ไลฟ์สไตล์ » สุขภาพ » #เจลลี่พระราชทาน !! อีกหนึ่งโครงการของพ่อหลวง ร.9 เพื่อผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก

#เจลลี่พระราชทาน !! อีกหนึ่งโครงการของพ่อหลวง ร.9 เพื่อผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก

15 October 2017
885   0

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก อีกหนึ่งพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งแผ่ไพศาลถึงประชาชนในทุกหนทุกแห่งอย่างแท้จริง

สืบเนื่องจากความทุกข์ทรมานทางการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก ซึ่งจะมีแผลในช่องปากทำให้เคี้ยวและกลืนอาหารลำบาก “เจลลี่พระราชทาน” หรือที่หลายคนรู้จักกันในนาม “อาหารพระราชทาน” จึงได้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยยกระดับชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งช่องปากให้ดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขมากขึ้น

โดยเจลลี่พระราชทานเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัยและคิดค้นพัฒนาภายใต้โครงการนวัตกรรมอาหารสำหรับผู้ป่วย โดยความร่วมมือของมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมป์ หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้หารือร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีความชำนาญเฉพาะด้านทั้ง 6 แห่ง คือ

1. มูลนิธิอานันทมหิดล

2. คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

3. คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

4. สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

5. ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

6. บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด

เพื่อแก้ปัญหาทุพโภชนาการในผู้ป่วยโรคมะเร็งช่องปาก ซึ่งในที่สุดก็มักจะทำให้ร่างกายผู้ป่วยขาดสารอาหารจำพวกโปรตีนและพลังงาน โดยแทนที่จะใช้วิธีการให้อาหารทางสายยางแก้ปัญหาขาดสารอาหารให้ผู้ป่วย ก็คิดค้นและพัฒนาอาหารสำหรับผู้ป่วยที่เป็นอาหารในรูปแบบเจล คล้ายเต้าหู้อ่อน เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคี้ยวและกลืนอาหารได้โดยไม่สำลักหรือติดคอ อีกทั้งผลิตภัณฑ์นี้ยังมีสารอาหารและให้พลังงานที่เหมาะสมอีกด้วย

ทั้งนี้ในการพัฒนาสูตรเจลลี่ได้เน้นใช้วัตถุดิบที่มีจำหน่ายทั่วไปในอุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศ อันได้แก่ สารก่อเจล ซึ่งใช้วุ้น เจลาติน และสารคงตัวประเภทกัมเพื่อทำให้อาหารเหนียวนุ่ม ใช้นมที่ผ่านการย่อยน้ำตาลแลคโตสเป็นแหล่งให้โปรตีนร้อยละ 20 ใช้ไขมันจากน้ำมันรำข้าวซึ่งให้พลังงานร้อยละ 25-30 และใช้มัลโตเด็กซ์ตริน (maltodextrin) เป็นแหล่งให้คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 50-55 ส่วนความหวานจะได้จากน้ำตาลในนมที่ถูกย่อยแลคโตสมาแล้ว และน้ำตาลที่เติมเพิ่มเข้าไปเพื่อปรับรสชาติ รวมไปถึงน้ำตาลในผลไม้ที่เป็นส่วนผสมในเจลลี่ด้วย

โดยในเบื้องต้นเจลลี่จะมีอยู่ด้วยกัน 2 รสชาติ ได้แก่ รสชานม และรสมะม่วง ซึ่งใน 1 กล่องจะมีปริมาตร 250 มิลลิลิตร ให้พลังงาน 230-260 กิโลแคลอรี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะสำหรับรับประทานเสริมเพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยได้รับพลังงานจากอาหารที่เพียงพอ และอาจสามารถทดแทนการให้อาหารทางสายยางได้ ที่สำคัญยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าการใส่สายยางให้อาหารเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่มาของคำว่าอาหารพระราชทานหรือเจลลี่พระราชทาน ก็เพราะทุนในการคิดค้นและวิจัยผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้นั้นได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั่นเอง และในวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระราชูปถัมภ์ฯ พร้อมคณะผู้วิจัยเข้ากราบบังคมทูลผลการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ซึ่งในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้ทรงแนะนำให้ปรับรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ เพราะมีลักษณะคล้ายกล่องนมจนเกินไป จนอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดและเขย่ากล่องเจลลี่ได้ ดังนั้นจึงทรงแนะนำให้ปรับกล่องบรรจุภัณฑ์เป็นแนวนอนแทนแบบเดิมที่เป็นกล่องแนวตั้งคล้ายกล่องนม

อีกทั้งพระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับแนวทางการปรับปรุงความหลากหลายของรสชาติอาหาร โดยทรงพระราชทานข้อคิดไว้ว่า “อาหารผู้ป่วยดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอร่อยด้วย เพราะคนไข้คือคนป่วย เราจึงต้องคำนึงถึงการดูแลด้านจิตใจของเขาให้มาก เพราะผู้ป่วยมีความทุกข์ทางร่างกายอยู่แล้ว”

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยทันตกรรมพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ดำเนินการนำเจลลี่โภชนาจำนวน 840,000 กล่อง ที่คณะผู้วิจัยได้นำมาจัดถวาย ให้นำไปแจกจ่ายแก่ผู้ป่วยมะเร็งและผู้ป่วยทันตกรรมทั่วประเทศต่อไปอีกด้วย

อย่างไรก็ตามเจลลี่โภชนาไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงโภชนาการกับผู้ป่วยมะเร็งช่องปากเท่านั้น แต่ยังให้ประโยชน์กับผู้ป่วยมะเร็งชนิดอื่นอีก ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ป่วยทางทันตกรรม ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟัน และผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการเคี้ยวและกลืนอาหาร ซึ่งจะช่วยลดการให้อาหารทางสายยาง และลดอันตรายจากการติดเชื้ออันเนื่องมาจากการให้อาหารทางสายยางอีกด้วย

ทั้งนี้เจลลี่โภชนาพระราชทาน เป็นอาหารพระราชทาน ห้ามจำหน่าย จึงยังไม่สามารถหาซื้อได้ ณ ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มูลนิธิได้จัดทำโครงการอาหารพระราชทานสำหรับผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก ซึ่งจะแจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งช่องปาก หรือผู้ป่วยอื่น ๆ ที่มีปัญหาการเคี้ยว การกลืน ตามสถานพยาบาล 9 แห่ง ดังนี้

1. โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา 0-4423-5000

2. สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรุงเทพฯ 0-2202-6800, 0-2202-6888 ต่อ 1509

3. ศูนย์มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 0-2546-1960-67

4. ศูนย์มะเร็งชลบุรี 0-3878-4001-5 , 0-3845-5632-6

5. ศูนย์มะเร็งลพบุรี 0-3662-1800

6. ศูนย์มะเร็งลำปาง 0-5433-5262-8

7. ศูนย์มะเร็งอุดรธานี 0-4220-7375-80

8. ศูนย์มะเร็งอุบลราชธานี 0-4531-7133, 0-4531-7134, 0-4531-7136, 0-4531-7138, 0-4531-7139

9. โรงพยาบาลมะเร็งสุราษฎร์ธานี 0-7727-7555 ต่อ 7679

หรือสามารถติดต่อขอรับผลิตภัณฑ์ตัวอย่างเจลลี่โภชนาและวุ้นชุ่มปากได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ที่มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามรายละเอียดดังนี้

ภาพจาก เฟซบุ๊ก มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์

มหาวิทยาลัยมหิดล, มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

มหาวิทยาลัยมหิดล

มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์

เฟซบุ๊ก มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์

ที่มา : https://health.kapook.com/view158945.html

จิตตรา พงศธรพิพัฒน์

สำนักข่าววิหคนิวส์