ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #เตือนกม.ปปช.พาดิ่งเหว

#เตือนกม.ปปช.พาดิ่งเหว

25 December 2017
606   0

“ภัทระ” เตือน สนช.ลงมติผ่านกฎหมายป.ป.ช.เสี่ยงขัด รธน. หลังสร้างประวัติศาสตร์ยกเว้นลักษณะต้องห้าม ต่อวีซ่า “วัชรพล-วิทยา” เปรียบเอากม.ลูกไปฆ่าแม่

ไทยโพสต์ – เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นายภัทระ คำพิทักษ์ กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่จะลงมติในวันที่ 25 ธ.ค.ว่า เมื่อเรื่องดักฟัง ดักข้อมูล ล้วงตับ สะกดรอย แฝงตัว ถูกถอนออกไปแล้ว หลายมาตราที่ต้องโหวตในวันจันทร์นี้จะเหลือแต่ 3 กลุ่มปัญหาใหญ่ๆ คือ 1.การตรวจสอบถ่วงดุลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้อำนาจเพิ่มไปมาก 2.การสร้างธรรมาภิบาลหรือหลักประกันความยุติธรรมให้กับข้าราชการ ป.ป.ช. และ 3.บทเฉพาะกาลว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน

โดยมาตรา 178 ที่เขียนให้ยกเว้นคุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้กรรมการ ป.ป.ช.อยู่ต่อไปตามวาระของกฎหมายเก่าแล้ว กมธ.เสียงข้างมากได้เติมความต่อมาด้วยว่า “และลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 11 (1) และ (18) มิให้นำมาบังคับด้วย” ซึ่งได้เรียนให้ที่ประชุมสภาทราบว่า หากสมาชิก สนช.ทั้งหลายเห็นด้วยตามนี้ ขอให้ตระหนักว่า นี่จะเป็นครั้งแรกที่สภาแห่งนี้จะออกกฎหมายให้มีการยกเว้นลักษณะต้องห้ามเพื่อให้คนบางคน เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถดำรงตำแหน่งต่อไปได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และตั้งแต่การทำกฎหมายมาทุกฉบับที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับให้ใครดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงไรที่เป็นพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เคยมีการยกเว้นในลักษณะนี้ให้กับใครหรือองค์กรใดมาก่อน

ทั้งนี้ พบว่า “ลักษณะต้องห้าม ที่มีการหยิบยก 2 วงเล็บ คือ (1) คือการยกเว้นคุณสมบัติเรื่องเป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือกรรมการองค์กรอิสระมาก่อน ส่วน (18) คือ เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา

“เมื่อตามไปค้นดูพบว่าเอกสารที่สภาทำขึ้นชุดหนึ่งบอกไว้หมดว่าใครเป็นใคร (18) คือ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ที่เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือตำแหน่งข้าราชการการเมืองมาก่อนนั่นเอง และเอกสารของสภาระบุว่า ท่านขาดคุณสมบัติ ส่วนอีกคนใน (1) นั้น ไม่ขออนุญาตท่าน จึงไม่ขอเอ่ยชื่อ ปัญหาคือการเขียนแบบนี้คือการเขียนกฎหมายแบบเอาลูกไปฆ่าแม่ คือเอากฎหมายระดับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญไปยกเว้นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ” นายภัทระระบุ

อย่างไรก็ตาม ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า พ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีการยกเว้นคุณสมบัติ แต่ ”มิได้ยกเว้นลักษณะต้องห้าม” เอาไว้ จึงไม่มีปัญหาเหมือนกับกรรมการ ป.ป.ช.สองคนนี้ที่มีลักษณะต้องห้ามอย่างชัดเจน ที่สำคัญเมื่อ สนช.ส่งเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดินไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องอื่น รวมทั้งเรื่องคุณสมบัติโดยมิได้เอ่ยถึงเรื่องลักษณะต้องห้ามเลย ฉะนั้นใครจะรับประกันได้ว่า เรื่องนี้จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

“ผมได้ขอให้ สนช.พลิกดูมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ วรรคท้ายของมาตรานั้น ระบุชัดว่า การตรากฎหมายนั้นต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีหนึ่งกรณีใดหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ แม้การเขียนมาตรา 178 ของร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช.ที่เสนอมานี้จะเป็นการเขียนลักษณะทั่วไป แต่เมื่อส่องลงไปดูความหมายของ (1) และ (18) แล้ว มันคือการจำเพาะตัวบุคคลเลยว่าคือใคร จึงมีคำถามว่า ควรจะออกกฎหมายแบบนี้หรือไม่ ควรแล้วหรือที่จะเห็นชอบตามที่เสนอมานี้” นายภัทระ กล่าว

หาก สนช.เห็นชอบให้ระลึกว่า กำลังจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกคือ กรรมการ ป.ป.ช.สองคนนี้จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ เพราะผู้ถูกชี้มูลหรือตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือเป็นจำเลยล้วนแต่จะร้องได้ว่าสองคนนี้ขาดคุณสมบัติอันเนื่องมาจากมีลักษณะต้องห้ามแล้วจะสามารถลงมติชี้มูลใครได้ สอบสวนใครได้ การลงมติของ ป.ป.ช. จะเป็นไปด้วยความยุ่งยาก ฉะนั้นการทำงานของ ป.ป.ช.ในอนาคตจะมีปัญหามากอย่างแน่นอน

“ถ้าสภาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก ก็จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตกอยู่ในสภาพพันหลัก เพราะต้องวินิจฉัยเรื่องที่มีลักษณะเรื่องของตัวเองโดยตรง แล้วศาลรัฐธรรมนูญควรวินิจฉัยหรือไม่ ฉะนั้นถ้าสนช.เห็นชอบมาตรานี้ ก็พึงระลึกว่า เป็นการลงมติที่สุ่มเสี่ยงต่อการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการออกกฎหมายระดับ พ.ร.บ.ไปยกเว้นรัฐธรรมนูญ และทำให้เกิดปัญหาในการบริหารราชการ และจะก่อให้เกิดวิกฤติทางการเมืองในอนาคต” กมธ.เสียงข้างน้อย ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมการ ป.ป.ช.อีก 1 คนที่กมธ.ยกเว้นลักษณะต้องห้ามใน (1) คือ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในปี 2557 ก่อนรับตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อปี 2558

สำนักข่าววิหคนิวส์