เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ ขอให้นายกฯ ทบทวนรายชื่อกรรมการ 36 คน หวั่นมีบุคคลใดอยู่ในฐานเป็นผู้มีประโยชน์ทับซ้อน เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปตำรวจครั้งประวัติศาสตร์ พร้อมขอให้ประธานและกรรมการทุกคนได้นำข้อเสนอในการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริงของ 42 องค์กรภาคประชาชนที่ได้เสนอไปก่อนหน้านี้ มาพิจารณาในทุกประเด็นด้วย
จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ก.ค. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีพลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯนั้น
วันที่ 5 ก.ค. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) POLICE WATCH ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ทบทวนการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ทีไม่เป็นที่เชื่อถือยอมรับของประชาชน พร้อมระบุว่า เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจรู้สึกผิดหวังที่เห็นรายชื่อผู้เป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจจำนวน 36 คน เนื่องจาก ส่วนใหญ่เป็นและเคยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่เคยแสดงเจตจำนงเป็นที่ประจักษ์ในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของประชาชน หรือมีเจตจำนงที่จะปฏิรูปโครงสร้างตำรวจมาก่อนไม่ว่าจะขณะรับราชการหรือเกษียณอายุ ขณะที่บางคนยังเคยแสดงบทบาทสร้างความสับสนเพื่อถ่วงรั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรตำรวจด้วย ที่น่าแปลกใจบุคคลที่มีบทบาทในการผลักดันการปฏิรูปตำรวจเพื่อประชาชนกลับไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการแต่อย่างใด
การปฏิรูปตำรวจเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับของชีวิต สิทธิเสรีภาพ ความสงบสุข และความปลอดภัยของคนไทยทั้งประเทศ เป็นเรื่องใหญ่ที่คนในประเทศและต่างประเทศจับตามอง เพราะต่างก็ตระหนักดีว่า ปัญหาทั้งปวงของประเทศเกือบทุกปัญหา มีต้นตอมาจากแหล่งเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ถูกรีดไถ การค้ามนุษย์ แหล่งอบายมุขผิดกฎหมาย รวมทั้งการใช้อำนาจเกินขอบเขตในทางมิชอบ สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน
การปฏิรูปตำรวจในเชิงระบบและโครงสร้างองค์กร จึงเป็นหัวใจสำคัญของประเทศ หากปฏิรูปไม่ตรงจุด จะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงประเด็น ส่งผลให้คนไทยทั้งประเทศต้องทนอยู่กับความไม่มั่นคงต่อชีวิตเป็นอย่างยิ่ง
ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยซึ่งผ่านการปกครองโดยทหารมาหลายยุคหลายสมัย มีความพยายามให้ตำรวจดำเนินการปฏิรูปตำรวจมาแล้ว แต่แม้กระทั่งขณะนี้ ผู้มีอำนาจก็ยังไม่ตระหนักว่า การให้ตำรวจภายใต้ความร่วมมือกับทหารปฏิรูปตนเองนั้นไม่เคยประสบความสำเร็จเลย และยังทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเลวร้ายลงไปอีก เกิดกลุ่มอิทธิพลขึ้นมากมาย ประชาชนได้รับความเดือนร้อนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เป็นผลสืบเนื่องมาจากความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบอย่างร้ายแรง ซึ่งองค์กรตำรวจเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะงานสอบสวนซึ่งปราศจากความเป็นอิสระจากอำนาจและอิทธิพล จึงจำเป็นต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมชั้นสอบสวน ที่ให้หลักประกันความเชื่อมั่น และได้รับความเชื่อถือจากประชาชน
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจจึงขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนรายชื่อกรรมการทั้ง 36 คน ว่ามีบุคคลใดอยู่ในฐานเป็นผู้มีประโยชน์ทับซ้อน อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปตำรวจครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ รวมทั้งขอให้ประธานและกรรมการทุกคนได้นำข้อเสนอในการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริงของ 42 องค์กรภาคประชาชนที่ได้เสนอไปก่อนหน้านี้ มาพิจารณาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในทุกประเด็นด้วย
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจจึงขอให้นายกรัฐมนตรีทบทวนรายชื่อกรรมการทั้ง 36 คน ว่ามีบุคคลใดอยู่ในฐานเป็นผู้มีประโยชน์ทับซ้อน อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปตำรวจครั้งประวัติศาสตร์ครั้งนี้ รวมทั้งขอให้ประธานและกรรมการทุกคนได้นำข้อเสนอในการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริงของ 42 องค์กรภาคประชาชนที่ได้เสนอไปก่อนหน้านี้ มาพิจารณาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในทุกประเด็นด้วย
ที่มา : https://www.isranews.org/thaireform/thaireform-news/57745-police-57745.html