ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสข้อความระบุว่า
อุดมการณ์และแนวทางการก่อตั้ง
“พรรคสังคมธรรมาธิปไตย”
เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย
หลักการและความสำคัญ
สืบเนื่องจากสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความผิดหวังให้แก่สาธารณชน ความเสียหายต่อประเทศชาติ และความขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่ฝั่งรากลึกในสังคมไทยมาอย่างนาน โดยนับวันยิ่งทวีความรุนแรงและขยายผลในมุมกว้างที่ยากจะเยียวยาได้ นำมาสู่ ความถดถอยของประชาธิปไตย อันส่งผลกระทบต่อประชาชนพลเมือง ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมอย่างมีแก่นสาร ทั้งๆ ที่ประชาชนพลเมืองเป็นเจ้าของประเทศ และอำนาจอธิปไตยทั้งปวง
ดังนั้น ด้วยสถานการณ์การเมืองไทยที่ไม่สามารถหาทางออกให้กับประชาชนพลเมืองได้ จึงนำมาสู่ความจำเป็นที่จะต้องมี “พรรคทางเลือกที่สาม (The Third Way Party)”
พรรคมวลชนที่เป็น “พรรคทางเลือกที่สาม” ระหว่างฝ่ายรัฐราชการอำนาจนิยม และฝ่ายเผด็จการรัฐสภาโดยนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง ควรมีทัศนะและท่าทีต่อ “การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง” ที่ชัดเจน คือ ทิศทางกระจายอำนาจ ต่อต้านการผูกขาด
เพิ่มการมีส่วนร่วม และเพิ่มอำนาจประชาชน เป็นพรรคเชิงอุดมการณ์แบบสายกลาง ที่เน้นภาคปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม มีเหตุมีผล มองแบบบูรณาการ วิเคราะห์ปัญหาอย่างจำแนกแยกแยะ ไม่ตีขลุมเหมารวม ไม่ซ้ายตกขอบ ไม่ขวาสุดโต่ง สามารถเลือกใช้เครื่องมือ/วิธีคิดแบบซ้ายและขวา ที่เหมาะสมกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทย และสามารถสร้างประโยชน์สุขให้กับประเทศชาติและประชาชนได้
คุณลักษณะพรรค
เป็นพรรคการเมืองของประชาชนที่มุ่ง ปฏิรูปเชิงโครงสร้างประเทศไทย เพื่อลด “ความเหลื่อมล้ำ” และสร้าง “ความเป็นธรรมทางสังคม” และจรรโลงชาติบ้านเมืองให้เป็น “สังคมธรรมาธิปไตย” หรือ “ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรมและธรรมาภิบาล” เพื่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง
– เป็นพรรคมวลชน (mass party)
– เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนพลเมืองและสมาชิกพรรคอย่างแท้จริง
– เชื่อมโยงกลุ่มประชาชนและกลุ่มปัญหาที่หลากหลาย
– ทำงานทั้งในสภา และนอกสภา เป็นพรรคที่เคลื่อนไหว ไม่ใช่เน้นแต่เลือกตั้ง
– เป็นพรรคที่เน้นภาคปฏิบัติการ ไม่ใช่ซ้ายตกขอบ หรือ ไม่ขวาสุดโต่ง
อุดมการณ์พรรค
– เป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
– มุ่งสร้างความเป็นธรรมในสังคมทุกมิติ
– ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพภายใต้ความรับผิดชอบ
– การปฏิรูปประเทศทุกด้านบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนพลเมือง
โดยมุ่งสู่สังคมธรรมาธิปไตย
1. เป็นสังคมที่กำกับด้วยหลัก “ธรรม” หรือ ศีลธรรม (Guided by Morality) และดำเนินการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล (Good Governance)
2. เป็นสังคมที่เสริมสร้างความเข้มแข็งของการเป็นพลเมืองเจ้าของประเทศ ด้วยองค์ความรู้ ความเข้าใจ และทักษะของการเป็นพลเมืองที่รู้เท่ากัน และคิดเป็นแยกแยะเป็น
3. เป็นสังคมที่รักษาและพัฒนาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้มีคุณภาพและยั่งยืน (Environmental Quality)
4. เป็นสังคมที่เสริมสร้างความยุติธรรมในสังคม (Social Justices) ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนต่างๆ ยกระดับให้เสมอเหมือนกันทั้งพื้นที่ และกลุ่มคนโดยไม่มีถิ่นฐานใดและกลุ่มผู้คนใดตกหล่น หรือถูกทอดทิ้ง (Social Equalization)
5. เป็นสังคมที่มีการกระจายอำนาจ
อย่างแท้จริงและเป็นธรรม
6. เป็นสังคมที่ปราศจากความกลัวและการบิดเบือนข้อเท็จจริง
อุดมการณ์พรรคสังคมธรรมาธิปไตย
จะสร้างสรรค์สังคม การเมือง เศรษฐกิจ ดังนี้
1.มิติด้านสังคม = สังคมสวัสดิการเพื่อความเป็นธรรมและยั่งยืน (productive walfare)
2.มิติด้านการเมือง = เป็นการเมืองธรรมาธิปไตย ที่กำกับด้วยคุณธรรม ศีลธรรมและธรรมาภิบาล
3.มิติด้านเศรษฐกิจ = เป็นเศรษฐกิจเสรีและเป็นธรรม ลดการผูกขาด มุ่งแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ
ภารกิจเร่งด่วน ภารกิจในระยะกลาง และภารกิจในระยะยาว
ภารกิจเร่งด่วน
– เร่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน
– แก้ไข ยกเลิกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และการผูกขาดทางเศรษฐกิจ
– ส่งเสริมผลักดันให้เกิดความสมานฉันท์ ปรองดองของประชาชนในชาติ โดยใช้กระบวนการยุติธรรมและหลักนิติรัฐ
ภารกิจในระยะกลาง (2-3 ปี)
– เสนอ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เป็นรัฐธรรมนูญที่รองรับหลักการธรรมาธิปไตยทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง
ภารกิจในระยะยาว
– แสวงหา “แนวทางใหม่” ที่เหมาะสมกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมไทยที่ก้าวข้ามแนวทางลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต่อสู้กับปัญหาสภาวะโลกร้อนและปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลง
ยกตัวอย่างเช่น “ลูกผสมระหว่าง หลักปรัชญาธรรมาธิปไตย/ระบอบสังคมธรรมาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข + แนวคิดเรื่องทุนนิยมก้าวหน้า (progressive capitalism) ที่เสนอโดย นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่าง Joseph E. Stiglitz”
นโยบายหลัก
– เศรษฐกิจเสรีและเป็นธรรม
– กำจัดการผูกขาดทุกรูปแบบ
– ขยายโอกาส และทำลายอุปสรรคที่ขัดขวางการประกอบอาชีพของประชาชน
– อำนาจประชาธิปไตยทางตรงของประชาชน เพื่อการตรวจสอบและเสนอกฎหมาย
– ปฏิรูปการเมือง: ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจด้วยการกระจายอำนาจ การบริหาร การปกครองสู่ท้องถิ่น
– ปฏิรูปสังคม: ขยายสวัสดิการสังคม โดยเฉพาะการศึกษาและสาธารณสุข
– พรรคทันสมัย ใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการสร้างงานและขยายฐานมวลชน
– ฯลฯ