เรือเหาะ พลันที่ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.เปิดข้อมูลเรื่องการยุติการใช้ “เรือเหาะตรวจการณ์” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้เหตุผลว่าตัวเรือเหาะส่วนที่เป็น “บอลลูน”หมดอายุการใช้งานแล้วส่วน “กล้องตรวจการณ์” ยังสามารถใช้งานได้ เตรียมนำไปติดกับอากาศยานอื่นฯลฯ.เสียงวิจารณ์ก็ดังกระหึ่มขึ้นมาทันที!.เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าโครงการจัดซื้อ “เรือเหาะ” เป็นหนึ่งในโครงการอื้อฉาวของกองทัพบก และอาจเรียกได้ว่าเป็น “มรดกบาป” ที่ ผบ.ทบ.
แต่ละคนต้องรับช่วงต่อๆ กันมา ถึงขั้นมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ช่วงการจัดซื้อและพบปัญหาใหม่ๆ ต้องมี “สัญญาใจ” หากจะขึ้นตำแหน่งสำคัญ “ต้องเคลียร์เรือเหาะให้พี่ด้วย” เรือเหาะของกองทัพบกนี้ มีชื่อสุดเท่ว่า “สกายดรากอน” จัดซื้อจากบริษัทผู้ผลิตในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2552 ในยุคที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ.ข้อมูลจำเพาะของเรือเหาะลำนี้ คือรุ่น Aeros 40D S/N 21 (SKY DRAGON) ผลิตโดยบริษัท Worldwide Aeros Corp. ประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดกว้าง 34.8 ฟุต (10.61 เมตร) ยาว 155.34 ฟุต (47.35 เมตร) สูง 48/3 ฟุต (13.35 เมตร) ความจุฮีเลี่ยม 100,032 ลูกบาศก์ฟุต (2,833 ลูกบาศก์เมตร) ระยะความสูงที่สามารถปฏิบัติงานได้ 0 -10,000 ฟุต (0-3,084 เมตร) ระยะความสูงปฏิบัติการ 3,000-5,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด 88 กิโลเมตรต่อชั่วโมงความเร็วเดินทาง 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เครื่องยนต์ 2 คูณ 125 HP 4-Cylinder, Continental IO-240 B ความจุเชื้อเพลิง 76 แกลลอน (300 ลิตร) บินได้นาน 6 ชั่วโมงเกณฑ์การสิ้นเปลือง ณ ความเร็วสูงสุด 50 ลิตรต่อชั่วโมง
ระยะทางที่บินได้ไกลสุด ณ ความเร็วสูงสุด 560 กิโลเมตร ชนิดเชื้อเพลิงที่ใช้ 100 LL Grade Aviation Fuel ความจุห้องโดยสาร 4 นาย(นักบิน 2 นาย ช่างกล้อง 1 นาย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 1 นาย) กองทัพบก (ทบ.)โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)ในฐานะที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ใช้งบประมาณ ได้จัดซื้อ “ระบบเรือเหาะตรวจการณ์” ด้วยวิธีพิเศษ ใช้งบประมาณสูงถึง 350 ล้านบาทราคาจัดซื้อแยกเป็น ตัวเรือบอลลูน ราคา 260 ล้านบาท กล้องตรวจการณ์ที่ใช้งานได้ทั้งกลางวันและกลางคืน ราคาประมาณ 70 ล้านบาทและอุปกรณ์สื่อสารกับภาคอื่นอีก 20 ล้านบาท
เป้าหมายสวยหรูของการจัดซื้อ คือหวังให้เป็น”ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศ” ที่ทรงประสิทธิภาพ เพราะมีกล้องตรวจการณ์ที่ใช้งานได้ทั้งมืดและสว่าง สมกับเป็น Eyes in the sky หรือ “ดวงตาบนฟากฟ้า” อย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี ช่วงที่มีการจัดซื้อ มีเสียงทักท้วงว่า ระบบเฝ้าตรวจแบบ “เรือเหาะ” เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ชายแดนใต้หรือไม่ เพราะ “ระบบเรือเหาะ”ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในสมรภูมิทะเลทราย เพราะมีทัศนวิสัยกว้างไกล มองเห็นเป้าหมายหรือศัตรูได้ง่าย แต่พื้นที่ชายแดนใต้มีแต่ป่าเขา และฝนตกชุก ไม่น่าจะเหมาะกับ “ระบบเรือเหาะ” ผู้ที่ออกมาวิจารณ์มีอดีตนายทหารระดับสูงหลายนายรวมอยู่ด้วย เช่น พล.อ.หาญ ลีนานนท์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษากองทัพไทย
ที่ออกโรงตำหนิอย่างรุนแรงว่า เรือเหาะที่ซื้อมาถือว่าไร้ประโยชน์ในทางยุทธการ ไม่เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่เป็นป่าเขาอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกยิงตกด้วยทว่าเสียงท้วงติงเหล่านั้นก็ถูกตีค่าเป็นเพียง “เสียงนกเสียงกา” มิอาจทำให้ผู้มีอำนาจในขณะนั้นเงี่ยหูฟังอย่างตั้งใจได้…เรือเหาะ “สกายดรากอน” ถูกส่งมอบถึงประเทศไทยเมื่อเดือน มิ.ย.53 ปรากฏว่ามีปัญหาเรื่องการตรวจรับ เพราะเจอ “รูรั่ว” และไม่สามารถนำขึ้นบินได้ในระยะความสูงตามสเปค คือ 10,000 ฟิต (ราว 3 กิโลเมตร) แต่บินจริงได้ในระยะเพดานบินแค่ 3,000 ฟิต (หรือราว 1 กิโลเมตร) เท่านั้น ที่ผ่านมากองทัพบกเคยมีความพยายามส่งซ่อม และเปลี่ยนผ้าใบหลายครั้ง
แต่ก็ไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ต้องการ ความไม่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาของเรือเหาะ หนำซ้ำยังพัง (รั่ว)ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มใช้งาน ทำให้มีเสียงนินทาจากบางฝ่ายว่า เป็นการซื้อ “สินค้ามือสอง” มาย้อมแมวหรือไม่ เพราะเรือเหาะของ บริษัทแอร์ชิป เอเซีย ที่นำเข้าและจดทะเบียนก่อนที่กองทัพจะจัดซื้อ รวมทั้งมีขนาดใกล้เคียงกับเรือเหาะ “สกาย ดรากอน” นั้น มีราคาเพียง 30-35 ล้านบาทเท่านั้นเองแต่เรือเหาะของกองทัพบกเฉพาะตัวบอลลูนอ้างว่ามีราคาสูงถึง 260 ล้านบาทความสิ้นเปลืองยังไม่จบเพราะเมื่อมีเรือเหาะ ก็ต้องมี “โรงจอด” ปรากฏว่ามีการสร้าง “โรงจอดเรือเหาะ”
ไว้ในกองพลทหารราบที่ 15 อ.หนองจิก จ.ปัตตานี การก่อสร้างส่วนนี้ไม่ทราบราคาที่แน่ชัดทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเรื่องการเติม “ฮีเลี่ยม” หรือก๊าซที่ใช้สำหรับบอลลูนอุปกรณ์สำคัญของเรือเหาะด้วย ยิ่งไปกว่านั้น เรือเหาะยังเคยประสบอุบัติเหตุตกอย่างน้อยๆ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก วันที่ 13 ธ.ค.55 เรือเหาะประสบอุบัติเหตุขณะร่อนลงจอดที่โรงเก็บเรือเหาะ หลังเสร็จภารกิจลาดตระเวนทางอากาศเพื่อรักษาความปลอดภัยให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจที่ จ.ปัตตานีโดยมีรายงานว่านักบินไม่สามารถควบคุมเรือเหาะได้ ทำให้เรือเหาะไถลไปกับพื้นรันเวย์
จนทำให้ตัวเครื่องได้รับความเสียหายกว่า 50% ครั้งที่สอง วันที่ 5 ก.ย.57 เรือเหาะต้องร่อนลงฉุกเฉินระหว่างทดลองบิน บริเวณบ้านต้นทุเรียน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ซึ่งมีสภาพเป็นทุ่งนาโดยกองทัพชี้แจงในภายหลังว่าเป็นเพราะระบบ “คันบังคับ” ขัดข้องนี่คือปัญหาการใช้เรือเหาะที่ผ่านมาซึ่งกลายเป็นกระแสวิจารณ์อย่างมากจนชาวบ้านในพื้นที่เรียกกันว่า”เรือเหี่ยว” ไม่ใช่ “เรือเหาะ”ถือเป็นหนึ่งในโครงการอื้อฉาวของกองทัพบกพอๆกับการจัดซื้อเครื่องตรวจระเบิดเก๊ จีที 200 ที่มีสภาพไม่ต่างอะไรกับ”ไม้ล้างป่าช้า” หมดงบไปกว่า1พันล้านบาทโครงการนี้หลายคนเรียกว่าเป็น “มรดกบาป” ของกองทัพกันเลยทีเดียวและที่ผ่านมาก็มีความพยายามเรียกร้องให้องค์กรอิสระเข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสในการจัดซื้อเหมือนกับเครื่องตรวจระเบิดเก๊จีที 200 แต่ตลอดมาก็ไม่เคยมีการตรวจสอบใดๆกระทั่งล่าสุดต้องยุติการใช้โดยสูญงบประมาณไปถึง 350 ล้านบาท
ที่มา อิศรา
สำนักข่าววิหคนิวส์