เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 7/2564 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. อธิบดีทุกกรม ผู้ตรวจราชการทุกเขตสุขภาพ และคณะผู้บริหาร เข้าร่วมประชุม
จากนั้น นายสาธิต แถลงว่า ที่ประชุมหารือกันเพื่อดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ยังรอการรักษาในทุกระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งจะดำเนินการเรื่องหน่วยเฉพาะกิจฉุกเฉิน ผ่านสายด่วน 1668, 1669 ร่วมมือกับอาสาสมัคร เพื่อส่งต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และผู้ป่วยตกค้าง (back log) ไปยังศูนย์แรกรับและส่งต่ออาคารนิมิบุตร ขณะนี้รองรับได้ประมาณ 200 เตียง พร้อมทั้งโรงพยาบาล (รพ.) บุษราคัม ก็เปิดกว้างพร้อมรับผู้ป่วยจากศูนย์ฯ นิมิบุตร เข้าไปดูแลด้วย นอกจากนั้น สธ. ก็หาพื้นที่อื่นรองรับเพิ่มเติมให้เหมือนกับ รพ.บุษราคัม เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับผู้ป่วยในสถานการณ์ที่มีแนวโน้มคงที่และเพิ่มขึ้น
“เราพยายามไม่ให้ผู้ป่วยตกค้างเยอะ โดยเราพยายามเคลียร์ออกไปยัง รพ.บุษราคัม เพื่อให้รองรับได้มากที่สุด พยายามจะไม่ให้แอดมิดค้างที่นิมิบุตรมากจะต้องกระจายไป รวมถึงจะต้องดำเนินการแยกกักที่บ้านด้วย” นายสาธิต กล่าวและว่า มาตรการแยกกักที่บ้าน หรือ โอม ไอโซเลชั่น (Home isolation) สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ที่สมัครใจ และแพทย์มีความเห็นว่าสามารถแยกกักที่บ้านได้ตามเงื่อนไข โดย รพ.จะส่งอุปกรณ์ดูแลตัวเองและอาหาร 3 มื้อไปให้ที่บ้าน โดยมีแนวทางนำร่องในกรุงเทพฯ และขยายผลต่อไปในเขตสุขภาพอื่นที่ดำเนินการได้ ขณะเดียวกัน กรมสุขภาพจิต ก็มีกระบวนการดูแล คัดกรองบุคลากรที่ขาดขวัญกำลังใจ โดยจะเดินหน้าสร้างกำลังใจให้คนทำงาน กรมสนับสนุนบริการและสุขภาพ (สบส.) ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมของ รพ. ทั้งด้านสถานที่และอุปกรณ์ให้มีความพร้อมในการขยายเตียง โดยต้องแล้วเสร็จใน 1 เดือน
ผู้สื่อข่าวถามถึงผู้ป่วยที่ตกค้างที่บ้าน และไม่ประสงค์ที่จะแยกกักที่บ้าน ต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างไร นายสาธิต กล่าวว่า ในระยะเวลาที่รอเตียง แต่ย้ำว่าสายด่วน 1668 และ 1669 ทำหน้าที่อยู่ ซึ่งหากผู้ป่วยตรวจหาเชื้อจากที่ไหน ขอให้ติดต่อไปที่ รพ.นั้นก่อน หาก รพ.รับไม่ได้แล้ว ก็ต้องดำเนินการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มสีเขียวไปใน รพ.ต่างๆ ทั้งในสังกัดกรมการแพทย์ หรือ รพ.โรงแรม หรือฮอสปิเทล (Hospitel)
“ศูนย์เฉพาะกิจฯ ที่เปิดมา จะช่วยผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง อาจไม่ต้องเข้าระบบเลย เราก็เอามาดูแลเอง เพราะถือเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเราได้เตรียมสถานที่รองรับไว้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาภายใน 3-4 สัปดาห์ แต่สิ่งสำคัญคือ บุคลากร แต่หากอยู่ในเขตสุขภาพใด ก็ต้องให้บริหารหมุนเวียนกันในเขตเพื่อมาดูแลผู้ป่วย” นายสาธิต กล่าว
เมื่อถามถึงมาตรการล็อกดาวน์ตามที่เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกมาเปิดเผยว่า ขอฟังความเห็นจาก สธ. นายสาธิต กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ล็อกดาวน์เป็นอำนาจสูงสุด ที่ต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉะนั้น จึงเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี
“ส่วนการเปิดช่องหรือไม่ สธ.เรารายงานสถานการณ์และความจำเป็นในทุกครั้งที่ประชุม ศบค. ฉะนั้น จะล็อกดาวน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้บริหารสูงสุดในการใช้อำนาจ เพราะต้องหารือผลกระทบในหลายมิติ” นายสาธิต กล่าว