สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เสนอว่า ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และคณะอนุกรรมาธิการด้านต่างๆ ว่า ยังมีการตั้งงบประมาณซ้ำซ้อนกันในหลายหน่วยงาน เนื่องจากขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบประมาณรายจ่ายประจำยังคงมีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายลงทุน
ดังนั้น ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ ขอให้รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแผนงานบูรณาการต่างๆ ให้ความสำคัญกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่า ไม่ซ้ำซ้อน และมีการบูรณาการกันอย่างจริงจัง
สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำ ขอให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐพิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ งบประมาณด้านการฝึกอบรมและดูงาน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเช่ายานพาหนะ และให้ใช้การส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์หรือการจัดประชุมผ่านระบบออนไลน์ให้มากขึ้น
รวมทั้งการลดการบรรจุอัตรากำลังใหม่ โดยให้มีเฉพาะที่จำเป็นตามกรอบอัตรากำลัง ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำงบประมาณในส่วนที่ปรับลดนี้ไปจัดสรรเป็นงบประมาณรายจ่ายลงทุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดย ครม.ได้พิจารณาแล้วลงมติเห็นชอบตามที่นายเศรษฐาเสนอ
นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติเห็นชอบตามที่ นายเศรษฐา เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดกระบวนการพิจารณาอนุมัติ อนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กรณีเอกชนของต่างประเทศจะเข้ามาร่วมลงทุนประกอบการอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ในประเทศไทย ให้แล้วเสร็จโดยเร็วตามนัยมติ ครม. เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2567
ก่อนหน้านี้ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2567 เรื่อง การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปรับปรุงข้อกฎหมายและกฎระเบียบ รวมทั้งกระบวนการขอใบอนุญาตต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจให้แล้วเสร็จและเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว