จากกรณีชายคนหนึ่งที่เรียกตนเองเป็น “คนเสื้อแดง” บุกชกต่อยและทำร้ายร่างกายนายศรีสุวรรณ จรรยา ที่กำลังยื่นหนังสือร้องเรียนกรณ๊ “เดี่ยว 13” ตอนนี้ ฝ่ายการเมืองต่าง ๆ เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ทั้งมองว่าเป็นแค่ “การสั่งสอน” และประกาศไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง
ล่าสุด ช่วงบ่ายวันนี้ (19 ต.ค.) ตำรวจกองปราบได้เข้าจับกุมนายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล คู่กรณี ศรีสุวรรณ จากหมายจับคดีเก่า กรณีทำร้ายร่างกาย “แรมโบ้อีสาน” หรือ เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหมายจับเก่าของศาลแขวงดุสิต เมื่อปี 2564 และยังไม่ถอนหมายจับ
การเข้าจับกุมเกิดขึ้น บริเวณใต้อาคารมาลีนนท์ ที่ตั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ย่านพระราม 4 ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำตัวเข้ามาสอบปากคำยังกองบังคับการปราบปราม ซึ่งเมื่อสอบปากคำเสร็จสิ้น จะนำตัวไป สน.ดุสิต ต่อไป
ย้อนเหตุทำร้ายศรีสุวรรณ
วานนี้ (18 ต.ค.) ชายระบุว่าตนเองเป็นแนวร่วมคนเสื้อแดงบุกเข้าทำร้ายนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ขณะเข้ายื่นหนังสือร้องเรียน โน้ต-อุดม แต้พานิช กรณี “เดี่ยว 13” โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 10.20 น. ระหว่างที่นายศรีสุวรรณ กำลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน หน้ากองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท.
หลังให้สัมภาษณ์ได้เพียง 6 นาที ชายคนหนึ่งได้ผลักสื่อมวลชน และแหวกวงล้อมสื่อเข้าไปต่อยหน้านายศรีสุวรรณ จนเกิดเป็นเหตุชุลมุน ทะเลาะวิวาท ชก ต่อย เตะ ซึ่งนายศรีสุวรรณพยายามกอดรัดและสู้กลับ กลางการถ่ายทอดสดต่อของสำนักข่าวหลายแห่ง
ผู้ก่อเหตุประกาศตัวว่าชื่อ วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล อายุ 62 ปี และอ้างว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง และตั้งใจมา “ตบหน้า” นายศรีสุวรรณในครั้งนี้
“มาตบนักร้อง มันต้องร้องในสิ่งที่ควรจะร้อง ไม่ควรเห็นต่างจนเกินไป” นายวีรวิชญ์ กล่าวกับสื่อมวลชน หลังก่อเหตุ
เหตุชุลมุนเกิดขึ้นราว 1 นาทีก่อนสงบลง โดยผู้เห็นเหตุการณ์และเจ้าหน้าที่พยายามเข้าควบคุมสถานการณ์ จนท้ายสุด นายศรีสุวรรณได้เดินเข้าไปภายใน บก.ปอท. เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน โน้ต-อุดม แต้พานิช กรณีเนื้อหาใน “เดี่ยว 13” สนับสนุนการชุมนุมต่อไป
ด้านนายวีรวิชญ์ชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุครั้งนี้ว่า “นายนี้เป็นนักร้อง ดังกว่านักร้องลูกทุ่ง มันเกินไป ผมตั้งใจแบบนี้จริง ๆ”
“ศรีสุวรรณบอกว่า ใครชุมนุมแจ้งจับหมด ผมเลยตั้งใจมาตบเพื่อสั่งสอน… ตำรวจที่สนิทกับผม ก็ฝากผมมาตบด้วย” นายวีรวิชญ์กล่าวอ้าง พร้อมประกาศว่า พร้อมถูกดำเนินคดี ฐานทำร้ายร่างกาย และกล่าวขอโทษ บก.ปอท. ที่มาก่อเหตุหน้าอาคารสำนักงาน
เสรีพิสุทธ์บอก “แค่สั่งสอน”
พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะที่เคยถูกนายนายศรีสุวรรณ จรรยา ร้องเรียน กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่นายศรีสุวรรณไปร้องผู้อื่นในกรณีต่าง ๆ แม้กระทั่งตนก็เคยถูกร้อง มองว่าเป็นเพราะนายศรีสุวรรณ อยากเด่น อยากดัง อยากเป็นข่าว แต่หากลงรายละเอียดจากการที่นายศรีสุวรรณไปร้องกรณีต่าง ๆ พบว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์ ที่รับเงินมาทั้งหมดไม่เคยเข้าสมาคมแม้แต่ครั้งเดียว “นายศรีสุวรรณ เขาเคยพูดเองว่าไปร้องคดีโน้น คดีนี้ ก็ได้เงินมาทั้งสิ้นนะครับ แล้วเขาคิดว่าการยื่นร้องก็นับเป็นคดีแล้ว มันไม่ใช่ คดีมันต้องทำแบบตำรวจสอบสวน มีพยานหลักฐาน ฟ้องไม่ฟ้อง ไอนี่ไปยื่นบอกคดีเสร็จแล้ว” พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าว พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ กล่าวด้วยว่า การที่นายศรีสุวรรณ ยื่นร้องเรียน ไม่ใช่เรื่องที่ผิด ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ายื่นผิด ยื่นพลาด ยื่นร้องเท็จก็ถูกดำเนินคดีต่อไป “บางคนอาจจะไม่คิดอะไร แต่บางคนคิดและอยากสั่งสอนบ้าง จึงอาจเกิดเหตุการณ์ชกต่อยกันขึ้น”
ทั้งนี้ การวัดถึงความรุนแรง สำหรับตน การชกไม่ใช่ความรุนแรงเป็นการสั่งสอน แต่ถ้าใช้ความรุนแรงคือใช้มีด ใช้ไม้ ใช้ปืน และอื่น ๆ แต่ในกรณีนี้ตนเห็นแล้วว่าคนกระทำสูงอายุแล้วอีกทั้งชกไม่เป็น “การสั่งสอนก็คืออย่างที่เห็น ก็มาชกเขา สังคมก็ไม่เข้าใจ บางทีก็ว่าเอ๊ะ เราไม่ควรใช้ความรุนแรงกัน มาตรฐานอยู่ตรงไหน ความรุนแรงคืออะไร สำหรับผมมันก็แค่ชกเนี่ย ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แค่เป็นการสั่งสอน แต่ถ้ารุนแรงก็หมายความว่าเอามีด เอาไม้ เอาปืน เอาอะไรต่างๆ มาล่อเลย มาตรฐานคนไม่เหมือนกัน ผมก็ไม่ไปว่า คนโน้น คนนี้ พูดผิดพูดถูกหรอก”
พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ระบุต่อว่า ตนเองก็เคย “สั่งสอน” นายศรีสุวรรณด้วยการใช้กฎหมาย การฟ้องคือฟ้องด้วยอาญา และแพ่ง พร้อมทั้งเสนอยุบสมาคม เพื่อหยุดการยื่นร้องเรียนไปเรื่อยของนายศรีสุวรรณ แต่คนอื่นอาจจะมีการหยุดนายศรีสุวรรณที่แตกต่างจากตน เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการยื่นยุบสมาคมของนายศรีสุวรรณ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ค้างอยู่ที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ตนเห็นว่าตนเป็นคนยื่นยุบเอง จึงไม่อยากเข้าไปสอดแทรกการทำงาน หากเป็นผู้อื่นยื่น ตนอาจเชิญเข้ามาสอบถามในกรรมาธิการแล้วว่าสาเหตุใดถึงล่าช้า จนกระทั่งเปลี่ยนอธิบดีกรมการปกครองมาแล้ว ความจริงสามารถตรวจสอบได้ไม่ยากเลย ถ้าทำงานจริง
ส่วนที่ในโลกออนไลน์ถูกใจกับการที่นายศรีสุวรรณถูกชก พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ ระบุว่า สังคมเป็นแบบนี้ ก็ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ในระบอบประชาธิปไตย “เขาอาจจะชกผิดคนก็ได้ คนที่ควรจะให้ชกมีอยู่ในทำเนียบ ถ้าเขาชกคนนั้น รับรองคนไทยยิ่งสรรเสริญ” พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์
ต้องเพิ่มองครักษ์ ?
ณ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ถูกทำต่อยทำร้ายร่างกายระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยกังวลว่า จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่ว่า “อย่าไปใช้ความรุนแรงเลยนะ” เมื่อถามว่า หลังนี้จำเป็นต้องเพิ่มการรักษาความปลอดภัยของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รวมถึงรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ระหว่างการลงพื้นที่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว ก่อนเดินขึ้นตึกบัญชาการทันที
การร้องครั้งนี้ของศรีสุวรรณ
หลังเกิดเหตุ นายศรีสุวรรณ จรรยา เดินหน้าขอให้ บก.ปอท ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามครรลองของกฎหมาย กรณีมีบุคคลโชว์เดี่ยวไมโครโฟน 13 ซึ่งเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีการใช้ถ้อยคำ บางคำพูดอันอาจมีลักษณะส่งเสริมให้บุคคลร่วมชุมนุมสาธารณะที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจขัดต่อความมั่นคงของรัฐและหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ประกอบ พรบ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ บทพูดของการโชว์เดี่ยวไมโครโฟนดังกล่าว มีบางคำพูด อาทิ “วันนี้รถติดเยอะหน่อย มีม็อบไล่คนที่เราอยากจะไล่เขา ก็ให้อภัยเขาไปนะครับ ถือว่าเขาทำงานแทนเรา” นั้น จะสื่อความหมายไปอย่างอื่นมิได้ นอกเสียจากการพูดเพื่อที่จะสื่อหรือโฆษณาให้ผู้ฟังหรือผู้ชม ได้เข้าใจตรงกันว่า มีเจตนาหรือจงใจที่จะให้ทุกคนที่รับฟังและรับชมให้อภัยกลุ่มผู้ที่ออกมาชุมนุมสาธารณะที่เกิดขึ้นหลายๆครั้งเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั่น “ทำงานแทนเรา” นั่นเอง
การชุมนุมเหล่านั้นล้วนผิดกฎหมาย ฝ่าฝืนข้อกำหนดใน ม.9 แห่ง พรก.ฉุกเฉิน 2548 และมีการสอดไส้การชุมนุมเป็นเรื่องการยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา 112 และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มิใช่การชุมนุมเพื่อขับไล่ผู้นำรัฐบาลแต่อย่างใดไม่
กรณีดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่อย่างใด หากแต่อาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความผิดต่อแผ่นดิน อาจกระทบต่อความมั่นคง และอาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.84 ม.85 และหรือ ม.87 ประกอบ ม.14 แห่งพรบ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นด้วย และหรือต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้วยเหตุดังกล่าว นายศรีสุวรรณ ระบุว่า สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงต้องนำความพร้อมพยานหลักฐานมาแจ้งต่อ บก.ปอท. ให้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบ สอบสวน กรณีดังกล่าวว่าเข้าข่ายความผิดอาญาต่อแผ่นดินหรือไม่ หากพบว่าเป็นความผิดให้ดำเนินการตามครรลองของกฎหมายต่อไป
“ประชาธิปไตยคือการลงไม้ลงมือ ?”
ต่อมาในช่วงบ่าย นายศรีสุวรรณ เดินทางไป สน.พหลโยธิน เพื่อแจ้งความกรณีถูกทำร้ายร่างกายในวันนี้ โดยแจ้งความในข้อหาทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา 295 เพื่อดำเนินการฟ้องศาลต่อไป แต่ยืนยันว่า จะไม่ยอมความเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด
“เมื่อกล้าทำร้ายร่างกายบุคคลอื่น ก็ต้องกล้าจะรับผิดชอบ ตามครรลองของกฎหมาย” ศรีสุวรรณ กล่าว
“ความเห็นทางการเมืองจะขัดแย้งอย่างไร มันทำได้ แต่ไม่ควรลงไม้ลงมือกันอย่างนี้ ปากว่ารักประชาธิปไตย แต่สุดท้ายก็ต้องมาลงไม้ลงมือ เขาเรียกว่าย้อนแย้งต่อคำพูดและกลุ่มของตนเอง สังคมไทยก็คงจะประณามบุกคนประเภท”
นายศรีสุวรรณ ยอมรับว่า วิตกที่ความรุนแรงที่ตนเองเผชิญ จะเป็นแบบอย่างให้เกิดกรณีคล้ายกันกับบุคคลอื่นที่เป็น “นักร้อง” เหมือนตนเอง และเตือนว่า จากนี้ จะต้องมีเพื่อนหรือคนคอยรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้น แต่ยืนกรานจะเดินหน้าทำหน้าที่ของตนเองต่อไป
“เป็นบทเรียนส่วนตัวของผมด้วย ต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ไปไหนมาไหนก็ ต้องมีเพื่อนฝูง มีคนมาดูแลรักษาความปลอดภัยมากขึ้น แต่จะไม่หยุดยั้ง”
ผู้ก่อเหตุคือใคร
นายวีรวิชญ์ ชื่อเล่นคือ ศักดิ์ มีอาชีพเป็นดีไซเนอร์ และอดีตผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ปัจจุบัน อายุ 62 ปี
ตามข้อมูลของศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เขาถุกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ จากการเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
การชุมนุมครั้งนี้ ต่อมามีผู้ถูกดำเนินคดีรวมทั้งหมด 14 ราย ซึ่งพนักงานอัยการได้ทยอยสั่งฟ้องจำเลยแยกสำนวนคดีเป็นรายบุคคล โดยไม่ได้พิจารณาร่วมเป็นคดีเดียวกัน ต่อมา ศาลแขวงดุสิตได้ทยอยมีคำพิพากษายกฟ้องคดีไปแล้ว 5 รายด้วยกัน ได้แก่ คดีของภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, อานันท์ ลุ่มจันทร์, ไพศาล จันปาน วสันต์ กล่ำถาวร และสุวรรณา ตาลเหล็ก
สำหรับคดีของวีรวิชญ์ เขาถูกอัยการฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 คดีมีการสืบพยานจนเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 20-21 เม.ย. 2565 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษา และยกฟ้อง
หลังศาลพิพากษายกฟ้อง วีรวิชญ์เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ประกอบอาชีพเป็นดีไซเนอร์ ทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าและส่งออกไปยังต่างประเทศ ด้านการเงินถือว่ามีฐานะมั่นคง แต่เมื่อประเทศเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การบริหารภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่สามารถจัดการกับโรคระบาดโควิด-19 ได้ดีเท่าที่ควรเป็น และไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาดีดังเดิมได้ จากการบริหารงานที่ล้มเหลวดังกล่าวทำให้ธุรกิจส่วนตัวของเขาได้รับผลกระทบขนาดหนัก ถึงขนาดกับถูกฟ้องล้มละลาย โดยประเมินเป็นความเสียหายมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
อดีตคนเสื้อแดงที่ออกมาต่อสู้ทางการเมืองตั้งแต่ ปี 2549 ตัดสินใจถนนอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาปากท้องและปัญหาอื่น ๆ อีกหลายข้อด้วยกัน จนนำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีมากกว่าทางการเมืองรวมทั้งสิ้น 13 คดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ