“…สำหรับคำถามที่ว่า คุณธนาธรเป็นนักการเมือง “คนแรก” ในไทยหรือเปล่าที่โอนทรัพย์สินให้จัดการแบบ blind trust ส่วนตัวไม่แน่ใจ นักข่าวควรไปเช็ค แต่ที่แน่ๆ เป็นคนแรก (เท่าที่เคยเห็น) ที่เปิดเผยรายละเอียด MOU ต่อสาธารณะ และการระบุว่าจะไม่รับโอนทรัพย์สินกลับมาจนกว่าจะพ้นตำแหน่งการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ก็นับเป็นมาตรฐานขั้นสูง กฎเกณฑ์ลักษณะคล้ายกันนี้ (revolving door) ในหลายประเทศระบุเพียง 2 ปีเท่านั้น…” กับ “..“Blind Trust” ยังไม่มีจริงในประเทศไทย เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้นที่คุณธนาธรลงนามไปนั้น ไม่ใช่ blind trust และไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน…”
หมายเหตุสำนักข่าวอิศราwww.isranews.org : ภายหลังจากที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวเมื่อ 18 มี.ค.2562 กรณีการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนที่ถือหุ้นธุรกิจเครือซัมมิทมูลค่า 5 พันล้านบาทว่าจะใช้แนวทาง Blind trust คือโอนทรัพย์สินไปให้ trust หรือ กองทุน เป็นผู้ดูแล ส่วนใหญ่จะให้ บริษัท phatara asset management ทั้งหมดคือ หุ้นในบริษัทมหาชน ส่วน บ้าน รถ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเก็บไว้ในนามส่วนตัว และยังบอกอีกว่า วิธิการนี้จะเป็นมาตรฐานใหม่ ไม่เคยมีนักการเมืองคนไหนใช้ private fund มาก่อน เป็นนวัตกรรมใหม่ ยกระดับมาตรฐานแสดงความจริงใจให้เกิดต่อสาธารณะ (อ่านประกอบ : โอนหุ้นให้ blind trust ‘ธนาธร’ไม่ใช่คนแรก 15 รมต. 4 รัฐบาล ‘ชวน-บิ๊กตู่’ทำมาแล้ว)
ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ตามมาจำนวนมาก มีนักวิชาการ และนักการเมืองออกมาร่วมแสดงความเห็นด้วย คือ นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปลชื่อดัง และ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันไป
สำนักข่าวอิศรา นำความเห็นจากทั้งสองฝ่ายมานำเสนอให้สาธารณได้รับทราบ ณ ที่นี้
@ นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล
มีนักข่าวมาถามความเห็นต่อข่าวนี้ เลยมาแปะไว้ในนี้สั้นๆ ด้วยค่ะ เผื่อเป็นประโยชน์
1. การจัดการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญที่นักการเมืองผู้มาจากภาคธุรกิจทุกคนควรใส่ใจ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่า มุ่งคอร์รัปชันเชิงนโยบาย (ออกนโยบายเอื้อธุรกิจตัวเองหรือพวกพ้อง) หรือใช้ข้อมูลภายใน (ที่ได้จากตำแหน่งทางการเมือง) ไปซื้อหุ้นทำกำไร เรื่องนี้ รัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยก็ให้ความสำคัญมาตลอด (แต่ก็มีหลายคนหาทางซิกแซก “ซุกหุ้น” ตลอดมา อย่างเช่นคดีอดีตนายกทักษิณเมื่อหลายปีก่อน ที่ตัวเองก็เคยเขียนวิจารณ์ไปหลายรอบ)
รัฐธรรมนูญ 2560 วางเกณฑ์เข้มข้นกว่าเดิมอีก โดยมาตรา 184 ห้ามไม่ให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ถือหุ้นในบริษัทหรือกิจการที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐหรือเป็นคู่สัญญากับรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อม
2. ทีนี้ ถ้าการห้ามถือหุ้น แปลว่าต้องขายหุ้นไปให้คนอื่น นักการเมืองก็จะไม่ได้รับประโยชน์ผลใดๆ ในหุ้นนั้นอีก เท่ากับหมดสิทธิได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่(เคย)เป็นของตัวเอง ซึ่งก็จะลดแรงจูงใจของนักธุรกิจที่จะเข้ามาทำงานการเมือง
ฉะนั้นคำถามก็คือ มีวิธีใดหรือไม่ที่จะป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน โดยไม่ตัดสิทธิของนักการเมืองที่จะได้ประโยชน์จากหุ้น? คำตอบซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ทำกันทั่วโลก คือ ให้ทำข้อตกลงโอนหุ้นนั้นให้มืออาชีพทางการเงินบริหารแทน ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าจะให้ดีก็ควรให้บริหารแบบ blind trust คือ ให้เจ้าของเดิม (นักการเมือง) ไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ ในทรัพย์สินนั้นเลย ไว้ใจให้มืออาชีพบริหารจัดการแทนให้เกิดผลงอกเงย ระหว่างที่ตัวเองมีตำแหน่งทางการเมือง
การโอนหุ้นให้คนอื่นบริหารแทนนี้ กฎหมายไทยก็เปิดช่องให้ทำได้ โดย พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ออกตั้งแต่ พ.ศ. 2543 (ดูhttp://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A1106/%A1106-20-2543-a0001.htm) แต่กฎหมายนี้กำหนดเฉพาะระดับรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่รวม ส.ส. และ ส.ว. และไม่ได้ระบุว่าต้องเป็น blind trust ระบุแค่หลวมๆ ว่า ให้โอนให้กองทุนส่วนบุคคลบริหารได้
3. การลงนาม MOU ของคุณธนาธร โอนทรัพย์สินให้จัดการแบบ blind trust ก่อนที่ตัวเองจะรู้ผลการเลือกตั้ง (ยังไม่ได้เป็น ส.ส. ด้วยซ้ำ) จึงนับเป็นก้าวที่น่าชื่นชม ขยับเพดานธรรมาภิบาลนักการเมือง สังคมควรเรียกร้องให้นักการเมืองคนอื่นทำตาม
สำหรับคำถามที่ว่า คุณธนาธรเป็นนักการเมือง “คนแรก” ในไทยหรือเปล่าที่โอนทรัพย์สินให้จัดการแบบ blind trust ส่วนตัวไม่แน่ใจ นักข่าวควรไปเช็ค แต่ที่แน่ๆ เป็นคนแรก (เท่าที่เคยเห็น) ที่เปิดเผยรายละเอียด MOU ต่อสาธารณะ และการระบุว่าจะไม่รับโอนทรัพย์สินกลับมาจนกว่าจะพ้นตำแหน่งการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ก็นับเป็นมาตรฐานขั้นสูง กฎเกณฑ์ลักษณะคล้ายกันนี้ (revolving door) ในหลายประเทศระบุเพียง 2 ปีเท่านั้น
ส่วนความเห็นต่อโพสของคุณกรณ์ (ดูได้ในเพจ KornChatikavanijDP) ต่อกรณี blind trust คุณธนาธร
1. ในฐานะนักการเงิน คุณกรณ์ย่อมเข้าใจดีว่า blind trust คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร ทำงานแบบไหนในต่างประเทศ การนำคำว่า “มองไม่เห็น” มาเล่น บิดคำให้กลายเป็นเท่ากับหมายความว่า “ตรวจสอบไม่ได้” จึงไม่ถูกต้อง เพราะ blind ในคำว่า blind trust ไม่ใช่แปลว่าตรวจสอบไม่ได้ คำว่า “มองไม่เห็น” แปลตรงตัวว่า เจ้าของทรัพย์สินไม่มีสิทธิมองเห็นหรือบงการการจัดการทรัพย์สินใดๆ เท่านั้น
2. ไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ blind trust ก็จริง แต่คุณธนาธรก็ได้แสดงความประสงค์ชัดเจนแล้วใน MOU ซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณะว่า จะสร้างเงื่อนไขแบบ blind trust ขึ้นมาในสัญญาบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคล
3. blind trust ที่คุณธนาธรตั้งในครั้งนี้ เป็นการทำสัญญากับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสัญชาติไทย อยู่ในรูปกองทุนส่วนบุคคล (private fund) ในเมืองไทย ซึ่งต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ทุกประการ ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ไม่ใช่ trust ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ (แบบที่คุณกรณ์โพสว่าเคยทำ) และในเมื่อคุณธนาธรยังคงเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (กองทุนเพียงแต่รับมอบอำนาจในการจัดการมา) จึงยังต้องรายงานทรัพย์สินถ้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามกฎระเบียบของ ปปช. (เหมือนกับที่รัฐมนตรีคนก่อนๆ ที่โอนทรัพย์สินให้กองทุนส่วนบุคคลจัดการ มีหน้าที่ต้องทำเช่นเดียวกัน — แต่ย้ำอีกทีว่า ไม่มีข้อมูลค่ะว่ากองทุนเหล่านั้นอันไหนเข้าข่าย blind trust บ้าง)
4. การรายงานทรัพย์สินใน trust นี้ ต่อ ก.ล.ต. และ ปปช. (ซึ่งเป็นหน้าที่ของ trustee หรือผู้ดูแล trust) จะต้องละเอียดแค่ไหน อย่างไร เป็นเรื่องที่เจ้าของโพสนี้ไม่แน่ใจ (เพราะกฎหมาย blind trust ตรงๆ ยังไม่มีนั่นแหละ) แต่ในหลักการ การจัดตั้งโครงสร้างแบบนี้ถือว่าเป็นการวางมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว ดังนั้นถ้าจะต้องเปิดเผย อย่างมากก็ควรเปิดเผยทรัพย์สินเดิม (ณ ตอนที่สร้าง trust นั้นขึ้นมา เพราะถือว่ามีโอกาสเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกับทรัพย์สินเดิม เพราะเจ้าของรู้ว่ามีอะไรบ้าง) และยอดรวมของมูลค่าทรัพย์สินใน trust ตามกำหนดการยื่นของ ปปช. เท่านั้น (เราอยากรู้รายละเอียดทรัพย์สินก็เพราะเจ้าของทรัพย์สินมีอำนาจจัดการ สุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าเขาโอนอำนาจการจัดการไปแล้ว เราก็ไม่ต้องรู้ละเอียดขนาดนั้นก็ได้)
5. ดังนั้นคำพูดของคุณกรณ์ที่ดูจะชี้นำว่า “มองไม่เห็น” = “ตรวจสอบไม่ได้” จึงไม่เป็นความจริง พูดไม่ครบ และทำให้คนเข้าใจผิดได้ค่ะ
เสริมอีกนิดว่า คุณธนาธรเป็นนักการเมืองคนแรกที่รู้จัก ที่ 1) ประกาศว่าจะจัดตั้ง blind trust ก่อนรู้ผลการเลือกตั้ง 2) เปิดเผย MOU ต่อสาธารณะ 3) ในสัญญาจะกำหนดข้อบังคับว่า trustee จะต้องไม่ซื้อหุ้นไทย และ 4) ไม่รับโอนทรัพย์สินคืนจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 3 ปี — ทั้งสี่ข้อนี้เป็นมาตรฐานสูงที่ไม่เคยเห็นนักการเมืองคนไหนทำมาก่อนค่ะ
@ นายกรณ์ จาติกวณิช
ยิ่งมองไม่เห็น ยิ่งตรวจสอบไม่ได้
จากการแถลงข่าวเรื่อง ‘blind trust’ ของคุณธนาธร ทำให้มีสื่อบางรายได้ทักท้วง สรุปความได้ว่า การอ้างว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการทำเช่นนี้ เป็นการอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เคยมีนักการเมืองอีกหลายท่าน รวมทั้งผมด้วย เคยทำเช่นนี้มาก่อนแล้ว..
ผมขอชี้แจงตามนี้ว่า
1. “Blind Trust” ยังไม่มีจริงในประเทศไทย เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้นที่คุณธนาธรลงนามไปนั้น ไม่ใช่ blind trust และไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน
2. คุณธนาธรได้โอนทรัพย์สินให้สถาบันการเงินดูแล อันนี้หลายคนน่าจะเคยทำเหมือนกัน ผมก็เคยและวันนี้ก็ยังมีอยู่ โดยที่ผมก็ได้ลงนามสัญญาให้เขาบริหารโดยอิสระเช่นเดียวกัน
3. ผมเองเคยมี Trust อยู่ที่ต่างประเทศ และรายงานรายละเอียดทั้งหมดกับ ป.ป.ช. ตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องการรายงานบัญชีทรัพย์สิน
4. แต่หลายปีมาแล้วผมได้ตัดสินใจทำสวนทางกับที่คุณธนาธรพยายามที่จะทำ คือผมยกเลิก Trust ที่มีอยู่ เพราะผมคิดว่าความโปร่งใสสำคัญกว่า ผมคิดว่าประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในสิ่งที่คุณธนาธรได้ประกาศวันนี้ ไม่ใช่ว่าท่านเป็นคนแรกหรือไม่ แต่ที่ท่านบอกว่าทรัพย์สินที่ท่านโอนไปนี้จะ ‘มองไม่เห็น’ เพราะเมื่อทุกคนบอดสนิทกับข้อเท็จจริงว่าท่านมีทรัพย์สินอะไรบ้าง การตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะเกิดขึ้นไม่ได้
จริงๆแล้ววิธีที่ชัดเจนที่สุดที่จะปลดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนคือการขายขาด (แต่อย่าขายให้ nominee กันอีกนะครับ)
แต่หากไม่ขาย ผมว่าที่ดีที่สุดคือเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะว่าเรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ และที่ไม่ควรคือการโอนเข้าไปในที่ๆ ‘มองไม่เห็น’
——————-
ทั้งหมดนี่เป็น 2 มุมมอง ต่อกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประกาศการบริหารจัดการทรัพย์สินของตนที่ถือหุ้นธุรกิจเครือซัมมิทมูลค่า 5 พันล้านบาทว่าจะใช้แนวทาง Blind trust ส่วนเหตุผลแต่ละฝั่งเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสาธารณชน
Cr.สำนักข่าวอิศรา
สำนักข่าววิหคนิวส์