3 ต.ค. 2564 Thai PBS รายงานว่ากองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศเตือนเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลำน้ำชีล้นตลิ่ง จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน “เตี้ยนหมู่” และแนวร่องมรสุมที่พาดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 24-25 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในลุ่มน้ำชี โดยเฉพาะในลุ่มน้ำชีตอนบน บริเวณ จ.ชัยภูมิ ซึ่งปริมาณน้ำสูงสุดได้เดินทางมาถึงเขื่อนชนบท อ.ชนบท จ.ขอนแก่น
ส่งผลให้ระดับน้ำที่เขื่อนชนบทสูงกว่าตลิ่งในช่วงพื้นที่ลุ่มต่ำประมาณ 3.50 เมตร และล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชี ในเขต อ.โคกโพธิ์ชัย อ.แวงใหญ่ อ.ชนบท อ.มัญจาคีรี อ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด และ อ.พระยืน จ.ขอนแก่น ประกอบกับระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ สูงเกินเกณฑ์ระดับน้ำควบคุมสูงสุด จึงจำเป็นต้องระบายน้ำลงลำน้ำพองและไหลไปรวมกับแม่น้ำชี ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงมากขึ้น
กอนช.วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีตอนกลาง บริเวณ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น และ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม พบว่า เขื่อนมหาสารคาม อ.โกสุมพิสัย มีระดับน้ำ +147.58 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง สูงกว่าระดับเก็บกัก 0.78 เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนมหาสารคาม 580 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 5 ซม./ชม.อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.50-2 เมตร ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชีในช่วงวันที่ 4-15 ต.ค.นี้ ดังนี้
1. จ.ขอนแก่น อ.เมืองขอนแก่น อ.โคกโพธิ์ชัย อ.มัญจาคีรี อ.แวงใหญ่ อ.แวงน้อย อ.ชนบท อ.บ้านไผ่ อ.บ้านแฮด และ อ.พระยืน
2. จ.มหาสารคาม อ.โกสุมพิสัย อ.กันทรวิชัย และ อ.เมืองมหาสารคาม
3. จ.กาฬสินธุ์ อ.ฆ้องชัย อ.กมลาไสย และ อ.ร่องคำ
4. จ.ร้อยเอ็ด อ.จังหาร อ.เชียงขวัญ อ.ธวัชบุรี อ.โพธิ์ชัย อ.เสลภูมิ อ.ทุ่งเขาหลวง อ.พนมไพร และ อ.อาจสามารถ
5. จ.ยโสธร อ.เมืองยโสธร อ.คำเขื่อนแก้ว อ.มหาชนะชัย และ อ.ค้อวัง
6. จ.ศรีสะเกษ อ.กันทรารมย์
พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือ โดยติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมอพยพและเคลื่อนย้ายสิ่งของหากเกิดสถานการณ์ และขอให้ปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ โดยพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ จัดจราจรน้ำในการสับหลีกการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ และเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ รองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน เพื่อลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัยและให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว