ศาลรัฐธรรมนูญ สั่ง “เทพไท เสนพงศ์” ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พ้นตำแหน่ง ปมทุจริตเลือกตั้งนายกฯ อบจ.
และแล้ว “เทพไท เสนพงศ์” ส.ส.นครศรีธรรมราช นักการเมืองจอมสีสัน แห่งค่ายประชาธิปัตย์ ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าความเป็น ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (4) มาตรา 96(2)
โดยให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง และมีคำสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ ในวันที่ 16 กันยายน 2563 และให้ถือว่าอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง 27 มกราคม 2564 เป็นวันที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตว่างลง ปิดฉากการเป็น ส.ส.นครศรีธรรมราช 4 สมัยซ้อน ตั้งแต่การเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544
จุดเริ่มต้นของคดีนี้ เมื่อนายพิชัย บุณยเกียรติ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายมาโนช เสนพงศ์ น้องชายนายเทพไท กรณีทุจริตเลือกตั้งนายก อบจ.เมื่อปี 2556 เรื่องไปตามขั้นตอนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และในปี 2558 ศาลก็ให้ใบแดง “นายมาโนช”
ต่อมา “พิชัย” ได้ยื่นต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เอาผิดทางอาญา ฟ้องมาโนช เป็นจำเลยที่ 1 และนายเทพไท เสนพงศ์ เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาฐานร่วมกันกระทำความผิด ในการทุจริตการเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช
ในฐานทำผิด พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ในความผิดฐาน “เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงแก่ผู้ใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครอื่น”
28 สิงหาคม 2563 ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ โดยสั่งจำคุกนายเทพไทและน้องชายนายมาโนช คนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ทว่าคดียังเป็นเพียงแค่ศาลชั้นต้น และนายเทพไท ใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์
อย่างไรก็ตาม ผลจากคำตัดสินดังกล่าว กกต.ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า กรณีนายเทพไทจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ด้วยหรือไม่
16 กันยายน 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องของ กกต.และมีคำสั่งให้ นายเทพไท หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
23 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในคดีนายเทพไท และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือลงมติในวันพุธที่ 27 ม.ค. 64 เวลา 09.30 น. และอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังเวลา 15.00 น.
เมื่อ 5 มกราคม 2564 หลังผ่านเทศกาลปีใหม่ นายเทพไทยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้บุคคลที่นายเทพไทอ้างเป็นพยาน ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ และนายคมสัน โพธิ์คง ให้ถ้อยคำเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล และขอเลื่อนการพิจารณาวินิจฉัยออกไปจนถึงวันที่ 25 มีนาคม เพื่อรอฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8
7 มกราคม 2564 ปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องของนายเทพไท แล้วเห็นว่าศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ศาลสั่งให้ยุติการไต่สวนแล้ว
เนื่องจากคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ไม่มีเหตุผลที่จะกลับคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตตามที่นายเทพไทขอ
27 มกราคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้นายเทพไทสิ้นสภาพการเป็น ส.ส.
นายเทพไท เข้าสู่เส้นทางการเมือง จากการเป็น “มือขวา” นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่อยู่พรรคพลังธรรม ในฐานะ “ผู้ช่วย ส.ส.” จนถึงเป็น เลขานุการ รมช.มหาดไทย เมื่อนายชำนิ นั่งตำแหน่ง รมช.มหาดไทย กระทั่ง นายชำนิข้ามฟากมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์
หลังจากนั้นปี 2531 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วย ส.ส. ของ สมัยอยู่พรรคพลังธรรม ต่อมาเมื่อปี 2537 นายชำนิ ได้รับการแต่งตั้งเป็น รมช.มหาดไทย นายเทพไทได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการ รมช.มหาดไทย ในปี 2535-2537
เมื่อนายชำนิ ย้ายค่ายมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไทจึงย้ายมาเข้าค่ายพรรคสีฟ้า และได้เป็น ส.ส.ครั้งแรกในการเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544
ช่วงหนึ่งบนเส้นทางการเมืองนายเทพไท คือขุนพลฝีปากกล้า เป็นโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เมื่อครั้งเป็นนายกฯ และลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวในปี 2554 หลังจากนายอภิสิทธิ์ ไขก๊อกจากหัวหน้าพรรค ก่อนจะได้รับเลือกกลับมาอีกครั้ง
นายเทพไท ไม่เคยเป็น ส.ส.สอบตก แต่ต้องตกรอบเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เขาพ้นจากการเป็น ส.ส.