย ว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในเอกสารนั้น จะรับกันได้ หรือไม่ได้
ถ้ารับข้อเท็จจริงบางอย่างได้ ก็ทำให้การสืบพยานที่จะทำต่อไป เร็วขึ้น ถ้ารับไม่ได้ เพราะเป็นข้อต่อสู้ ก็แถลงไม่รับ
โดยทั่วไป ถ้าจำเลยคิดว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้ทำความผิดตามฟ้อง จำเลยหรือทนายจำเลย จะแถลงไม่รับข้อเท็จจริง ตามเอกสารที่มีการนำเสนอต่อศาล ทุกฉบับ ทุกรายการ ก็ย่อมกระทำได้
ถือว่า เป็นเรื่องปกติ เป็นการชอบด้วยกระบวนการ และชอบด้วยสิทธิ
ส่วนที่จำเลยคดีนี้ แถลงต่อศาลว่า ไม่ยอมรับกระบวนการกฎหมาย และขอถอนทนายความ ผมไม่เข้าใจเหตุผลครับ
และเห็นว่า การแถลงเช่นนั้น ไม่น่าจะเกิดประโยชน์ และ ไม่เป็นเหตุให้กระบวนพิจารณาของศาลเสียไป หรือไร้ผล
แต่กลับจะเป็นการทำให้จำเลยเสียสิทธิ หรือ เสียเปรียบในการต่อสู้คดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ส่งผลให้คำชี้ขาดตัดสินของศาลในท้ายที่สุด เสียไปด้วย
ข้ออ้างว่า ไม่ได้ประกันตัว ทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ จึงไม่ยอมรับกระบวนการ
ก็ต้องบอกว่า การได้ประกันตัวหรือไม่ได้ประกันตัว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อสู้คดีเต็มที่หรือไม่เต็มที่แต่อย่างใด
จำเลยยังคงมีสิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เสมอ ไม่ว่าจะได้ประกันตัวหรือไม่
และน่าสังเกตว่า โดยหลักการในทางคดีอาญานั้น โจทก์มี “ภาระการพิสูจน์ความผิด”
แปลอีกที โจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานเข้าเบิกความเพื่อพิสูจน์ความผิด ให้ศาลเชื่อว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ มีข้อเท็จจริงตามที่ฟ้อง ซึ่งศาลจะพิเคราะห์น้ำหนักทางคดี ตามพยานหลักฐานต่อไป
ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยทำผิด ศาลก็จะต้องพิพากษายกฟ้อง ไม่ว่าจำเลยจะสืบพยานหรือไม่
หรือแม้กรณีหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เป็น “กรณีสงสัย” ว่าจำเลยจะได้ทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลก็จะพิพากษายกประโยชน์แห่งความสงสัย ให้จำเลย โดยการพิพากษายกฟ้อง เช่นเดียวกัน
จึงสงสัยว่า การแถลงของจำเลยครั้งนี้ เจตนาที่ซ่อนเร้น นั้น คือ อะไร
๑. คือ ส่วนหนึ่งของ “ชั้นเชิง” การต่อสู้คดี
๒. รู้ตัวดีอยู่แล้วว่า ตนเองกระทำผิดตามฟ้องอยู่แล้ว ถึงจะสู้คดีอย่างไร ก็คงจะไม่มีทางชนะคดีได้
จึงต้องการทำอะไรบางอย่างให้ดูเหมือนว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมตาม “กระบวนการ”
๓. ต้องการให้โลกมองว่า การไม่ได้รับประกันตัว คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม
๔. ต้องการให้โลกมองว่า การไม่ได้รับการประกันตัว เป็นการ “ขัด” หรือ “แย้ง” กับหลักการแห่ง “สิทธิมนุษยชน”
ผมเดาไม่ถูกจริงๆ ว่า อะไร คือ “เจตนา” ที่แท้จริง
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ผมมิได้มีเจตนาจะ “ชี้นำ” ใดๆ ทั้งสิ้น
เพียงแต่คิดว่า อยากให้คนที่กำลังต่อสู้คดี ได้นำไปพิจารณา วิเคราะห์ เปรียบเทียบถึงผลดีผลเสียของ “ชั้นเชิง” การสู้คดีเพื่อประโยชน์ของตน
การต่อสู้คดี ไม่ว่าในเรื่องใดๆ ย่อมต้องกระทำตาม “กระบวนการ” ที่กฎหมายกำหนด ไม่สามารถใช้วิธีการนอกกรอบของกระบวนการทางกฎหมายได้
นี้คือ หลัก “สากล”
ผมเขียนเรื่องนี้ เพราะอยากเห็นจำเลยต่อสู้คดี ตามหลักการของกฎหมาย อย่างสุจริต ตรงไปตรงมา
คิดอยู่เสมอว่า ฟ้องโจทก์นั้น บางที เมื่อสืบพยาน สืบไปสืบมา โจทก์ก็พิสูจน์ถึง “เจตนา” ของการกระทำความผิดของจำเลยไม่ได้
โดยที่จำเลยไม่ต้องพิสูจน์อะไรเลย ก็เคยมีเกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยๆ
ทั้งนี้ ผมเขียนขึ้นด้วยความเคารพ และด้วยความปรารถนาดี กับคนที่กำลังตกเป็นจำเลย ไม่ว่าในคดีใดๆ
แม้ว่า ผู้เป็นจำเลยนั้น ไม่ใช่คนที่อยู่ใน “สายตา” ของผมเลยแม้แต่น้อย อย่างนายเพนกวิน ก็ตาม
ครับท่าน
ชุบโคราช”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน วานนี้ (21 เม.ย.) จากกรณีที่หลายคนออกมาขอให้ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร ผู้ต้องขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามความผิดมาตรา 112 มาตรา 116 เลิกอดอาหาร หยุดอดข้าวประท้วงกระบวนการยุติธรรม โดยให้เหตุผลว่า อยากให้เพนกวินรักษาชีวิตเพื่อต่อสู้ตามอุดมการณ์ในอนาคต
ทางด้าน นางสาวศิริกาญจน์ เจริญศิริ หรือ “ทนายจูน” ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก ถึงกรณีของการอดอาหารประท้วงของเพนกวิน ว่า
“วันนี้เยี่ยมเพนกวิน เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak และไผ่ ไผ่ ดาวดิน-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา-Jatupat Boonpattararaksa โดยมองผ่าน teleconference (จอคอม) และพูดผ่านทางสายโทรศัพท์ เพนกวินอยู่สถานพยาบาล มีไผ่และแอมมี่ไปเฝ้าด้วย
“วันนี้พี่จูนมาเอง!” เพนกวินพูดทักทาย เราขำและบอกว่า “อือ ปกติพี่เยี่ยมรุ้งไง วันนี้มีข้อความจากรุ้งอยากมาสื่อสารกับกวิน และพี่อยากมาเยี่ยมเห็นว่ากวินเป็นไงบ้าง”
“รุ้งเป็นยังไงบ้างพี่ คิดถึงรุ้งจังเลย”
เราเล่าเรื่องรุ้งให้ฟัง และรับสารที่เพนกวินส่งหารุ้ง ทั้งสองคนมีมิตรภาพและความมั่นคงเชื่อมั่นในกันและกันสูงมาก
เราเอารูปวาด ศิลปะ ภาพถ่ายกิจกรรมยืนหยุดขัง ภาพคณะราษมัมยืนหยุดขัง ให้กวินและไผ่ดู ทั้งคู่ยิ้มตื่นเต้น และขอให้เพื่อนๆช่วยรวบรวมภาพและข้อความส่งให้ทนายเพื่อเอามาให้ดูอีก
ฝากบอกทุกคนว่า “ยัง good spirit. สุขภาพกายไม่ค่อยดี แต่สุขภาพใจเต็มที่ครับ”
เพนกวิน บอกว่า ช่วงนี้เวลาเดินเยอะหรือขึ้นบันไดเองจะไม่ไหว ขาจะสั่น ต้องให้คนพยุง
เราอ่านข้อความจากมิตรสหาย ข่าวและจดหมายอาจารย์ชาญวิทย์ ข่าวพระพยอมขอบิณฑบาตชีวิตรุ้งและเพนกวิน กวินรับทราบทุกข้อความและความห่วงใย
เพนกวิน ถามว่า มีนักวิชาการออกมาพูดเรื่องการอดอาหารประท้วงบ้างไหม เราบอกว่า เห็นมีบทสัมภาษณ์อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เพนกวินอยากให้มีเพิ่มอีก คือ การ “กระตุ้นมโนสำนึกของสังคมต่อความอยุติธรรม” เพนกวินบอก
ไผ่ ยังเป็นไผ่ มีความกวนแต่มั่นคงในหลักการเหมือนเดิม ไผ่ฝากความห่วงสุขภาพพ่อแม่ บอกว่า ไม่ต้องเดินทางมา กทม. ห่วงเรื่องโควิด รอให้ไผ่ออกไปเจอดีกว่า “ชิวอยู่” ไผ่บอก เราฝากไผ่ดูแลเพนกวิน บอกเพนกวินดูแลตัวเองให้ดีที่สุด เพนกวินฝากเราดูแลรุ้ง ทั้งคู่ฝากบอกถึงคนข้างนอกว่า ความหวังของคนข้างในอยู่ที่พวกคุณทุกคน
“ขอให้ทุกคนทั่วโลกช่วยเป็นสักขีพยานของความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในไทย ไม่ใช่แค่ที่เกิดกับผม แต่กับคนไทยทั้งประเทศ” – เพนกวิน
20 เม. ย. 64 Edit เพิ่มข้อความและรูปภาพสเตตัสหนึ่งในหลายข้อความที่รวบรวมไปอ่านให้ทั้งเพนกวินและรุ้งฟัง ซึ่งทั้งคู่ต่างพูดใจความเดียวกันว่า แบบนี้แหละที่ต้องการ
“มีใครคิดแคมเปญดันเรื่องเพนกวิน-รุ้ง อดอาหารประท้วงให้ไปถึงเวทีโลกรึยังนะ?
ตอนนี้แค่ความเป็นห่วงมันคงไม่พอช่วยชีวิตน้องได้หรอก ยิ่งเป็นห่วงยิ่งต้องหาวิธีสิ ในเมื่อน้องยืนยันถึงขนาดเอาชีวิตเป็นประกัน เราคนข้างนอกกินอิ่มนอนหลับ จะช่วยอะไรน้องได้บ้าง ที่ไม่ใช่พยายามโน้มน้าวให้เลิก น้องอดมาเป็นเดือนแล้ว ถ้าน้องจะเลิกจริงน้องคงเลิกไปก่อนหน้านี้นานแล้ว น้องทรมานกาย เราทรมานใจ จะทำยังไงถึงจะช่วยน้องออกมาได้ ช่วยกันคิดหาทางกันเถอะ มีแคมเปญอะไรที่จะทำให้เป็นข่าวดังไปถึงเวทีโลก ที่ทำกันได้ทุกคน”
https://truthforyou.co/44847/
แน่นอน, สิ่งที่ “ชุบ ชัยฤทธิไชย” ทนายความ โพสต์ความเห็น คือ ความจริง ที่ศาลให้ความเป็นธรรม และทำตามกฎหมายทั้งหมดแล้ว
เพียงแต่ สิ่งที่ “กวิ้น-รุ้ง” และขบวนการของพวกเขาคิด คือ “ยุทธศาสตร์” หรือ “วารซ่อนเร้น” ข้ออ้างคือ ไม่ได้ประกัน ทำให้ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ แต่ทนายชุบ บอกว่า ไม่จริง และคดีอาญาเป็นเรื่องที่โจทย์ จะต้องหาพยานหลักฐานมาทำให้ศาลเชื่อว่า จำเลยผิดจริงด้วยซ้ำ
และการอดอาหารประท้วงความอยุติธรรม ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะไม่มีในหลักสากลว่า ทำได้ และยิ่งต้องการ “ฟ้องโลก” ก็ยิ่งน่าอาย เพราะไม่มีโลกใบไหน เขากดดันศาลเพื่อให้ได้ประกันตัวด้วยการอดอาหาร?
ที่สุด ต้องมาดู “ยุทธศาสตร์” หรือ วาระซ่อนเร้นของ ขบวนการ 3 นิ้วว่า คือ อะไร
สิ่งที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว ก็คือ การต่อสู้เพื่อเอาชนะ “สถาบัน” หรือ ทำให้สถาบันยอม “ปฏิรูป” ถ้าไม่เช่นนั้นอาจถูก “ปฏิวัติ” อย่างที่นักการเมืองบางคนของ คณะการเมืองคณะหนึ่งพูดเอาไว้
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเห็นได้ชัดว่า ขบวนการ 3 นิ้ว ไม่ได้สนใจว่า ขบวนการตามกฎหมายของไทยสำคัญ และพร้อมต่อสู้ในกรอบของกฎหมาย หากแต่ให้ความสำคัญกับการ “ฟ้องโลก” ทำให้คนทั่วโลกประณามศาลไทย และประณามสิ่งที่พวกเขาพยายามจะโยงไปถึง ว่า เพราะเป็นความผิดตาม ม.112 จึงเป็นเช่นนี้หรือไม่