.
ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกโรงเรียกร้องระหว่างงานแถลงข่าวประจำวันที่นครเจนีวา เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 สิงหาคม) ขอให้หลายประเทศทั่วโลกระงับแผนการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ออกไปชั่วคราว หรืออย่างน้อยก็จนกว่าจะสิ้นสุดเดือนกันยายน เพื่อให้มีปริมาณวัคซีนเพียงพอที่จะบรรลุเป้าการฉีดให้กับประชากร 10% ของทุกประเทศทั่วโลก และอาจจำเป็นต้องขยายระยะเวลาของการระงับการฉีดวัคซีนเข็ม 3 มากกว่าเวลา 2 เดือนที่กำหนดไว้ หากการฉีดวัคซีนในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำยังไม่กระเตื้องขึ้น
.
ผู้อำนวยการใหญ่ WHO กล่าวว่า จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อให้เป้าหมายลุล่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือจากบรรดาประเทศและบริษัทที่เป็นผู้ควบคุมและครอบครองปริมาณซัพพลายของวัคซีนที่มีอยู่ในเวลานี้
.
“ในขณะนี้ยังมีผู้คนอีกหลายร้อยล้านคนทั่วโลกนั่งรอวัคซีนเข็มแรก ประเทศร่ำรวยบางประเทศกลับเดินหน้าเตรียมฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นเข็มกระตุ้นกันแล้ว ซึ่งกว่า 80% ของจำนวนวัคซีนที่มีกระจายอยู่มากกว่า 4,000 ล้านโดสในปัจจุบันตกอยู่ในมือของประเทศร่ำรวยที่มีสัดส่วนประชากรไม่ถึงครึ่งหนึ่งของประชากรโลก” กีบรีเยซุส กล่าว
.
ตัวแทนองค์การอนามัยโลกยังย้ำว่า เข้าใจและตระหนักดีว่ารัฐบาลทุกประเทศย่อมต้องให้ความสำคัญในการปกป้องพลเรือนของตนจากโควิดสายพันธ์เดลตาเป็นอันดับแรก แต่ก็ไม่อาจยอมรับหรือยินยอมให้ประเทศที่ใช้ซัพพลายวัคซีนไปเป็นจำนวนมากแล้วใช้เพิ่มมากไปกว่านี้ได้อีก แล้วปล่อยให้ประชากรส่วนใหญ่ของโลกเผชิญกับโควิดโดยไม่ได้รับการป้องกันใดๆ
.
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าฉีดวัคซีนอย่างน้อย 10% ของประชากรในทุกประเทศทั่วโลกภายในเดือนกันยายนปีนี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงปัจจุบัน ประเทศส่วนใหญ่ยังฉีดวัคซีนได้ไม่ถึงครึ่งของประชากร และในขณะที่ประเทศร่ำรวยบางประเทศสามารถฉีดวัคซีนเกือบ 100 โดสให้กับประชากรทุก 100 คน ประเทศยากจนกลับฉีดได้เพียง 1.5 โดสต่อประชากร 100 คน เนื่องจากประสบกับภาวะการขาดแคลนซัพพลายวัคซีน ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องออกมาเรียกร้องให้มีการกระจายวัคซีนจากชาติร่ำรวยไปยังชาติยากจน
.
ขณะเดียวกันผู้อำนวยการ WHO ยังได้ใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ 20 ประเทศ หรือ G20 ออกมาให้คำมั่นสนับสนุนโครงการ COVAX เพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอให้กับประเทศยากจนได้ใช้งาน
.
การเรียกร้องในครั้งนี้เป็นการยืนยันจุดยืนขององค์การอนามัยโลกที่ยังไม่แนะให้มีการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินการดังกล่าว กระนั้นก็มีรัฐบาลหลายประเทศ เช่น เยอรมนี อังกฤษ และอิสราเอล ที่ประกาศฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ให้กับประชาชน โดยเริ่มที่กลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มแรก ขณะที่บรรดาผู้บริหารของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ทั้ง Pfizer Moderna และ Johnson & Johnson ต่างออกมาสนับสนุนให้ชาวอเมริกันฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน
.
ความเคลื่อนไหวของ WHO ครั้งนี้มีขึ้นในช่วงเวลาที่บรรดาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ เปิดเผยว่า วัคซีนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้แม้แต่ผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีนก็ยังได้ประโยชน์ด้วย
.
ดร.ริคาร์โด ฟรังโก สมาชิกสมาคมโรคติดต่อของสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อมูลจากการติดตามผู้ป่วยโควิดเผยให้เห็นว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วมีโอกาสติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนถึง 8 เท่า มีโอกาสต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่า 25 เท่า และหากต้องเข้าโรงพยาบาลก็มีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่า 25 เท่า พร้อมสรุปว่าการฉีดวัคซีนมีประสิทธิผลต่อการรับมือโควิด และผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนก็ยังได้ประโยชน์จากภูมิคุ้มกันหมู่ที่มีมากขึ้นในเขตปกครองที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง เมื่อเทียบกับเขตปกครองที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำ
.
อย่างไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันหมู่จะมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นเมื่อมีผู้ฉีดวัคซีนมากขึ้น
.
ด้าน ดร.อีเซเคียล เอ็มมานูเอล จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ระบุว่า การควบคุมการระบาดจะต้องไม่ปฏิบัติแต่ในสหรัฐฯ เท่านั้น เนื่องจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาถูกพบครั้งแรกในต่างประเทศ ก่อนที่จะระบาดมายังสหรัฐฯ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีนให้คนทั่วโลก โดยในระหว่างนี้ประชาชนทุกคนแม้จะฉีดวัคซีนจนครบโดสแล้ว ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ทั้งในอาคารและที่กลางแจ้ง รวมถึงเลี่ยงการเข้าร่วมงานกิจกรรมหรือคนกลุ่มใหญ่จนกว่าการระบาดของไวรัสจะยุติลง
.