วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวประเด็นสถานการณ์โควิด-19 เตือนภัยระดับ 4 ทั่วประเทศ ว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อโควิดมีแนวโน้มสูงขึ้น และเป็นไปทั่วโลก โดยเฉพาะภาพพื้นเอเชียทุกประเทศมีแนวโน้มสูง และคาดการณ์ว่าภายใน 1-2 สัปดาห์แนวโน้มยังทรงตัวระดับสูงในประเทศไทย
แม้ขณะนี้โควิดในไทยเป็นสายพันธุ์โอมิครอนกว่า 90% ความรุนแรงจะต่ำกว่าเดลต้าประมาณ 10 เท่า แต่หากเทียบผู้เสียชีวิตยังน้อยกว่าการระบาดครั้งก่อน และหากปล่อยให้ผู้ติดเชื้อมากขึ้น โอกาสไปสู่กลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวก็จะสูงขึ้นได้ เพราะกลุ่มวัยทำงานที่มีการรวมกลุ่มกัน สังสรรค์ ทานอาหารร่วมกัน หากติดเชื้อก็จะนำเชื้อไปยังกลุ่มเปราะบางได้
จึงต้องช่วยกันชะลอการเดินทาง เพื่อลดการกระจายเชื้อ และมากกว่า 50% ไม่มีอาการ เมื่อไม่มีอาการก็ไม่ระวังตัวเอง และหากเริ่มมีอาการให้ตรวจ ATK หากเป็นบวกให้กักตัวเองและประสานสายด่วนโทร. 1330 หรือหากมีความเสี่ยงให้กักตัวเองก่อน
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า ภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด (ข้อมูล ถึงวันที่ 20 ก.พ. 2565) เข็มที่ 1 จำนวน 53,126,900 ราย หรือ 76.4% ส่วน 2 เข็มฉีดแล้ว 49,471,890 ราย หรือ 71.1% ส่วนเข็ม 3 ขึ้นไปฉีดแล้ว 19,126,536 ราย หรือ 27.5% จะพบว่ามีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนคนที่ยังไม่ฉีดขอให้มารับบริการ และคนที่ฉีด 2 เข็มแล้วหากจะป้องกันโอมิครอนดีขึ้นต้องฉีดเข็ม 3
ขณะที่การฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดเข็ม 3 ไปแล้ว 27.7% ส่วนอีกกลุ่ม เป็นเด็กอายุ 5-11 ขวบ ฉีดแล้ว 7.7% จึงขอให้พาบุตรหลานมาฉีดวัคซีนโควิด
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก เฉพาะวันนี้มีรายงานกว่า 1.2 ล้านราย ผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 5.9 ล้านราย วันนี้รายงาน 5.2 พันราย คิดเป็นสัดส่วน 1.39% อย่างไรก็ตามภาพรวมยุโรป อเมริกาผู้ติดเชื้อเริ่มลดลง มาทางเอเชีย แต่รัสเซียก็ยังสูงอยู่ที่ 1.2 ล้านคน สถานการณ์ญี่ปุ่น เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น ขณะที่เวียดนามตัวเลขก็ยังสูง ทั้งสัปดาห์ติดเชื้อ 2.6 แสนราย
นอกจากนี้ กรณีสายพันธุ์โอมิครอนที่ระบาดทั่วโลก มี BA.1 และ BA.2 โดยข้อมูลองค์การอนามัยโลกสายพันธุ์ BA.2 มีความรุนแรงใกล้เคียง BA.1 แต่มีข้อมูลว่า BA.2 จะติดเชื้อและแพร่เร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.4 เท่า
ส่วนในไทยเริ่มพบ BA.2 ประมาณ 50 กว่าเปอร์เซ็นต์ จากการตรวจหาสายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
สำหรับประเทศไทยขณะนี้มีการติดเชื้อเฉลี่ย 14 วัน 15,981 ราย ในประเทศ 15,793 ราย ต่างประเทศ 188 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 จำนวน 507,763 ราย สถานการณ์ตอนนี้เหมือนเป็นเส้นตรงขึ้นมา จึงต้องติดตามการติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นในคลัสเตอร์ ในครอบครัว และชุมชน โดยขณะนี้มีผู้ป่วยกำลังรักษาอยู่ 166,397 ราย โดยแบ่งเป็นรักษาใน HI และ CI และ รพ.สนาม 89,326 ราย อยู่ใน รพ.มีอาการน้อย ๆ อยู่ที่ 76,275 ราย
ทั้งนี้อาการป่วยโอมิครอนจากข้อมูล 53,709 ราย พบว่าไม่มีอาการ 53.1% มีอาการป่วย 46.9% ส่วนใหญ่เจ็บคอ ไอ หรือมีไข้ต่ำ ๆ เป็น 3 อาการหลัก ๆ ที่เราเจอตอนนี้ หากเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 อาจกลายเป็นอาการหนัก เชื้อลงปอดได้ ดังนั้น สังเกตอาการแรก ๆ หากตากฝนมา มีเจ็บคอ ไอ ให้รีบตรวจ ATK ทันที
อย่างไรก็ตามกลุ่มจังหวัดที่ต้องระวังคือ 18 จังหวัดที่มีพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ 8 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต กาญจนบุรี กระบี่ พังงา นนทบุรี ปทุมธานี ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบางวัน บางวันก็ลดลง อย่างกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ลดลงบางวัน แต่แนวโน้มยังขึ้นอยู่