“…ในสถานการณ์วันดังกล่าว เป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทราบว่า แก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นนั้น เมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการ…”ปิดฉากคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองไปอีกหนึ่งคดี !
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษา ‘ยกฟ้อง’ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายความมั่นคง) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด และเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย กับพวกทั้ง 4 รายดังกล่าว กรณีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯเมื่อปี 2551 โดยมิชอบ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 6-7 ต.ค. 2551 กระทั่งเข้าสู่กระบวนการไต่สวนในชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการชี้มูลความผิด ส่งให้อัยการสูงสุด (อสส.) แต่ อสส. ไม่สั่งฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงฟ้องเอง กินเวลายาวนานเกือบ 9 ปี ผ่านมาถึง 3 รัฐบาล (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) กระทั่งศาลฎีกาฯมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยดังกล่าว (ใช้เวลาไต่สวนในศาลฎีกาฯประมาณ 1 ปีเศษ) ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องคือ การสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯดังกล่าว กระทำโดยมิชอบ และการใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง กระทั่งทำให้มีคนเสียชีวิต แต่คำพิพากษาจากศาลฎีกาฯที่ออกมากลับเป็นตรงกันข้าม เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีพยานฝ่ายใดยืนยันได้ว่า แก๊สน้ำตา สามารถสร้างความเสียหายรุนแรงถึงขนาดทำให้คนเสียชีวิตได้ เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจมากขึ้น
สำนักข่าวอิศราสรุปคำพิพากษาศาลฎีกาฯให้ทราบ ดังนี้ เบื้องต้นองค์คณะผู้พิพากษาได้นัดประชุมเพื่อจัดทำคำพิพากษากลาง จากคำวินิจฉัยส่วนตัวของผู้พิพากษา 9 ราย โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ หลังจากนั้นองค์คณะผู้พิพากษาบรรยายคำฟ้องของโจทก์อย่างละเอียด ไล่มาตั้งแต่เหตุการณ์ตอนกลางวัน ถึงตอนกลางคืน เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 หลังจากนั้นจึงพิเคราะห์ประเด็นสำคัญทางคดีอย่างน้อย 2 ประเด็นคือ หนึ่ง การสั่งสลายการชุมนุมดังกล่าวกระทำโดยชอบหรือไม่ สอง การใช้แก๊สน้ำตาดังกล่าวสร้างความเสียหายรุนแรงจนทำให้เกิดการเสียชีวิตได้หรือไม่ประเด็นแรก ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุการณ์ในช่วงเช้าเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 จำเลยทั้ง 4 ราย ร่วมกันสั่งการให้มีการเปิดทางเข้ารัฐสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญดังนั้นการที่กลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา โดยปิดล้อมประตูทางเข้าออกไว้ทุกด้านถือว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ และมิได้เป็นการชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) โดยใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักแล้ว เท่าที่จะทำได้ในสถานการณ์ขณะนั้น พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้ง 4 ราย ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ประเด็นที่สอง ภายหลังเกิดเหตุการณ์ในช่วงเช้าไปแล้ว พล.อ.ชวลิต ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ทำให้ฝ่ายโจทก์ขอให้ศาลฎีกาฯลงโทษเฉพาะจำเลยที่ 1, 3 และ 4 โดยเหตุการณ์ในช่วงค่ำกลุ่มผู้ชุมนุมได้กลับมาปิดล้อมรัฐสภาอีกครั้ง เป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และเจ้าหน้าที่รัฐสภา ไม่สามารถออกมาจากรัฐสภาได้ มีการปลุกระดมผู้ชุมนุม และจะบุกเข้ามาข้างในรัฐสภา จึงมิใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบ และเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อเปิดทางช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ในรัฐสภา เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามแผนกรกฎ/48 แล้ว มีการใช้มาตรการเบาไปหาหนัก ใช้รถกระจายเสียงเพื่อเตือนมวลชน แต่ไม่สามารถใช้รถฉีดน้ำเพื่อมาฉีดไล่มวลชนได้ เนื่องจากรถฉีดน้ำดังกล่าวติดอยู่ในรัฐสภา ทำให้ต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อช่วยเหลือดังกล่าว ทั้งนี้พยานฝ่ายโจทก์ เช่น พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เบิกความสรุปได้ว่า แก๊สน้ำตาของฝ่ายตำรวจ มีสารที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงได้ อย่างไรก็ดีพยานฝ่ายจำเลย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่หน่วยตรวจวัตถุระเบิด (EOD) หรือเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพาวุธทหารบก เบิกความยืนยันสรุปได้ว่า
แก๊สน้ำตาที่ใช้ในวันดังกล่าว เป็นแก๊สน้ำตาจากประเทศจีน ซึ่งมีสารที่ใช้ผลิตระเบิด C4 อยู่เพียงเล็กน้อย ดังนั้นจึงไม่เกิดอันตราย ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานฝ่ายโจทก์ และพยานฝ่ายจำเลย ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแก๊สน้ำตามีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับผลอันเกิดจากการใช้แก๊สน้ำตา จึงไม่อาจสรุปได้ว่า แก๊สน้ำตาจะทำให้เกิดเหตุผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ในสถานการณ์วันดังกล่าว เป็นการยากสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะทราบว่า แก๊สน้ำตาจะเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเช่นนั้น เมื่อเหตุการณ์ชุมนุมยังไม่สงบ เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ต้องปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของทางราชการในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ไม่อาจคาดเห็นได้ว่า แก๊สน้ำตาจะก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมได้ และข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1, 3 และ 4 มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กายและเสียชีวิต จำเลยที่ 1 และ 3 จึงไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยที่ 4 ไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด..พิพากษายกฟ้อง ภายหลังศาลฎีกาฯพิพากษาออกมาดังกล่าว
นายสมชาย พล.อ.ชวลิต พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ หันมาสวมกอดกันด้วยสีหน้าดีใจ และนายสมชายให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนขอบคุณศาลฎีกาฯที่มีคำพิพากษาดังกล่าว ปิดฉากคดีประวัติศาสตร์ที่ดำเนินการมาอย่างยาวนาน 9 ปี มีทั้งกระบวนการต่อสู้ทั้งในชั้นศาลฎีกาฯ และความพยายามของนายสมชายกับพวกนอกศาลฎีกาฯ ทั้งการขอให้พนักงานอัยการมาเป็นทนายแก้ต่างให้ แต่ศาลฎีกาฯไม่อนุญาต ทั้งการยื่นพยานหลักฐานใหม่ให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ถอนฟ้อง แต่ท้ายสุดก็ไม่ได้ถอน รวมถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาฯว่า อาจไม่ได้ทำอย่างเต็มที่ ? ทั้งนี้ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 คดีในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถอุทธรณ์ได้อีก ท้ายสุดฝ่าย ป.ป.ช. จะอุทธรณ์หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
สำนักข่าววิหคนิวส์