นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยในงาน งานสัมมนา “สมุนไพรไทย สมุนไพรโลก : โอกาสทางเศรษฐกิจ” ในหัวข้อ โอกาสทางเศรษฐกิจ “สมุนไพรยุคโควิด พลิกชีวิตเกษตรกรไทย” ว่า นับว่าเป็นเวทีพลิกอนาคตของประเทศ เป็นเวทีของโอกาสประเทศไทย “ไทยฮับ ไทยเฮิร์บ” ประเทศไทยเป็นดินแดนสมุนไพร อาหารแห่งอนาคต (ฟิวเจอร์ ฟู้ดส์)
โดยเฉพาะแผนแม่บทในการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ภายใต้การขับเคลื่อน 4 ยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ เราจะต่อยอดในยุคที่จะต้องเผชิญกับโควิด ซึ่งโอกาสในวิกฤติจะเน้นย้ำในปี 2565 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายของแผนแม่บท ให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของโลกเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศในยุคโควิดและ “post COVID-19”
เมื่อพิจารณาโอกาส มูลค่าผลิตภัณฑ์ สมุนไพรและเครื่องเทศในตลาดโลก มูลค่าการค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพรและเครื่องเทศตลาดโลกประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น โดยในปี2564 คาดว่า ตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจะมีมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท เป็นตัวเลขที่เติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว จากได้รับอานิสงส์ โควิด-19
สำหรับตลาดโลกในเรื่องของ ตลาดกัญชาและกัญชง มีมูลค่าตลาด สำหรับประเทศไทย 660 ล้านดอลาร์สหรัฐ และในปี 2024 จะก้าวกระโดดไปเป็น 2.5 พันล้านดอลาร์สหรัฐฯ ขณะที่คาดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า ตลาดกัญชา และกัญชงโลกจะมีมูลค่ากว่า 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท มีตลาดหลักได้แก่ สหภาพยุโรป (อียู) 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, สหรัฐอเมริกา 37,000 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง 2 ตลาดนี้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 80% ของตลาดรวม ส่วนตลาดเอเชีย มีประมาณ 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับสัดส่วนการตลาด หรือ Market share จะอยู่ที่ อเมริกาเหนือ 40% ,สหภาพยุโรป หรือ อียู 31 % ซึ่งในอนาคตคาดว่าตลาดอียูจะแซงอเมริกาเหนือแน่นอน ขึ้นอยุ่กับจะมีการเปิดตลาดมากหรือน้อย หรือเปิดแบบเสรี อย่างน้อย มี 69 ประเทศ จาก 193 ประเทศทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วน 36% ของประเทศทั้งหมด อย่างไรก็ตามในตลาดกัญชา จะมี 5 ปัจจัยที่จะบ่งบอกว่าจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน คือ 1.เรื่องของกฎหมาย 2.การพัฒนาผลผลิตและผลิตภัณฑ์ 3.ตลาดทั้งในและต่างประเทศ 4.อาหารเพื่อคนและอาหารสัตว์ และ 5.เทคโนโลยีพันธุ์-การผลิต-แปรรูป-ตลาด
ในส่วนของประเทศไทยหลังจากรัฐบาลปัจจุบันได้ปลดล็อก “กัญชาและกัญชง”ทำให้เกิดกระแสกัญชากัญชงฟีเวอร์ ทำให้หลายบริษัทนำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม อาทิ อิชิตัน ส่ง “อิชิตัน กรีนแลป เดอะ แคนนาบิส คลับ” , NRF ผู้นำ Plant Based Meat ร่วมกับ บริษัท Golden Triangel ของทอม เครือโสภณ รุกตลาด หรือแม้กระทั่ง บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรีจ ากัด (มหาชน) หรือ STA เริ่มปลูกในจังหวัดน่าน สกลนครและชัยภูมิก่อน คาดว่าเดือนตุลาคม จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในรูปแบบเมล็ดและดอกเพื่อจำหน่ายในปี 2566 และตั้งโรงสกัดน้ำมัน CBD จากกัญชา
สำหรับในส่วนกระทรวงเกษตรฯ ภายใต้นโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศฮับสมุนไพรของประเทศไทย เช่น โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่โดยมีกลุ่มแปลงใหญ่พืชสมุนไพร จำนวนทั้งสิ้น 37 แปลง ใน 22 จังหวัด เกษตรกร 1,565 ราย รวมพื้นที่จำนวน 7,913 ไร่ ทำแมชชิ่งกับโรงพยาบาลใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เรียกว่า ผลิตที่ไหน แปรรูปที่นั้น
แปลงใหญ่ทีมีการจัดทำ MOU กับโรงพยาบาล
“Next move “ ก้าวใหม่ ปี2565 การปรับปรุงแผน ฉบับที่ 2 แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 – 2564 จะมีแนวทางส่งเสริม (Food & Feed) และ post COVID-19 plan เร่งขับเคลื่อนแผนพัฒนาภาคการเกษตรในระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง บน 5 คลัสเตอร์ทางการเกษตรได้แก่ คลัสเตอร์ผลไม้คลัสเตอร์ประมง คลัสเตอร์พืช คลัสเตอร์พืชสมุนไพร และคลัสเตอร์พืชมูลค่าสูง สอดรับกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่และยุคโควิด
นอกจากนี้พร้อมประกาศแผนขับเคลื่อนอาหารสัตว์สมุนไพรในงาน “Thailand International Health Expo 2022” ระหว่างวันที่ 20 – 23 มกราคม 2565 ในรูปแบบ HYBRID EXPO ในรูปแบบ Onsite และ Online โดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ตลาดตรงนี้มีความน่าสนใจ เราเป็นประเทศแรกในโลกได้เดินหน้าในเรื่องนี้ และเชื่อว่าฐานของโลก ในลำดับการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงจะทำให้เป้าหมายมีพลังมากทีเดียว และนี่เป็น “BIG MOVE” ที่ใหญ่ที่สุด