“…การอนุญาตให้ บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ใช้ที่ดินสาธารณะห้วยเม็ก …เกิดขึ้นเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2559 ตามข้อมูลในใบอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เลขที่ 3/2559 จัดทำขึ้นที่ ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ลงนามโดย นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในฐานะผู้อนุญาต ในขณะนั้น (ปัจจุบัน นายกำธร เสียชีวิตแล้ว) ระบุว่า เพื่อประกอบกิจการในที่ดินของรัฐ แปลงห้วยเม็กสาธารณประโยชน์ เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา กำหนดระยะเวลาตามใบอนุญาตเป็นเวลา 5 ปี สิ้นสุด วันที่ 10 ก.ค.2564…”
อิศรา – ”เพิ่งรู้เหมือนกันว่าเป็นบริษัทในเครือกระทิงแดง ได้ถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยแล้ว ก็ไม่รู้เรื่องนี้ เพราะเป็นการทำงานปกติ เริ่มมาจากท้องถิ่น อำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดเสนอขึ้นมา เพื่อขอใช้พื้นที่ดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ไม่มีข้อมูลแนบท้ายมาให้พิจารณาว่ากรณีดังกล่าวมีปัญหาหรือไม่ และไม่รู้ว่าเป็นลูกหลานใคร ดังนั้นอย่าเอามาเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกัน กระทรวงมหาดไทยกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่”
“มีกี่คนที่ร้องเรียนมา และทำประชาพิจารณ์เท่าไหร่ กว่า 16 ล้านเสียง จะร้องเรียนกี่คนเดี๋ยวกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบอยู่ แต่ไม่ใช่ว่ามีข่าวอย่างนี้ออกมา แล้วทั้งหมดจะล้มเหลว ประชาพิจารณ์ไม่ถูกต้อง ทำงานอย่างนี้ก็ตายเหมือนกัน ต้องไปดูใครผิดใครถูก ถ้าผิดจริงก็ตัดคนเหล่านี้ออกไป ไม่ใช่ว่าถูกสวมสิทธิทั้งหมดเมื่อไหร่ คิดแบบนี้ ไม่เช่นนั้นทำงานไม่ได้”
คือ คำยืนยันล่าสุด ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อกรณีสภาองค์กรชุมชน ตำบลบ้านดง ล่าลายชื่อทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อขอคัดค้านการที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนามในคำสั่งอนุมัติให้ บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ใช้ที่ดินสาธารณะห้วยเม็ก ในเขตหมู่ 6 ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อขยายโรงงานประกอบกิจการเครื่องดื่ม
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงว่า ตามหลักเกณฑ์การขอใช้พื้นที่สาธารณะสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน เอกชน หรือหน่วยงานราชการ แต่หากทำผิดเงื่อนไขเพิกถอนได้ทันที แต่กรณีนี้ยืนยันว่าทำถูกต้องทั้งหมด ถ้าไม่เป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมาย เจ้าหน้าที่ส่วนใดดำเนินการต้องรับโทษทั้งสิ้น
“จากการตรวจสอบน่าจะจริงตามที่ประชาชนแสดงความไม่เห็นด้วย แต่เอกสารกรมที่ดินยืนยันว่า ไม่มีเอกสารที่ไม่เกี่ยวกับความไม่เห็นด้วยของประชาชน วันนี้รองอธิบดีกรมที่ดินได้ตรวจสอบข้อมูลว่า ทำไมถึงไม่มีเอกสารที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ดังนั้นต้องตรวจสอบทั้งหมด ตั้งแต่ระดับจังหวัด รวมถึงคณะกรรมการทั้งหมดได้รู้เรื่องนี้หรือไม่”
“ผมยืนยันว่าถ้าคนไม่เห็นด้วยแม้แต่คนเดียวก็ไม่ให้แล้ว เพราะมันเป็นที่สาธารณะร่วมกัน ทำไมถึงไม่มีเอกสารมา ก็ต้องตรวจสอบทั้งหมด เมื่อยืนยันได้ว่ามีประชาชนไม่เห็นด้วย จะดำเนินการเพิกถอนคำสั่งทันที เมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อน ก็มีเหตุให้ยกเลิกคำสั่ง และต้องหาคนทำผิดให้ได้ แปลกเหมือนกันจังหวัดไม่ได้ใหญ่โต แต่ทำไมคนไม่เห็นด้วยนั้นมี แต่เอกสารที่ส่งขึ้นมาบอกว่าประชาชนเห็นด้วยเป็นเอกฉันท์ เป็นเรื่องหนึ่งที่สงสัย เอกสารร้องเรียนไม่มีขึ้นมา”
“ให้ผู้เกี่ยวข้องลงไปหาข้อเท็จจริงอยู่ แต่การอนุมัติเป็นไปตามกฎหมาย เป็นคำสั่งทางปกครอง การยกเลิกต้องอยู่บนกฎหมาย เช่น ตรวจสอบแล้วมีคนได้รับผลกระทบยืนยัน เป็นต้น แต่ตนทำไม่ถึง 90 วัน สั่งไปภายใน 15 วัน ต้องเสร็จ ถ้าทราบว่ามีการใช้เอกสารไม่ครบส่งขึ้นมา จะเพิกถอนเลย”
ไม่ว่าผลการตรวจสอบกรณีนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร
แต่ล่าสุดได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในจังหวัดขอนแก่นว่า การอนุญาตให้ บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ใช้ที่ดินสาธารณะห้วยเม็ก ในเขตหมู่ 6 ตำบลบ้านดง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อขยายโรงงานประกอบกิจการเครื่องดื่มดังกล่าว เกิดขึ้นเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2559 ตามข้อมูลในใบอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เลขที่ 3/2559 จัดทำขึ้นที่ ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ระหว่าง บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ในฐานะผู้ได้รับการอนุญาต กับจังหวัดขอนแก่น ลงนามโดย นายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ในฐานะผู้อนุญาต ในขณะนั้น (ปัจจุบัน นายกำธร เสียชีวิตแล้ว)
ทั้งนี้ ในใบอนุญาตดังกล่าว ระบุว่า เพื่อประกอบกิจการในที่ดินของรัฐ แปลงห้วยเม็กสาธารณประโยชน์
เนื้อที่ประมาณ 31 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา
กำหนดระยะเวลาตามใบอนุญาตเป็นเวลา 5 ปี สิ้นสุด วันที่ 10 ก.ค.2564 (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่ข้อมูลในฝั่งของชาวบ้าน ยืนยันว่า
1. พื้นที่บริเวณนั้น เป็นพื้นที่ป่าสาธารณะ ควรเป็นพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
2. การอนุมัติของกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เป็นการดำเนินการตามระเบียบมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 ของประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2543 ข้อ 22 (2) โดยให้เหตผลว่าที่แปลงสาธารณะประโยชน์แปลงดังกล่าว “..ปัจจุบันมีสภาพแห้งแล้งไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ราษฎรไม่ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันแล้ว และไม่ได้เป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูฝนแต่อย่างใด..” และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ราษฎรในพื้นที่ สภา อบต. พิจารณาแล้วเห็นควรอนุมัติกับได้มีการประกาศการขออนุญาตใช้ที่ดินแล้ว “ไม่มีผู้ใด” คัดค้าน
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยืนยันว่าพื้นที่บริเวณนี้ไม่ได้มีลักษณะเป็นสภาพแห้งแล้ง ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามที่ระบุ
เพราะป่าห้วยเม็กเป็นที่ที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้เป็นป่าของชุมชน กำหนดกติกาการใช้ประโยชน์ เก็บหาของป่า อยู่ในเขตหมู่บ้านหนองแต้ ม. 6 ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เป็นทางน้ำผ่านตามธรรมชาติ เชื่อมกับห้วยทรายไปลงน้ำพอง ห่างจากสปริงเวย์ของเขื่อนอุบลรัตน์ประมาณ 1 กิโลเมตร
นอกจากนี้ ชาวบ้านยังระบุด้วยว่า เป็นการอนุญาตเกินกำหนดในระเบียบ มท.เกี่ยวกับการใช้ที่ นสล. ข้อ 23 (3) ที่ในแต่ละจังหวัดอนุญาตให้ได้รายละไม่เกิน 10 ไร่ เว้นมีเหตุสมควร ซึ่งหนังสือ มท. ให้เหตุผลว่า “…ที่สาธารณะห้วยเม็กอยู่กึ่งกลางในเขตประกอบการอุตสาหกรรมของบริษัทฯ และบริษัทฯ มีความจำเป็นต้องขยายกิจการและก่อสร้างอาคารโรงงานเพื่อประกอบการอุตสาหกรรม..”
และยังมีข้อมูลระบุว่า บริษัทได้เข้าไปซื้อที่ดินบริเวณโดยรอบป่าชุมชุนตั้งแต่ช่วงปี 2555 ก่อนจะมาขอใช้ที่ดินเพื่อขยายโรงงานช่วงปี 2558 แต่ก็ถูกชาวบ้านคัดค้านมาโดยตลอด ซึ่งเป็นเรื่องคาราคาซังเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลจาก เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน)
ขณะที่ข้อมูลในฝั่งของจังหวัดขอนแก่น ล่าสุด นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์สำนักข่าวอิศรา ยืนยันว่า
1. เท่าที่ตรวจสอบข้อมูลพบว่าการทำเรื่องขออนุมัติใช้ที่ดินดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอน
2. ส่วนการออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวบ้าน ที่ผ่านมามีการร้องเรียนเข้ามาที่จังหวัดอยู่ตลอด จังหวัดก็รับเรื่องมาตรวจสอบทุกครั้ง แต่มีข้อมูลหลายส่วนของชาวบ้านมีลักษณะคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงเอาพื้นที่คนละส่วนมาปะปนกัน จนทำให้เกิดความสับสน ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดอยู่ระหว่างการเรียกดูเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร หากพบว่ามีเอกสารที่ถูกปลอมแปลงจะมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
พร้อมระบุว่า “ที่ชาวบ้านออกมาบอกว่าคัดค้านไม่เอาด้วย มีกี่คนกี่กลุ่ม เพราะในหลักการการทำประชาคม ถ้าชาวบ้านเสียงส่วนใหญ่กว่า 90% เห็นด้วย มากกว่าชาวบ้านเสียงส่วนน้อยที่มีประมาณ 10% จากนั้นคนเสียงส่วนน้อยก็ออกมาบอกว่าไม่เอาด้วยกับเสียงคนส่วนใหญ่ แบบนี้มันเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่”
หากเปรียบเทียบข้อมูลทั้งสองฝั่งจะพบว่า มีความแตกต่างกันใน 2 ประเด็น หลัก คือ
1. กระบวนขั้นตอนการทำเรื่องขออนุญาต สภาพพื้นที่จริงๆ ของป่าสาธารณะแปลงนี้ รวมถึงขนาด เข้าเงื่อนไขตามระเบียบและความจำเป็นในการขออนุญาตหรือไม่
2. การทำกระบวนการประชาคมของชาวบ้านในพื้นที่ มีความถูกต้อง ตามหลักวิธีการปฏิบัติหรือไม่ สถานะของชาวบ้าน ที่ลงนามสนับสนุนเป็นใครมาจากไหน? มีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่? มีเหตุผลปัจจัยอะไรที่ทำให้ต้องสนับสนุนไม่คัดค้าน
ทั้ง 2 ประเด็นนี้ ถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่ง ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบทำความจริงให้กระจ่างชัด เพื่อจะได้รับรู้รับทราบว่า ข้อมูลของชาวบ้าน หรือหน่วยงานรัฐ ใครเป็นฝ่ายผิดฝ่ายถูกกันแน่?
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ ข้อกล่าวอ้างที่ว่า บริษัทฯ ได้เข้าไปซื้อที่ดินบริเวณโดยรอบป่าชุมชุนตั้งแต่ช่วงปี 2555 ก่อนจะมาขอใช้ที่ดินเพื่อขยายโรงงานช่วงปี 2558
เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่สะท้อนให้เห็นพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ ต่อกรณีนี้ ว่าเป็นอย่างไรกันแน่?
ดังนั้น เพื่อความเป็นธรรมแก่บริษัทฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงประเด็นนี้ เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาเรื่องนี้อีกส่วนหนึ่งด้วย
ขณะที่ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่บริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลในส่วนของตัวเลขอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนของบริษัทที่แจ้งไว้ต่อกรมพัฒนาธุรกิจ มีลักษณะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปี 2554 แจ้งว่า มีสินทรัพย์ อุปกรณ์ – สุทธิ 2,317,504.46 บาท
ปี 2555 แจ้งว่า มีอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน 63,734,738.90 บาท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ อุปกรณ์ 1,813,991.64 บาท
ปี 2556 แจ้งว่า มีอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน 188,494,425.55 บาท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ อุปกรณ์ 1,962,172.23 บาท
ปี 2557 แจ้งว่า มีอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน 209,240,116.79 บาท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ อุปกรณ์ 1,600,560.32 บาท
ปี 2558 แจ้งว่า มีอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน 219,213,914.81 บาท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ – สุทธิ 916,862.11 บาท
ปี 2559 แจ้งว่า มีอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน 248,616,942.54 บาท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ – สุทธิ 428,938.53 บาท
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนของบริษัทฯ ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวอ้างที่ว่าบริษัทฯ ได้เข้าไปซื้อที่ดินบริเวณโดยรอบป่าชุมชุนตั้งแต่ช่วงปี 2555 ด้วยหรือไม่
แต่ข้อมูลที่ตรวจสอบพบ ก็พอจะชี้ให้เห็นถึงแนวทางและแนวโน้มการทำธุรกิจของบริษัทฯ ได้ชัดเจนในระดับหนึ่ง
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา ประมวลมาให้สาธารณชนได้รับทราบ เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เพื่อทำความจริงให้กระจ่างชัด
ภายใต้จุดยืนเดิม คือ หากกระบวนการขั้นตอนมีปัญหาในทางปฏิบัติเกิดขึ้นจริง ก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องหาทางแก้ไขปัญหาโดยด่วน คือ ยกเลิกคำสั่งอนุมัติการใช้ที่ดิน เพื่อคืนพื้นที่สาธารณะดังกล่าว กลับไปให้ชาวบ้านซึ่งถือเป็นคนกลุ่มใหญ่ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่เคยเป็นมาในอดีต
และหากปรากฎหลักฐานชัด ว่าในขั้นตอนการปฏิบัติงาน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ ให้กับเอกชน ก็สมควรที่จะต้องถูกลงโทษทางวินัยกฎหมาย เพื่อหยุดยั่งไม่ให้ปัญหารูปแบบนี้ ขยายตัวไปยังจุดอื่นได้อีก (หรือจริงๆ ทำอยู่ปกติแล้วในหลายพื้นที่ เพียงแต่ยังไม่ถูกเปิดเผยเป็นข่าวออกมา)
แต่ถ้าหากผลการตรวจสอบพบว่า กระบวนการขออนุญาตใช้ที่ดินดังกล่าว เป็นไปด้วยความโปร่งใส ทำถูกต้องตามขั้นตอน ชี้แจงข้อเท็จจริงทุกอย่างได้ชัดเจน
บริษัทฯ ก็สมควรที่จะได้รับสิทธิในการใช้ประโยชน์ที่ดินรัฐ ในการประกอบกิจการ เช่นกัน!
สำนักข่าววิหคนิวส์