ออ Soth Yun ยังเป็นสาว เธอใช้เวลาหลายปีเก็บซ่อนความรักของเธอไว้ ไม่กล้าเปิดเผยให้ใครรับรู้
ณ ตอนนั้นคือปี 1970 กัมพูชาตกอยู่ภายใต้การปกครองของเขมรแดง พรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องการพากัมพูชากลับไปสู่สังคมเกษตรกรรม ท่ามกลางชีวิตที่แร้นแค้น อาหาร และยารักษาโรคกลายเป็นสิ่งหายาก ผู้คนต้องทำงานอย่างหนักและใครก็ตามที่ขัดคำสั่งของรัฐบาลนั่นเท่ากับพวกเขากำลังเขียนใบมรณกรรมให้ตัวเอง
ภายใต้การปกครองของเขมรแดง ความสัมพันธ์ที่ปราศจากการแต่งงาน ซึ่งอนุมัติโดยรัฐบาล ถือว่าเป็นความผิด เพราะเป็นความสัมพันธุ์ที่มีถูกมองว่ามีจุดประสงค์เพื่อเซ็กส์ และสำหรับ Yun ความรักของเธอสวนทางกับจุดประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการผลิตประชากรเพิ่มอย่างสิ้นเชิง นั่นเป็นเพราะเธอตกหลุมรักหญิงสาวอีกคนหนึ่งเข้า
ช่วงปี 1975 – 1979 ที่เขมรแดงเรืองอำนาจ มีชาวกัมพูชาราว 1.7 ล้านคนเสียชีวิตจากความอดอยาก การทำงานหนักเกินไป หรือการถูกสังหาร หรือคิดเป็น 13 – 30% ของชาวกัมพูชาที่เสียชีวิตจากน้ำมือของเขมรแดง
ในช่วงเวลานั้นรัฐบาลได้ทำการแบ่งแยกประชากรออกเป็นกลุ่มๆตามเพศ และอายุ สมาชิกครอบครัวถูกพรากออกจากกัน และแทบไม่มีโอกาสได้พบหน้ากันอีกเลย แต่นั่นก็เป็นเหตุให้ Yun และ Houy Eang ได้พบกัน
สังคมที่แบ่งแยกเพศ
“เราทำงานในกลุ่มเดียวกัน ในหน้าที่ขุดคลอง แล้ววันหนึ่งเธอล้มป่วย ฉันช่วยเหลือเธอ และเธอเองก็ใจดีกับฉันเอามากๆ” Yun ในวัย 61 ปี เล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น
ช่วงเวลาที่เธอและ Eang คนรัก พบกันในปี 1973 ขณะนั้นทั้งคู่อาศัยอยู่ในจังหวัดตาแก้ว หนึ่งในพื้นที่แรกที่ถูกเขมรแดงยึดครอง Yun เองไม่เคยกล่าวถึงความรู้สึกตนเอง จนกระทั่ง เมื่อEang ถูกย้ายไปทำงานยังที่อื่น “ฉันเฝ้ารอให้เธอกลับมา” Yun กล่าว และอีก 5 ปีต่อมา ก่อนที่เขมรแดงจะล่มสลายลง เมื่อ Eang กลับมา Yun ตัดสินใจสารภาพความในใจ
ทุกวันนี้เวลาผ่านไป 44 ปี นับตั้งแต่ทั้งคู่พบกันครั้งแรก คู่รักคู่นี้ยังคงอาศัยอยู่ด้วยกัน ในหมู่บ้าน Sdok Prey หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ในจังหวัดตาแก้ว ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงพนมเปญ และใช้เวลาในการเดินทางมาถึงเพียง 2 ชั่วโมง
เรื่องราวความรักของทั้งคู่ไม่ใช่เรื่องแปลก ยังมีหญิงสาวคนอื่นๆอีกมากที่พบรัก ท่ามกลางสังคมที่ยังคงกีดกัน และมีอคติทางเพศ อย่างไรก็ตามแม้จะรอดตายจากเขมรแดงมาได้ พวกเธอยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคอื่นๆอีก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือทัศนคติในสังคม ในกัมพูชาการที่ผู้หญิง 2 คนที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวอาศัยอยู่ด้วยกัน ไม่ใช่เรื่องปกติ
“หลายๆสิ่งเปลี่ยนแปลง แต่สังคมยังคงไม่ยอมรับเรา” Yun กล่าว “ยังไงครอบครัวก็ต้องการให้ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชาย”
เมื่อถามว่าทั้งคู่ผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้อย่างไร Yun ระบุว่า ความสัมพันธ์แบบหญิง-หญิง หรือที่หลายคนเรียกกันว่าเลสเบี้ยนนี้เป็นอะไรที่เสถียรภาพมากกว่าคู่อื่นๆ และพวกเธอเองก็ผ่านเรื่องร้ายๆด้วยกันมามาก ฉะนั้นแล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นทั้งสองก็ยังยืนหยัดที่จะอยู่เคียงข้างกัน ในขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะช่วยเหลือคู่รักเลสเบี้ยนคู่อื่นๆให้ได้รับการยอมรับ
ความรักที่เป็นความลับภายใต้เงาเขมรแดง
ในปี 2011 รายงานจากศูนย์เอกสารแห่งชาติกัมพูชา ในหัวข้อ “รอยแผลเป็นที่ซ่อนเอาไว้ของกัมพูชา” (Cambodia’s Hidden Scars) ได้ทำการสำรวจเรื่องราวของผู้รอดชีวิตจากเขมรแดง และบาดแผลที่เกิดขึ้นในจิตใจของพวกเขา
จากรายงานระบุว่า เขมรแดงได้ทำลายวัฒนธรรมครอบครัวของกัมพูชาไป ช่วงเวลาภายใต้การปกครอง เด็กๆถูกพรากออกจากครอบครัว และถูกส่งไปยังค่ายพักรวมกัน พวกเขาถูกปลูกฝังให้รัก และส่งเสริมรัฐมากกว่าครอบครัว และเพื่อน
ชาย และหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานจะถูกแยกออกจากกัน ภายใต้การควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในบางครั้งพวกเขาจะเลือกจับคู่บางคน และอนุญาตให้เกิดการแต่งงานขึ้นได้
“ในสังคมที่กีดกันเรื่องเพศ ผู้หญิงคนใดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันเกินไปจะถูกมองว่าไม่น่าไว้วางใจ” รายงานจาก Theresa de Langis รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยอเมริกัน ในกรุงพนมเปญกล่าว ซึ่งเธอเป็นผู้รวบรวมเรื่องราวจากบรรดาผู้รอดชีวิตจากเขมรแดง
“เมื่อฉันบอกกับการ์ดเขมรแดงว่าฉันตกหลุมรักผู้หญิงคนหนึ่ง พวกเขาคิดว่าฉันกำลังพูดเรื่องตลก” Noy Sitha หญิงชาวกัมพูชาอีกคน ผู้ใช้ชีวิตร่วมกับ Hong Saroeum คู่รักมานานกล่าว
“เขาบอกว่าถ้าฉันมีลูกได้ ฉันจะมีตำแหน่งที่ดีในฐานะเจ้าหน้าที่ของเขมรแดง” เธอกล่าว แต่แล้วในที่สุดเธอก็ได้อาศัยอยู่ในบ้านพักหลังเดียวกันกับ Saroeum เพราะการ์ดเขมรแดงคิดว่าทั้งคู่เป็นแค่เพื่อนกัน
หญิงสาวทั้ง 2 พบกันในปี 1975 “เธอเป็นคนสนุกสนาน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมฉันถึงสนใจเธอ” Sitha กล่าวถึงความทรงจำในตอนนั้น ที่งานขุดคลองอันแสนเหนื่อยหน่าย ไม่อาจลบเลือนรอยยิ้มของ Saroeum ได้ และหลังจากนั้นความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว
อ.สาริต พรหมนรา สำนักข่าววิหคนิวส์พัทลุง รายงาน