เมื่อวานนี้(7กรกฎาคม) มีการประชุมคณะอนุ กรรมาธิการด้านคุณภาพชีวิตในคณะกรรมาธิการ การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เรื่องนายกเทศมนตรีตำบลศรีเตี้ยอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน มีความสนใจที่จะสร้างฝายชะลอน้ำแกนดินซีเมนต์ ในลำน้ำลี้
ผู้เข้าร่วมประชุมในวันนี้ประกอบด้วย นายกเทศมนตรีตำบลศรีเตี้ย นาวาอากาศเอก ณัฐพงศ์ คชเสนีย์ หัวหน้าสำนักงานจังหวัด นายบุญส่ง ไชยมณี ท้องถิ่นจังหวัด นายรุ่งโรจน์สุนทร หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายธนา นวลปลอด นายอำเภอบ้านโฮ่ง นายประเชิญ สมองดี นอกจากนี้คณะกรรมาธิการยังได้เรียนเชิญหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือด้วยคือ ท่านรองอธิบดีกรมเจ้าท่า นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ และผู้อำนวยการสำนักงาน กรมเจ้าท่า จังหวัดเชียงใหม่
ท่านนายกเทศมนตรี ตำบลศรีเตี้ยได้เล่า ถึงปัญหาของแม่น้ำลี้ที่มีความยาวประมาณ 200 กิโลเมตรว่าในหน้าน้ำนั้นมีน้ำอยู่เพียง 4 เดือน ซึ่งบางปีมีน้ำหลากถึงปีละ 1-2 ครั้ง แต่อีก 8 เดือนที่เหลือ ของปี จะไม่มีน้ำเหลืออยู่ในแม่น้ำลี้เลย ในแม่น้ำมีแต่หญ้า และวัชพืชเต็มไปหมด ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ปริมาณน้ำจำนวนมากในแม่น้ำลี้นั้น ยังไม่สามารถกักเก็บเอาไว้ ใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้นการสร้างฝายชะลอน้ำแกน ดินซีเมนต์จึงเป็นวิธีที่น่าจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจาก สร้างง่าย ประหยัด ต้นทุนต่ำ แต่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการทำงานสูง
ท่านเล่าว่า ได้ไปดูฝายต้นแบบ ของจังหวัดแพร่แล้ว และได้ศึกษารายละเอียดต่างๆของจังหวัดแพร่แล้ว จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าฝาย แบบนี้เหมาะสมกับ พื้นที่ของจังหวัดลำพูนเช่นเดียวกัน
ลำน้ำลี้ไหลผ่าน 4 อำเภอของจังหวัดลำพูน ที่บริเวณต้นน้ำมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 700 เมตร แต่ที่บริเวณพื้นที่ของตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่งมีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 300 เมตร ความสูงที่แตกต่างกันระหว่างต้นน้ำกับท้ายน้ำถึง 400 เมตรจึงเป็นเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไม ธรรมชาติของ แม่น้ำลี้จึงไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ และเป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไม แม่น้ำลี้ ตรงพื้นที่ของตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่งจึงไม่มีน้ำเหลืออยู่เลยในหน้าแล้ง
ท่านนายกเทศมนตรีเห็นว่าหากมีน้ำเพื่อการผลิตอย่างเพียงพอแล้วการเพราะปลูกลำไยและมะม่วงซึ่งเป็นพืชผลหลักจะสร้างรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ฝ่ายยังเป็นแหล่งเลี้ยงปลาน้ำจืดได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งอาหารของเกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ การสันทนาการและสามารถใช้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมของพี่น้องประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
ท่านนายกเทศมนตรีรายงานว่าในแง่ของกระบวนการทำงานนั้น ท่านได้ รับฟัง และขอความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ๆ จะสร้างฝายเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และยังได้ทำงานร่วมกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านนายอำเภออย่างใกล้ชิด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้สอบถาม ความคืบหน้าของการสร้างฝาย โดยตรงมาแล้วถึงสองครั้ง เพราะท่านสนับสนุนให้มีการสร้างฝาย เพื่อกักเก็บน้ำ อันจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
ท่านนายกเทศมนตรีเล่าว่าฝายที่ตั้งใจสร้างนั้น จะมีความสูงระหว่าง 1.5 – 2 เมตร แต่ความสูงจะเป็นเท่าไรแน่นอนนั้น จะขอให้วิศวกร ของกรมเจ้าท่าเป็นผู้ให้ความ เห็นชอบ สำหรับในแง่ความกังวลใจว่า เมื่อสร้างฝายแล้วจะมีผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำในระดับท้ายน้ำหรือไม่นั้น ท่านนายกเทศมนตรีรายงานว่าในเรื่องนี้จะไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำในระดับท้ายน้ำเลย เนื่องจากบริเวณที่สร้างเป็นพื้นที่ท้ายน้ำของแม่น้ำลี้แล้ว
การหารือระหว่างนายกเทศมนตรีตำบลศรีเตี้ยกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี และกรมเจ้าท่ามีความเข้าใจในความเดือดร้อนและความจำเป็นในเรื่องน้ำของชาวบ้านด้วยเช่นเดียวกัน งานที่เหลือในขณะนี้จึงเป็นเพียงงานธุรการเท่านั้น ซึ่งผมคาดว่าจะไม่ใช้เวลานานนัก เนื่องจากทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันหมดแล้ว
โดยส่วนตัวผมเห็นว่าฝายที่จะสร้าง ที่ความสูง 1.5-2 เมตร นั้นจะไม่เป็นอุปสรรคกีดขวางต่อการสัญจรในแม่น้ำลี้ แต่อย่างใด เพราะฝายไม่มีวัศดุก่อสร้างที่เป็นเหล็ก องค์ ประกอบส่วนใหญ่เป็นดินในพื้นที่และเป็น สิ่งปลูกสร้าง ประเภทไม่ถาวร
ผมได้เรียนกับท่านนายกเทศมนตรีว่าการมีน้ำสำหรับเกษตรกรนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่การมีน้ำเพียงอย่างเดียวอาจไม่แก้ปัญหาความยากจนและปัญหาหนี้สินของเกษตรกรได้ เมื่อคิดถึงเรื่องน้ำแล้วท่านควรจะคิดเรื่องของการทำการเกษตรผสมผสานแบบอินทรีย์และเรื่องของการตลาดในอนาคต ประกอบกันไปด้วย ในประเด็นนี้ท่านนายกเทศมนตรีจะเชิญ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทีทำงานร่วมกันอยู่แล้วมาหารือ เรื่อง ดังกล่าวกับคณะกรรมาธิการที่จะเดินทางไปลงพื้นที่ในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ด้วย
ผมคิดว่า เหตุปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ฝาย ชะลอน้ำแกน ดินซิเมนต์ขยายตัวได้ค่อนข้างดีมาจากการที่เราเปิด พื้นที่สาธารณะ (public sphere ) ให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้มีโอกาสมาหารือ ร่วมคิด และร่วมกันหาทางออก อย่างสร้างสรรค์ เราไม่ได้ตั้งใจว่าพื้นที่แบบนี้จะสามารถหาทางออกได้ทุกปัญหา และไม่ได้คิดว่าทุกปัญหาจะแก้ได้ด้วยการหารือเพียงครั้งเดียว ในท้ายที่สุดเรามักจะหาทางออกที่ดีได้โดยที่หน่วยงานภาครัฐที่ถือกฎหมาย เป็นผู้ เสนอแนะ และให้ความคิดที่ดี แก่เราเสมอ
ในกรณีของการสร้างฝายที่ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง นี้ยังอาจอธิบายได้อีกว่าความสำเร็จมาจากการมีผู้นำท้องถิ่นที่ดี ที่คิดถึง “ประโยชน์สุข” ของประชาชน เป็นที่ตั้ง การได้รับความสนับสนุนจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นอย่างดี มีการเชิญสถาบันการศึกษามาเป็นพันธมิตรในการทำงานระยะยาว ผู้นำคือองค์การบริหารการปกครองส่วนท้องถิ่นทำงานอย่างมีธรรมาภิบาล เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความโปร่งใสในการทำงาน ประกอบกับผู้นำมีวิสัยทัศน์ในการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อมีปัจจัยเงื่อนไขรองรับที่ดีเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ว่าช้าหรือเร็วก็ตาม
ประสบการณ์ของผมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆนั้นข้า ราชการจำนวนมากได้ให้ประสบการณ์และความประทับใจ อันมีค่าเป็นอย่างยิ่ง แก่ผม อย่างไม่น่าเชื่อ ว่ามีข้าราชการที่ดีจำนวนมากมายในประเทศนี้ที่ขยันขันแข็ง รับผิดชอบต่อหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและให้ความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหา ความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องเกษตรกร ด้วยความเต็มใจ เป็นอย่างยิ่ง นี่เป็นประสบการณ์ที่สำคัญ ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผม ที่ได้เห็นความสำเร็จต่างๆที่เกิดขึ้น ในการแก้ปัญหาปากท้องให้กับประชาชน ด้วยการใช้ “ความรู้ “(knowledge ) ทางด้านวิศวกรรมชลประทาน ผสมผสานกับความรู้ทางด้านสังคม และการใช้ “ อำนาจ” (Power) อย่างเป็นธรรมของ ระบบราชการ
ในวันนี้ผมได้รายงานให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ท่านวรยุทธนวรัตน์ ทราบเรื่องผลการ หารือเมื่อวานว่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี รวมทั้งได้ขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงที่ให้การสนับสนุนการสร้างฝายที่เทศบาล ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง
ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน รับทราบข่าวด้วยความยินดีและได้แจ้งให้กับผมทราบว่าในปีนี้ท่านได้อนุมัติให้มีการสร้างฝายชะลอน้ำแกน ดินซีเมนต์จำนวน 20 แห่งในจังหวัดลำพูน เรียบร้อยแล้วด้วย ผมรับทราบข่าวดีนี้อย่างตกตะลึง และไม่คาดฝัน ท่านบอกกับผมว่าผมเห็นว่าฝายนี้เป็นประโยชน์ดีจริง เพราะเมื่อปีที่แล้วท่านใดฟัง ผมพูดเรื่องนี้ที่จังหวัดลำพูนเอง เมื่อได้ยินพลันผมก็นึกขึ้น เรื่องนี้ขึ้นได้ แล้วรำพึงกับตัวเองว่า
เวลาหนึ่งปี ช่างผ่านไปรวดเร็วจริง เหมือนเพียงลมพัดผ่านไปเพียงวูปเดียว ที่น่ายินดีก็คือสายลมเย็นที่พัดผ่านไปนั้นได้นำพา ความฝัน ความหวัง ที่สวยงาม แรงบันดาลใจ และช่วยสร้างความจริง (truth) ให้แก่พี่น้องเกษตรกรจังหวัดลำพูนได้แล้ว
สวัสดีครับ… จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
8กรกฎาคม 2565