ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #เตือน13-15กพ.ฝุ่นพิษซํ้าขอนแก่นPM2.5ทะลุ102

#เตือน13-15กพ.ฝุ่นพิษซํ้าขอนแก่นPM2.5ทะลุ102

8 February 2019
686   0


ฝุ่นกรุงไม่เกินมาตรฐาน อุตุฯ เตือนรับมือ 13-15 ก.พ. อากาศปิดพุ่งอีก “ขอนแก่น” ค่า PM 2.5 ทะลุ 102 ผู้ว่าฯ เปิดปฏิบัติการปราบฝุ่นพิษทั้งเมือง วาง 4 มาตรการห้ามเผาอ้อย ขอสนับสนุนทำฝนหลวงด่วน
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ กรมควบคุมมลพิษ กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง เปิดเผยสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เวลา 12.00 น. พบว่า กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่มีสถานีที่มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน ขณะที่ทั่วประเทศ มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกินมาตรฐาน 7 สถานี สูงสุดอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และต่ำสุดอยู่ที่จังหวัดเลย สำหรับการคาดการณ์ 7 วันข้างหน้า ระหว่างวันที่ 7-13 ก.พ. 2562 คุณภาพอากาศยังคงมีแนวโน้มผลกระทบต่อสุขภาพ และคาดการณ์ว่า ในวันที่ 8 ก.พ. พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปริมาณ PM 2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงปัจจัยสภาพอากาศที่ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลลดลงว่า เนื่องจากมีเมฆเข้าปกคลุม อากาศเปิด ส่งผลให้ลมด้านบนช่วยพัดดึงนำฝุ่นละอองลอยขึ้นสูงพัดไปที่อื่น ส่วนในช่วงวันที่ 13-15 ก.พ. คาดการณ์ว่าสภาพอากาศจะนิ่งจากความกดอากาศเข้าปกคลุมภาคกลาง จากนั้นมีฝนตกเล็กน้อย ก่อนที่อุณหภูมิจะลดต่ำลง จึงอยากให้เฝ้าระวังและเตรียมรับมือ ซึ่งหากหน่วยงานต่างๆ ดำเนินมาตรการแก้ปัญหา เช่น ตรวจควันดำ จะช่วยทำให้ค่าฝุ่นละอองไม่เกินมาตรฐาน

ด้านนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ระดมเจ้าหน้าที่จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่ตรวจอย่างเข้มข้น และเฝ้าระวังโรงงานเสี่ยงที่จะก่อมลพิษทางอากาศในพื้นเสี่ยงทั่วประเทศ จำนวน 2,095 โรง ข้อมูล ณ วันที่ 6 ก.พ. ไม่พบโรงงานที่มีค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน 2.5 ไมครอน แต่พบการกระทำผิดในส่วนอื่นๆ จำนวน 45 โรง กระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้แก้ไขปรับปรุงตามมาตรา 37 จำนวน 35 โรง และสั่งให้หยุดประกอบกิจการ จำนวน 3 โรง อื่นๆ จำนวน 7 โรง
ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลนัดไต่สวนครั้งแรก เพื่อพิจารณาคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว หลังจากที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และประชาชนพักอาศัยเขตจตุจักร-บางเขน-ลาดพร้าว ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน รวม 5 ราย ร่วมกันยื่นฟ้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ข้อพิพาทเรื่องละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จนเกิดวิกฤตการณ์สะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนมากเจ็บป่วยและก่อปัญหาด้านสุขภาพตามมามากมาย

แฟ้มภาพ


โดยนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และนายพันธ์ศักดิ์ ถิรมงคล ผอ.จัดการคุณภาพอากาศและเสียง คพ. เป็นผู้แทนรับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 มาให้ถ้อยคำต่อศาล ส่วนผู้ว่าฯ กทม. ผู้ถูกฟ้องที่ 3 มีนิติกรเป็นผู้แทนชี้แจง ขณะที่นายศรีสุวรรณ ผู้ฟ้อง เดินทางมาศาลร่วมการไต่สวนด้วย ซึ่งศาลใช้เวลาไต่สวนสอบถามผู้แทนฝ่ายผู้ถูกฟ้องทั้งสาม 2 ชั่วโมงจึงเสร็จสิ้น

จากนั้นนายศรีสุวรรณเปิดเผยว่า การไต่สวนทั้งสองฝ่ายเสร็จสิ้นแล้ว แต่ศาลยังไม่ได้กำหนดวันนัดฟังคำสั่งการพิจารณาคำขอกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง สำหรับฝ่ายผู้แทนของผู้ถูกฟ้องได้ยืนยันการปฏิบัติตามมาตรการ 9 ข้อของนายกรัฐมนตรี และได้อ้างถึงมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งตนได้อธิบายและชี้แจงให้ศาลเห็นว่า มาตรการที่ฝ่ายรัฐอ้างว่าเรียกผู้ประกอบการก่อสร้างรถไฟฟ้ามาพูดคุยเพื่อให้ปฏิบัติตาม มาตรการ 9 ข้อนั้นยังไม่เห็นเป็น Action Plan ที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ในการไต่สวนศาลได้ห้ามคู่ความทั้งสองฝ่ายนำเอกสารหลักฐานที่ยื่นในการไต่สวนออกมาแสดง หรือสัมภาษณ์เกี่ยวกับข้อมูลการไต่สวนคดี

แฟ้มภาพ


ขณะที่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า จากวิกฤติฝุ่นละอองพิษขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ทำให้มีการตั้งคำถามจากหลายภาคส่วนถึงวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในเขตเมืองใหญ่ ที่ผู้รับผิดชอบหลักคือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่ง สจล. ได้เสนอ 8 ข้อเท็จจริงปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ คือ 1.ขาดระบบการแจ้งเตือนมลพิษในเมือง 2.แนวคิดการพัฒนาภาษีฝุ่น 3.รถยนต์คือต้นเหตุหลัก สมาร์ททรานสปอร์เทชั่นคือทางออก

4.ละเลยการแจ้งพื้นที่เสี่ยงปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน 5.สปริงเกลอร์ไม่ช่วยอะไร 6.บิ๊กดาต้าช่วยได้ แต่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน 7.ภัยเงียบทำลายทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ที่หน้ากากอนามัย N 95 ไม่ได้ออกแบบให้รับกับสรีระใบหน้าของเด็ก อาจก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคทางสมอง และโรคมะเร็ง และ 8.นโยบายแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน แนะ กทม.ยึดหลัก “รัฐรู้อย่างไร ประชาชนรู้อย่างนั้น” ทั้งนี้ สจล.ได้จัดตั้งศูนย์รวบรวมติดตามข้อมูลมลพิษทางอากาศด้วยการใช้เครื่องตรวจวัดสภาพอากาศแบบเรียลไทม์เฉพาะจุด โดยมุ่งนำร่องในสถานศึกษาทั่ว กทม.

ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังกระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาค่าฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน หรือค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งสูงที่สุดในประเทศถึง 102 ไมโครกรัม (มคก.) ต่อลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยมีผู้แทนโรงงานน้ำตาลใน เขต จ.ขอนแก่น, อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น, สมาคมชาวไร่อ้อยอีสานกลาง และสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาค 10 เข้าร่วมประชุม
นายสมศักดิ์เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า จังหวัดได้กำหนด 4 มาตรการลดฝุ่นละออง PM 2.5 เริ่มจากการที่ส่วนราชการจะต้องบังคับใช้กฎหมายในการเอาผิดการเผาอ้อยอย่างเคร่งครัด หากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถโทร.แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที และหากมีอ้อยที่เผานำเข้าโรงงาน ก็ให้ขึ้นบัญชีเกษตรกรที่นำอ้อยแบบเผามาส่ง สำหรับโรงงานต่างๆที่รับซื้ออ้อย จะต้องยืดเวลาการปิดหีบอ้อยจากวันที่ 10 เม.ย.2562 ออกไปอีก เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้มีเวลาการตัดอ้อยสดส่งโรงงานได้มากขึ้น และมาตรการสุดท้ายจังหวัดได้ตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบรับซื้ออ้อยส่วนหน้า เพื่อตรวจสอบว่าผู้ที่นำอ้อยมาสู่โรงงานนั้น มีการเผาอ้อยมาหรือไม่ เพื่อวางมาตรการควบคุมตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งจังหวัดได้ประสานงานร่วมหน่วยงานภาครัฐแและภาคเอกชน ในการเตรียมแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้กับประชาชนมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ขอนแก่นได้ทำหนังสือด่วนถึงอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อขอรับการสนับสนุนปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่แล้ว พร้อมจัดทีมเจ้าหน้าที่ออกฉีดพ่นน้ำตามสถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงให้ครอบคลุมทั้งเมือง พร้อมทั้งสั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบและควบคุมดูแลทั้งโรงงานต่างๆ เกษตรกรต่างอำเภอ ซึ่งจะมีการเผาอ้อย เผาตอซังข้าว รวมทั้งการเผาขยะหญ้าริมถนนในช่วงนี้ ให้หยุดแบบสิ้นเชิง ตรวจเข้มรถยนต์ทุกคันที่พบมลพิษจากท่อไอเสียให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวขอนแก่นเริ่มตื่นตัวหาหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ป้องกันฝุ่น บางหมู่บ้านได้นำน้ำประปามาฉีดลงบนท้องถนนและตามหลังคาบ้านเพื่อช่วยกันลดระดับปริมาณของฝุ่นละอองที่ฟุ้งกระจายอยู่ในขณะนี้.

Cr.thaipost

สำนักข่าววิหคนิวส์