เมื่อเห็นว่านายทักษิณ ชินวัตร พักอยู่ในห้องพิเศษซึ่งไม่ใช่ห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แสดงว่านายทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้มีอาการป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤติ ซึ่งไม่ตรงกับความเห็นของแพทย์ รัฐมนตรีก็ควรมีคำสั่งให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์รับตัวนายทักษิณ ชินวัตร กลับไปยังเรือนจำหรือทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดกลางเพื่อทำการรักษาต่อไป เป็นต้น แต่นายทวี สอดส่อง มิได้สั่งการใด ๆ จึงแสดงว่านายทวี สอดส่อง รู้เห็นหรือยินยอมให้มีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องเช่นนั้น เมื่อ กสม.มีความเห็นว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร กับโรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากมีการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเข้าข่ายเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการด้วย ดังนั้น นายทวี สอดส่อง ที่ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น จึงถูกชี้มูลโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีหน้าที่โดยตรงว่ากระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และอาจเป็นความผิดอาญาด้วย
ดังนั้น นายทวี สอดส่อง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 โดยขณะที่นายกรัฐมนตรีพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี นายทวี สอดส่อง อาจขาดคุณสมบัติทั้งในเรื่องการเป็นผู้มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และในเรื่องการมีพฤติกรรมที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)