ม.รังสิต ชูธงปฏิรูปการศึกษายุคใหม่ มุ่งผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าลงมือทำ นำการเปลี่ยนแปลง ด้วยจิตสำนึกสังคมธรรมาธิปไตย RSU Model “Innovative Startup Entrepreneurship” By Integrative and Regenerative Competency Based Technology Transformation เน้นพัฒนาสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ก้าวนำกระแสคลื่นการเปลี่ยนแปลงของโลก
ฟังหัวข้อแล้วก็น่าสนใจไม่น้อย วันนี้พี่แคมปัสจะพาไปฟังความเห็นของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ที่กล่าวว่า ที่ผ่านมาในเรื่องการศึกษามีค่านิยมที่ผิดมาตลอด เช่น การแบ่งชั้นวรรณะสร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูง การใช้ระบบแพ้คัดออก สิ่งเหล่านี้ทำให้การศึกษาไม่พัฒนา เพราะการศึกษาต้องสร้างศักยภาพให้เต็มที่ สามารถทำอะไรได้ไม่สิ้นสุด ต้องสร้างความเข้มแข็งให้คน ขณะเดียวกัน เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลง วิกฤติหลายอย่างเกิดขึ้น และความอัจฉริยะของคนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น โทรศัพท์เป็นอภิสิทธิ์ชน ปรากฏการณ์ที่สื่อสิ่งพิมพ์เริ่มล่มสลาย ธนาคารเริ่มปิดสาขาและลดพนักงาน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นถึงวิกฤติที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะดูรุนแรง แต่ทั้งนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดในทางเทคโนโลยี “คน” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเท่าที่โลกสร้างมา เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาคือ การสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งสถาบันการศึกษาคือแหล่งขุมพลังปัญญาในการสร้างคน
ดังนั้น การศึกษาของเราต้องตอบโจทย์ ตอบความความต้องการของชีวิต จบแล้วสามารถไปสร้างคุณค่าและสร้างประโยชน์ได้ หมดยุคที่เราจะกำหนดว่าเรียนจบแล้วต้องทำงานตรงสาขาที่เรียนมา และในส่วนของการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญของมหาวิทยาลัยรังสิตในครั้งนี้ จะเป็นการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิตทั้งระบบ เป็นการปรับตัวสู่การสร้างผู้นำ เพื่อการเปลี่ยนแปลง และความเป็นมืออาชีพเพื่อเท่าทันยุค Digital Tech Transformation
“เพราะการศึกษาแบบใหม่ สิ่งสำคัญคือผู้เรียนต้องเรียนด้วยความเข้าใจจนเชี่ยวชาญทักษะในความหมายกว้าง มีวิธีคิด ไม่ใช่เรียนรู้เพียงแค่ท่องจำเนื้อหาในหนังสือ หรือเรียนจบตามหลักสูตรการวัดผล แต่เราต้องดูว่าเรียนแล้วประสบความสำเร็จและมีทักษะชีวิต การศึกษาทุกอย่างต้องมีทางเลือก (Regenerative) หรือใช้แนวทางการศึกษาแบบ Innovation Startup Entrepreneurship ในการมุ่งผลิตบัณฑิตที่เป็นผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าลงมือทำ นำการเปลี่ยนแปลง ด้วยจิตสำนึกสังคมธรรมาธิปไตย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว
ด้านนายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบัน Gen.Ed กล่าวว่า ในโลกที่มีการปรับเปลี่ยนและไม่แน่นอน การระเบิดขององค์ความรู้ใหม่ๆ ได้เปลี่ยนแปลงแบบแผนการดำรงชีพและวิถีของคนอย่างรวดเร็ว มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันการศึกษาที่หล่อหลอมบุคลากร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนการจัดหลักสูตร วิธีการเรียนการสอนและสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้บัณฑิตสามารถที่จะก้าวนำ และดำเนินชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงได้ รวมทั้งร่วมรับผิดชอบในการสร้างสังคมไทยที่เป็นธรรมาธิปไตย โดยหลักการในการปฏิรูปจะมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นการพัฒนาสมรรถนะ และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 (Competency-based) การบูรณาการสหสาขาวิชา ก้าวข้ามกำแพงของคณะฯ (Integrative) การปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง (Regeneration) การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเต็มที่ (Technology transformation) และมุ่งสู่ความเป็นสากล (Internationalization)
“สำหรับยุทธศาสตร์การปฏิรูปแบ่งเป็น 1. การปฏิรูปการศึกษาทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของมหาวิทยาลัยในด้านการผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างบูรณาการ สามารถออกแบบชีวิตของ ตนเอง ในการเป็นผู้นำ ผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ 2. ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาวิชาชีพคณะต่างๆ เพื่อสร้างความเป็นเลิศในระดับสากลของแต่ละสาขาวิชาชีพ และส่งเสริมความร่วมมือจัดการศึกษาร่วมกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันอาชีวศึกษา และนานาประเทศ รวมทั้งปรับกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการสร้างทักษะที่จำเป็น สำหรับศตวรรษที่ 21 ส่งเสริมการวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อรับใช้สังคม 3. ปฏิรูประบบประกันคุณภาพมหาวิทยาลัย โดยสร้างระบบควบคุมคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยเองที่เป็นสากล 4. ปฏิรูปเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการเป็น E-University 5. ปฏิรูประบบสนับสนุนการจัดการศึกษา โดยลดระเบียบ ขั้นตอนต่างๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและการจัดการศึกษารูปแบบต่างๆ และมุ่งเน้นนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง และ 6. การพัฒนาครูอาจารย์ โดยเปลี่ยนทัศนคติ และพัฒนาทักษะการเป็น Facilitator /Coach ในกระบวนการศึกษาและพัฒนาทักษะในเทคโนโลยีการเรียนการสอนสมัยใหม่ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิตในครั้งนี้ เป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ครอบคลุม ประเด็นสำคัญต่างๆ มุ่งหวังให้มหาวิทยาลัยดำรงสถานะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในระดับสากล และก้าวนำกระแสคลื่นการเปลี่ยนแปลงโลก” ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบัน Gen.Ed กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.นฤพนธ์ ไชยยศ คณบดีสถาบัน Gen.Ed ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษามหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากวิสัยทัศน์ของอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ต้องการวางรากฐานการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาในด้านธรรมาธิปไตย การใช้ชีวิตในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและโลก จึงจัดตั้งสถาบัน Gen.Ed ขึ้น เพื่อปรับรูปแบบและทิศทางของวิชาศึกษาทั่วไป ด้วยวิธีการเรียนการสอนที่เน้นการคิดและลงมือทำ เพื่อให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ และสามารถนำไปใช้เพื่อให้ประสบความสำเร็จในอาชีพและการดำเนินชีวิตได้ ในส่วนของรายวิชาศึกษาทั่วไปที่เกิดขึ้นภายใต้สถาบัน Gen.Ed จะวางพื้นฐานทางความคิดให้แก่นักศึกษาทั้งในด้านธรรมาธิปไตย ความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและสังคม จากหัวใจสำคัญที่ว่า “อนาคตสร้างได้ด้วยตนเอง ด้วยแนวทางเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสังคมธรรมาธิปไตย” รูปแบบการเรียนการสอนจะไม่เน้นตีกรอบความคิดของนักศึกษา แต่จะเปลี่ยนเป็นการจุดประกายความคิดด้วยการดึงความสนใจมาบูรณาการกับทฤษฎี องค์ความรู้ และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญจากโลกวิชาการและโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งวิชาเหล่านี้ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาทั้งด้านการออกแบบการสอน ผู้สอน และการผลิตสื่อการสอนที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีรายวิชาในหลักสูตรการศึกษา ดังนี้ หมวดที่ 1 RSU Identity หมวดที่ 2 Internationalization and Communication หมวดที่ 3 RSU Leadership Social Responsibility หมวดที่ 4 Arts and Culture หมวดที่ 5 Innovative Entrepreneurship หมวดที่ 6 Digital Media Literacy หมวดที่ 7 Essence of Science และหมวดที่ 8 RSU I-Style.
Cr.thairath
สำนักข่าววิหคนิวส์