เมื่อวานนี้ มีรายงานว่า นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มอบหมาย กรณีผู้ให้บริการรถร่วม ขสมก. เตรียมลดจำนวนการให้บริการ รวมทั้งภาคขนส่ง รถทัวร์ 27 บริษัท 143 เส้นทางทั่วประเทศเตรียมลดเที่ยววิ่งลง 80% เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนราคาพลังงานได้ว่า นายกฯ ให้ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการลดจำนวน ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังเจรจา และมีแผนสำรองไว้แล้ว เพื่อเตรียมการแก้ปัญหาหากมีการกระทบกับประชาชน โดยให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมการไว้
.
ด้าน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์กรณีได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้เตรียมการหารือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน และอาหาร หลังสถานการณ์โควิด และเหตุความรุนแรงระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อเศษฐกิจโลกว่า วิกฤตโควิด และความรุนแรงระหว่างรัสเซีย ยูเครน ส่งผลกระทบเศษฐกิจทั่วโลก ก่อให้เกิดเงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง พลังงานราคาสูง ซึ่งหน่วยงานทางเศษฐกิจที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง
.
สิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นห่วงคือ การเตรียมความพร้อมรองรับอนาคต เบื้องต้นการประเมินสถานการณ์ถือเป็นหน้าที่ของ สมช. อยู่แล้ว ไม่ว่าสงครามยูเครน-รัสเซีย จะยุติเมื่อใด สั้น หรือยืดเยื้อ แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจเกิดขึ้นแล้ว เราจึงต้องมาคิดว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยมีอะไรบ้าง เป็นเจตนารมณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ และสั่งให้ตนดำเนินการ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศษฐกิจเข้าหารือแล้ว และจะนำข้อมูลทั้งหมดมารวมกันเพื่อประเมินสรุปเป็นแผนสำหรับอนาคตทั้งระยะเร่งด่วน ปานกลาง และระยะยาว โดยระยะเร่งด่วน เราจะดูภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว และถดถอย มีผลกระทบกับประชาชนอย่างไร ถือเป็นความมั่นคงทางด้านพลังงาน และอาหาร
.
ทั้งนี้ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องแบ่งเป็นสองส่วนหลักคือ ผู้บริโภคกับผู้ผลิต ซึ่งเราต้องร่วมมือกับภาคเอกชนด้วย ระหว่างนี้เรากำลังพูดคุยเพื่อจัดระบบ ติดตามประเมินผล และทำข้อเสนอแนะให้รัฐบาล คาดว่า จะมีข้อสรุปออกมาวันที่ 1 ก.ค. หากไม่มีปัจจัยอะไรเข้ามาเกี่ยวข้อง
.
เมื่อถามว่า รูปแบบการทำงานของสมช. จะอยู่เหนือกระทรวงพลังงานหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ไม่เหนือเป็นการทำงานคู่ขนาน เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำข้อมูลให้รัฐบาล
.
เมื่อถามว่า จะเสนอใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงจะใช้เมื่อมีความจำเป็นซึ่งน่าจะอยู่ในแผน
.
เมื่อถามว่า การดำเนินการตรงนี้จะทับซ้อนกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อน เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. สภาพัฒน์ก็มานั่งคุยกัน แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็นำข้อมูลมาประเมินเพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต
——————————-