อย่าปล่อยมือ แก้ปัญหา “ที่ทำกิน”
4 สิงหาคม 2565 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พร้อมคณะ ได้นำ เรื่องที่คณะ สว. พบประชาชนภาคอีสานตอนบน ที่มีพลโทจเรศักดิ์ อานุภาพ เป็นหัวหน้าคณะ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในจังหวัดหนองบัวลำภู มาร่วมปรึกษาหารือ
‘เพื่อติดตาม สอบถาม รับฟังข้อเท็จจริง เพิ่มเติมและหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำและที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรตามที่ได้รับเรื่องร้องเรียนมาในระหว่างปี 2562 – 2565’
โดยมีการเชิญหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นายเวียง แก้วพินิจ) หัวหน้าสำนักงานจังหวัดหนองบัวลำภู เกษตรและสหกรณ์จังหวัดหนองบัวลำภู ผู้อำนวยการโครงการชลประทานหนองบัวลำภู นายก อบจ.หนองบัวลำภู และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่เกี่ยวข้องกับที่ประชาชนร้องทุกข์ทั้งหมด
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า จากข้อร้องเรียนทั้งหมดจำนวน 15 ข้อ “เราได้สังเคราะห์แยกแยะ จัดกลุ่มปัญหา ข้อร้องเรียน ให้เกิดความชัดเจน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมหาทางแก้ปัญหาด้วย รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้ ผู้ร้องเรียน ตัวแทนกลุ่ม หน่วยงานระดับท้องถิ่น เข้าร่วมด้วย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือเพื่อหาทางออกให้แก่ ปัญหาต่างๆ ร่วมกัน”
จากข้อร้องเรียน ข้อเสนอแนะ การหาข้อยุติ และแนวทางแก้ไข สรุปได้ดังนี้ คือ
ลำดับที่ 1 และลำดับที่ 3 ร้องทุกข์เรื่องสิทธิทำกิน ของชาวบ้านในที่ดินที่ภูพานทอง หมู่ 2 ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู
กรณีนี้ ต้องวินิจฉัยว่าพื้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน : เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า กรมธนารักษ์ กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานทหาร การพิสูจน์สิทธิมีกฎหมายกำกับอยู่แล้ว และการพิสูจน์สิทธิต้องเป็นไปตามกฎหมายดังนั้น จะต้องมีการส่งพื้นที่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและให้ผู้บริหารมาประชุมเพื่อร่วมกันพิจารณาหาข้อยุติต่อไป
สำหรับการ ร้องขอถนนนั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสามารถสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการดำเนินการได้ โดยขอให้ อบต.ประสานมายังองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภูได้ อบจ. ยินดีให้การสนับสนุนแต่ต้องรับผิดชอบค่าเชื้อเพลิงเป็นเงิน 5000 บาท
ผู้ร้องพอใจ และมีเงินเพียงพอ
ลำดับที่ 2 กรณีขอให้ซ่อมแซมประตูปิดและเปิด ณ อ่างห้วยลอดกั่ว กรณีดังกล่าวได้รับเงินงบประมาณเพื่อนำไปซ่อมแซมแล้ว นอกจากนี้ยังมีแผนงานในการขุดลอกอ่างเก็บน้ำด้วย สำหรับการซ่อมแซมถนนแอสฟัสท์ติคคอนกรีตสายบ้านผาเวียง อำเภอนาวัง ถึงบ้านป่าแดงงามนั้น มีการดำเนินการซ่อมแซมโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู โดยได้มีการการซ่อมแซม 2 ครั้งเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 13 มกราคม 2564 และเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564
นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2566 ก็ยังได้รับเงินอุดหนุนเฉพาะกิจอีกด้วย
ผู้ร้องพอใจ
ลำดับที่ 4 ขอให้พัฒนาถ้ำผาเวียงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดหนองบัวลำภูให้ข้อมูลว่า ได้มีการประสานไปยังผู้ร้องแล้ว โดยให้ผู้ร้องต้องเสนอโครงการร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลนาแก และจัดทำเป็นโครงการร่วมกับกรมป่าไม้ และเสนอมายังสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณในการจัดทำบันได ขึ้นถ้ำต่อไป กรมป่าไม้ยืนยันว่าหากทำโครงการร่วมกันสามารถทำได้
ผู้ร้องพอใจ
ลำดับที่ 5 ต้องการให้ส่วนราชการสนับสนุนด้านการเจาะบ่อนำ้บาดาล พร้อมติดตั้งแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับสมาชิกทุกรายนั้น
สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภูได้มีการดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำ โดยประสานให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภูดำเนินการขุดเจาะน้ำบาดาลให้แก่สมาชิก
สำหรับการติดตั้งแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตามที่ร้องขอ ต้องทำในนามกลุ่มจึงจะขอรับการสนับสนุนได้ โดยขอรับการสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ในการติดตั้งต้องขออนุญาต หรือทำเป็น โครงการณ์ร่วมกับกรมอุทยาน ซึ่งกรมอุทยานยินดี
ส่วนเรื่องขอรับการสนับสนุนพันธุ์อ้อย ที่ดี
ผู้ร้องสามารถจะร้องขอได้จากศูนย์ขยายพันธุ์พืช 10 อุดรธานี และจากภาคเอกชนเครือข่ายแปลงใหญ่ในจังหวัด ส่วนการให้องค์ความรู้ต่างๆ สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ได้มีการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีมากกว่า 3 ครั้ง สถานีพัฒนาที่ดินได้ให้ความรู้ในการผลิตและการใช้ปุ๋ยเพื่อลดต้นทุน สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์หนองบัวลำภู ให้ความรู้ในการทำบัญชีต้นทุนหรือบัญชีครัวเรือน และสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ให้ความรู้ในการปรับปรุงดิน วิเคราะห์ดิน เป็นต้น
ผู้ร้องพอใจ
ลำดับที่ 6 ขอให้มีการขุดลอกแหล่งน้ำ (ลำห้วยทรายและลำห้วยแคน) ที่ตื้นเขิน และกั้นฝายเป็นระยะๆ เพื่อให้เกษตรกรได้มีน้ำใช้อย่างทั่วถึงในการทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์
สำหรับการขุดลอกแหล่งน้ำ ได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว แต่เนื่องจากแหล่งน้ำดังกล่าวมีขนาดเล็ก ซึ่งยังอยู่ในความดูแลของสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 3 ประกอบกับองค์การบริหารส่วนตำบลโนนม่วงไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ
จังหวัดหนองบัวลำภูจะดำเนินการถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลโนนม่วง ประกอบกับได้มีการดำเนินการนำเข้าสู่แผนพัฒนาท้องถิ่นแล้ว รวมทั้งหากองค์การบริหารส่วนตำบลโนนม่วงขาดเครื่องมือหรืออุปกรณ์ก็อาจขอความอนุเคราะห์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภูได้ นายก อบจ. ยินดีให้การสนับสนุน
ผู้ร้องพอใจ
ลำดับที่ 7 ขอให้มีการปรับปรุงถนน (เส้นทางโคกหนองกุ่ง – ดอนผักหวาน ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เส้นหนองผักเห็ด ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร และเส้นลำห้วยแคน) ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมต่อระหว่างตำบล และเป็นถนนเพื่อการลำเลียงพืชผลการเกษตร แต่มีความลำบากในการสัญจร โดยเฉพาะในฤดูฝน
เส้นทางดังกล่าวเป็นถนนในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบล โดยได้มีการดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมถนนดังกล่าวตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564
แต่สำหรับการจะให้ดำเนินการยกพื้นถนนให้สูงขึ้น ทางจังหวัดหนองบัวลำภูจะรับไปประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบลที่เกี่ยวข้องทั้งสองแห่ง ให้ร่วมมือกันและประสานขอความร่วมมือ เรื่องเครื่องจักรจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายก อบจ. ยินดีให้ความร่วมมือ
ผู้ร้องพอใจ
ลำดับที่ 8 ขอให้มีการขยายเขตไฟฟ้าเข้าไปยังพื้นที่การเกษตร (บริเวณถนนสายลาห้วยแคน – โนนผักหวาน) เนื่องจากปัจจุบันประชาชนขยายที่พักอาศัยไปอยู่ในพื้นที่การเกษตรมากขึ้น หากมีไฟฟ้าเข้าถึงพื้นที่จะทำให้ประชาชนมีไฟฟ้าใช้ในการดำเนินชีวิต และนำมาใช้เพื่อการเกษตร ได้แก่ การสูบน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร
กรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการติดตั้งหม้อแปลงสำหรับขยายเขตไฟฟ้า โดยใช้งบลงทุนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปีงบประมาณ 2566
ผู้ร้องพอใจ
ลำดับที่ 9 เกษตรกรจำนวน 12 ครัวเรือน ถูกปิดกั้นเส้นทางเข้าออกพื้นที่ทำการเกษตรจาก ส.ป.ก. ประชาชนที่มีที่ดินอยู่ด้านในไม่สามารถเข้าออกพื้นที่เพื่อทำการเกษตรได้
กรณีดังกล่าว สปก.อยู่ในระหว่างการรวบรวมหลักฐาน ขณะนี้ได้มีการสำรวจแล้ว ผู้ปิดกั้นทางเข้าออกจะต้องคืนพื้นที่มาเพื่อนำมาเปิดเป็นทางเข้าออกต่อไป
ผู้ร้องพอใจ
ลำดับที่ 10 ประชาชนที่มีที่ดินอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติภูเก้า – ภูพานคำ ซึ่งมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม มีความประสงค์เอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน
สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองบัวลำภูอยู่ระหว่างการดำเนินการพิสูจน์แนวเขตพื้นที่ดังกล่าวชัดเจน เพื่อออกเอกสารสิทธิตามที่ประชาชนร้องขอและถ้าหากพิสูจน์แนวเขตได้ชัดเจน จะดำเนินการออกโฉนดให้ประชาชนที่ร้องขอต่อไป
ผู้ร้องพอใจ
ลำดับที่ 11 ต้องการทราบความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงการชลประทานระบบท่อ ณ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านตาดไฮ ตำบลโคกม่วง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู
สำนักงานโครงการชลประทานหนองบัวลำภู ชี้แจงว่า ได้บรรจุในแผนการรังวัดและจะจ่ายเงินชดเชยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ส่วนในปี 2567 จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโดยจะดำเนินการต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปี โดยใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท
ผู้ร้องพอใจ
ลำดับที่ 12 ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาซ่อมแซมถนนรอบอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านตาดไฮ ตำบลโคกม่วง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลาภู เป็นถนนที่เชื่อมต่อระหว่างตำบลโคกม่วงกับตำบลนิคมพัฒนา และใช้เพื่อการสัญจรและขนถ่ายสินค้าทางการเกษตร ซึ่งถนนมีสภาพเสียหายหลายจุด ทำให้ประชาชนสัญจรลำบาก แต่การซ่อมแซมทำได้ยากเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ของชลประทาน และติดพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
ขณะนี้จังหวัดได้รับการจัดสรรงบดำเนินการแล้ว ซึ่งพร้อมจะดำเนินการซ่อมแซมถนนรอบอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ผู้ร้องพอใจ
ลำดับที่ 13 ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุญาตให้มีการเข้าใช้พื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำห้วยบองอันเนื่องมาจากพระราชดาริ บ้านตาดไฮ ตำบลโคกม่วง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลาภู เพื่อพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่โดยขอให้มีการอนุญาตให้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้าและซุ้มอาหาร เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวในนามของท้องถิ่น และสร้างรายไดี
ที่ประชุม เสนอแนะให้องค์การบริหารส่วนตำบลโคกม่วง ดำเนินการยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่และประมาณการราคาก่อสร้างและแปลนก่อสร้าง เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างขออนุญาตการใช้พื้นที่ป่าไม้กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าขอให้ จัดทำเป็นโครงการร่วมกัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ร้องพอใจ
ลำดับที่ 14 ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตพื้นที่ตำบลนิคมพัฒนาและปัญหาที่ดินทำกิน โดยพื้นที่นิคมสร้างตนเองโนนสัง อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู มีปัญหาทับซ้อนระหว่างป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ และนิคมสร้างตนเอง ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในที่ดิน
จังหวัดหนองบัวลำภูรับจะไปดำเนินการ
ผู้ร้องพอใจ
ลำดับที่ 15 ต้องการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ได้แก่ การขุดลอกสระน้ำหรือคลองสาธารณะในชุมชนที่มีความตื้นเขิน การขุดเจาะบ่อ บาดาล และการสูบน้ำด้วยระบบพลังงานแสงอาทิตย์
กรณีดังกล่าวองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภูพร้อมจะให้การสนับสนุนด้านบุคลากรและอุปกรณ์ แต่ขอให้ประชาชนในพื้นที่ช่วยสนับสนุนงบประมาณเชื้อเพลิง จำนวน 5000 บาทในการขุดเจาะ
ผู้ร้องพอใจและมีงบประมาณค่าเชื้อเพลิง
นายสังศิต กล่าวก่อนเสร็จสิ้นการเสวนาว่า การแก้ปัญหาแต่ละกรณีมีระดับความเร็วแตกต่างกันไป ตามความยากง่ายของระเบียบและกฎหมายต่างๆ บางปัญหาแก้ได้ทันทีแต่บางปัญหาต้องใช้เวลาบ้าง อย่างไรก็ดีในวันนี้ เราได้เห็นทุกหน่วยงาน และข้าราชการทุกท่านพยายามหาทางแก้ปัญหา ให้กับประชาชน ที่ร้องขออย่างกระตือรือร้น
ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกอบจ.สามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทำให้การแก้ปัญหาในวันนี้มีความรวดเร็วมาก
ในนามของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภาใคร่ขอขอบคุณทุกๆ ท่านและทุกๆ หน่วยงานที่มาร่วมกันหารือและหาทางออกร่วมกันได้เป็นอย่างดีในวันนี้
ในท้ายที่สุด ประธานคณะกรรมาธิการได้ขอให้ ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านร่วมกันสร้างกลุ่ม LINE ขึ้น เพื่อที่จะติดตาม ความคืบหน้าในการแก้ปัญหา ทุกเรื่อง
สวัสดีครับ…จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
7 สิงหาคม 2565