11 มี.ค.2565- นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หัวข้อ [ ถึงเวลาหรือยัง “เจตจำนงการเมือง” นิรโทษคดี ม.112? – หวังฝ่าย “รอยัลลิสต์” ออกมาเตือนสติสังคมก่อนจะสาย! ] มีเนื้อหาดังนี้
.
ในรายการ “เอาปากกามาวง” ตอนล่าสุด ได้พูดถึงเรื่องสำคัญหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นั่นก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” หรือ “ป.อาญา ม.112” หรือที่วันนี้เรามักจะเรียกกันสั้นๆ แต่เข้าใจตรงกันว่า “ม.112”
.
มี 3 กรณีของบุคคลที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหา และ 1 กรณีของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ที่ชัดเจนว่าเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งได้ออกมาเตือนสติสังคมเรื่องการใช้กฎหมายมาตรานี้
.
แม้จะพูดไปในรายการแล้ว แต่เห็นว่ามีบางช่วงบางตอนซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่อยากจะชี้ให้เห็น จึงขอนำมาบอกกล่าวเป็นข้อเขียนตรงนี้อีกครั้งแบบสรุปรวบยอด ดังนี้
.
เริ่มที่ 3 กรณี ของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องกลายเป็นผู้ต้องหาคดี ม.112
.
***กรณีแอดมินเพจ ‘กูKult’ ต้องไม่ตีความรวม “วัตถุสิ่งของ”***
.
กรณีแรก คือกรณีของ นรินทร์ กุลพงศธร แอดมินเพจ ‘กูKult’ ซึ่งไปติดสติกเกอร์บนพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563
.
มีเรื่องที่อยากชวนคิดหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการพิจารณาในศาล ที่จากรายงานของไอลอร์พบว่า ในการสืบพยานมีการแนะนำ แนะแนวเรื่องของการยอมรับผิด ลดโทษต่างๆ กับทางผู้ต้องหา, เรื่องการไม่บันทึกการถามค้านของพยานถึง 5 ประเด็น โดยหนึ่งในนั้นก็คือคำถามเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการทำลายพระบรมสาทิสลักษณ์ว่าเป็นความผิดทางไหน ทำลายทรัพย์สินราชการ หรือเข้าข่ายผิด ป.อาญา ม.112
.
รวมถึงการตัดพยานผู้เชี่ยวชาญของจำเลยออก โดยศาลให้เหตุผลว่าสามารถพิจารณาได้เอง จนทำให้ในที่สุด คดีนี้ก็มีคำพิพากษาออกมาอย่างรวดเร็วมาก และน่าจะเป็นคดี ม.112 คดีแรกที่เกิดจากการชุมนุม ในช่วงปี 2563-2564 ที่ศาลพิพากษาแล้วว่ามีความผิด ซึ่งจำเลยเตรียมที่จะอุทธรณ์ต่อไป
.
สิ่งที่อยากชวนพิจารณาคือว่า ในคำอธิบายกฎหมายอาญา ของปรมาจารย์ของผู้พิพากษาทั้งหลายอย่าง ศ.หยุด แสงอุทัย และ ศ.จิตติ ติงศภัทิย์ เขียนตำราระบุคำอธิบายในรายมาตรา 112 โดยอธิบายความหมายของคำว่าหมิ่นประมาทและดูหมิ่น โดยที่คำว่า “หมิ่นประมาท” ก็ให้ไปดูแบบ ม.326 คือให้เป็นแบบหมิ่นประมาทคนธรรมดา, หรือคำว่า “ดูหมิ่น” ก็ให้ตีความคำว่าดูหมิ่น เหมือน ม.134, ม.136, ม.393 เรื่องดูหมิ่นคนธรรมดา เช่นกัน
.
ตำรากฎหมายของปรมาจารย์ทั้งสองท่านระบุชัดว่า คำว่า “หมิ่นประมาท” กับ “ดูหมิ่น” ที่ปรากฏอยู่ใน ป.อาญา ม.112 ใช้นิยามเดียวกับคนธรรมดา คือต้องกระทำต่อตัวบุคคล จะขยายความกว่านี้ไม่ได้ ยิ่งฎหมายอาญานั้น การตีความต้องเคร่งครัด
.
แต่จากกรณีของคุณนรินทร์ เป็นที่น่าสังเกตว่า คำว่า “หมิ่นประมาท” กับ “ดูหมิ่น” นั้น มีแนวโน้มของศาลที่จะขยับไปถึงเรื่องวัตถุสิ่งของด้วย
.
***วอนศาลพิจารณาอนุญาต ให้ “รวิสรา” ได้ไปเรียนต่อ***
.
ต่อมา คือกรณีของรวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในจำเลยของคดี ม.112 จากการชุนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อ 26 ตุลาคม 2563 ซึ่งเธอเป็นคนอ่านแถลงการเป็นภาษาเยอรมัน โดยต่อมาเธอสอบได้ทุนจาก ศูนย์บริการการแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) ของรัฐบาลเยอรมัน แต่ติดปัญหาคือ ติดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
.
แม้เคยมีคำร้องขออนุญาตศาลมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ศาลไม่อนุญาต และล่าสุด ศาลอาญากรุงเทพใต้ก็ยกคำร้องอีกเช่นเคย โดยอธิบายว่า ศาลเห็นว่าจำเลยยังไม่ผ่านการคัดเลือกว่าจะได้รับทุนหรือไม่ ทั้งเงื่อนไขที่จำเลยเสนอมาว่าหากได้รับอนุญาต จำเลยยินดีจะไปรายงานตัวและแสดงที่อยู่ต่อสถานทูตหรือสถานกงศุลไทยในประเทศเยอรมัน ทุกๆ 30 วัน โดยขอให้อาจารย์ที่ปรึษาและบิดาเป็นผู้กำกับให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข แต่บุคคลทั้ง 2 อยู่ในประเทศไทย แต่จำเลยอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการยากที่จะกำกับให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จึงไม่เป็นการหนักแน่นเพียงพอ ที่จะแสดงให้เห็นว่า จำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยเคร่งครัด
.
ทั้งที่ เอกสาร หลักฐานที่ใช้ยื่นคำร้องต่อศาลชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นจดหมายเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย เอกสารรับทุน DAAD แต่ก็ถูกพิจารณาด้วยว่า เพราะว่าการไปอยู่ต่างประเทศดูแลได้ยากที่จะกำกับให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกันตัว
.
นี่คืออนาคตของเยาวชนคนหนึ่ง อนาคตของคนที่จะได้ไปศึกษาหาความรู้ นำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์กลับมาพัฒนาประเทศไทย
.
อยากให้ศาลพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพราะจากประสบการณ์ คนที่ไปเรียนต่างประเทศ ส่วนใหญ่แล้วเวลาปิดภาคการศึกษาก็อยากกลับมาเยี่ยมครอบครัว มาเยี่ยมบ้าน คงไม่มีใครอยู่ดีๆ แล้วอยากหนีคดี
.
***ใช้ ม.112 เพื่อหยุด ยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ไปไกล***
.
อีกกรณีของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่โดน ม.112 คือ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” นักกิจกรรมที่พยายามเข้าใกล้ขบวนเสร็จเมื่อ 6 มีนาคม แต่ปรากฏว่าถูกตำรวจอุ้มออกไป และต่อมามีการไลฟ์สด พูดบรรยายอะไรต่างๆ จนสุดท้ายโดนเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหา ความผิด ม.112
.
เรื่องนี้มีปัญหาในการคิดและการตีความของเจ้าหน้าที่อย่างมาก เพราะเวลาเราบอกว่าใครพูดอะไรหมิ่น ดูหมิ่นใครนั้น ต้องดูเจตนาของคนพูด แต่ตอนนี้ปรากฏว่าเราไปดูเจตนาเจ้าหน้าที่เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือศาล โดยคนที่พูดคุณอาจรู้สึกว่าพูดแบบนี้ไม่ได้หมิ่น หรือแม้แต่บางครั้ง ผู้ที่ถูกเอ่ยถึง อาจไม่ได้รู้สึกว่าถูกดูหมิ่นด้วยซ้ำ แต่เจ้าหน้าที่กลับคิดเอาเอง อธิบายความเอาเอง จินตนาการเอาเองว่าเป็นดูหมิ่น หมิ่นประมาทไปเสียหมด
.
และนี่เป็นปัญาหาในภาพใหญ่ของการใช้บังคับใช้ ม.112 ในรอบปี 2563 – 2565 กับเยาวชนคนหนุ่มสาว กว่า 100 คดี!
.
เพราะความเห็นเยาวชนคนหนุ่มสาวเห็นเป็นแบบหนึ่ง ขณะที่คนที่มีทัศนคติแบบอนุรักษ์นิยม บรรดาเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจรัฐในกระบวนการยุติธรรมก็มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งคนพวกหลังที่เป็นผู้ใหญ่และอาวุโสกว่า เมื่อทนไม่ไหวต่อการกระทำของเยาวชนคนหนุ่มสาว ก็เลือกที่จะใช้ ม.112 จัดการให้หยุด
.
ปัญหาคือ วิธีคิดเยาวชนคนหนุ่มสาวเขาคิดแบบนี้ไปแล้ว ถ้าอยากให้เข้าใจ อยากให้คิดแบบที่ผู้ใหญ่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมคิด เชื่ออย่างที่ผู้ใหญ่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเชื่อ การใช้กฎหมายแบบนี้เรื่อยๆ ไม่เป็นประโยชน์แน่ๆ หรือฝ่ายผู้มีอำนาจมองว่าต้องวัดกำลังกัน เพราะอย่างไรเยาวชนคนหนุ่มสาวก็สู้ไม่ได้หรอกเพราะไม่มีอำนาจ ไม่มีเครื่องมือรัฐ อย่างนั้นเหรอ? ทำไมไม่หาวิธีการพูดจากัน ซึ่งการพูดจากกันจะเกิดขึ้นได้ก็ตต้องหยุดใช้ ม.112 เสียก่อนด้วย
.
คดีเกี่ยวกับ ม.112 เยอะขนาดนี้ ในท้ายที่สุดแล้วเราอาจต้องแก้ปัญหากันด้วย “เจตจำนงในทางการเมือง” ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะคุยกันเรื่อง การออกกฎหมายนิรโทษกรมคดีเหล่านี้ให้กับเยาวชนคนหนุ่มสาว
.
ไม่มีประโยชน์ที่จะดำเนินคดีแบบนี้ต่อไป เพราะมีแต่จะสร้างความแตกแยก ร้าวฉาน สร้างความไม่เข้าอกเข้าใจกันระหว่างรุ่นต่อไปเรื่อยๆ ไม่เป็นผลดีต่อใคร รวมถึงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย
.
*** “อานันท์” กับ ม.112 ถึงเวลาฝ่ายอนุรักษ์นิยมออกมาเตือนสติสังคม***
.
อีกกรณีที่เกี่ยวกับ ม.112 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือความเห็นของ อานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์ในหัวข้อ “บทเรียน 30 ปี เหตุการณ์พฤษภา 2535” และมีตอนหนึ่งพูดเกี่ยวกับการที่รัฐบังคับใช้ ม.112 กับคนรุ่นใหม่ และเห็นว่ามีปัญหาต้องแก้ไข
.
แน่นอนว่าความเห็นของอดีตนายกรัฐมนตรีมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และคนที่ไม่เห็นด้วยก็อาจจะมีทั้งฝ่ายเก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยฝ่ายที่มีความคิดก้าวหน้าอาจจะบอกว่า ความเห็นแบบนี้เบาเกินไป เพราะ ม.112 ไม่ได้มีปัญหาแค่ตัวบท จะแก้ไขเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้ อาจต้องยกเลิกไปเลย หรืออาจเห็นว่าพูดน้อยเกินไป เพราะไม่ได้พูดประเด็นปัญหาใจกลางอย่างเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
.
ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่เห็นด้วย อาจจะเห็นว่า อดีตนายกรัฐมนตรีพูดแบบนี้ได้อย่างไร เป็นผู้ใหญ่เสียเปล่า ให้ท้ายเด็กมาแก้ ม.112
.
แต่ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม นี่เป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะคุณอานันท์เป็นผู้หลักผู้ใหญ่บ้านเมือง เป็นอดีตนายรัฐมนตรี และเป็น “รอยัลลิสต์” อย่างชัดเจน ดังนั้น ถ้าวันใดก็ตามเริ่มมีความเห็นของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ชนชั้นนำ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ออกมาพูดลักษณะนี้ ก็นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี โดยด้านหนึ่งก็เป็นการเตือนสติฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกัน เตือนสติผู้มีอำนาจด้วยกันว่า ทำแบบนี้ไม่ถูก ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือ เพื่อหาวิธีว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ระหว่างความคิดของสองรุ่นที่ไม่เหมือนกัน
.
สำหรับเนื้อหาในการให้สัมภาษณ์ของคุณอานันท์ แน่นอนว่ามีหลายส่วนที่ไม่เห็นด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไหร่มีคนฝ่ายรอยัลลิสต์ ผู้อาวุโส ออกมาพูดถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ ม.112 เกี่ยวกับความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างคนรุ่นใหม่กับผู้มีอำนาจปัจจุบัน อย่างน้อยก็เป็นการเริ่ม “เปิดประตู” สู่การแก้ปัญหา ซึ่งโดยรายละเอียดแล้วสามารถถกเถียงกันได้ ต่อไป
.
อยากให้ฝ่ายรอยัลลิสต์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีอยู่มากมายที่เห็นประเด็นปัญหาการใช้ “ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112” ออกมาพูดกันให้มากขึ้น
.
เพราะเชื่อว่าถ้ามีเสียงเหล่านี้ออกมา สังคมจะได้พิจารณาร่วมกันว่า แม้แต่คนที่เป็นรอยัลลิสต์ แม้แต่คนที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ยังเห็นปัญหาของการใช้ ม.112 ช่วยออกมาเตือนสติกันและกัน ช่วยออกมาเตือนสติสังคมกันให้มากขึ้นว่า….
.
การใช้มาตรา 112 แบบที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ไม่ได้เกิดประโยชน์กับใครเลย!
.