27 พ.ย. 2560 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในงานสัมมนาประจำปีคณะเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 11 “แนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุน ปี 2561 : อนาคตประเทศไทย เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย” ณ มหาวิทยาลัยรังสิต เมืองเอก จ.ปทุมธานี ถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2561 โดยตอนหนึ่งระบุว่า แม้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2561 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.1-4.7 และอัตราการส่งออกขยายตัวร้อยละ 6-8 ยังมีลักษณะเป็นการเติบโตที่กระจุกตัวในโครงสร้างเศรษฐกิจส่วนบน
อาทิ การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกของบรรษัทข้ามชาติที่ใช้เทคโนโลยีและทุนเข้มข้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ นอกจากนี้แม้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่จะฟื้นตัว แต่ยังไม่กระจายตัวมาถึงผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อย หรือ SMEs รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นยังมีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง เช่น เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ ขณะที่ภาคเกษตร ในปี 2561 คาดว่าผลผลิตสำคัญของไทยจะปรับตัวลดลงหลายชนิด เช่น ยางพารา ราคาจะลดลงอีกร้อยละ 10 น้ำตาล ลดลงอีกร้อยละ 10-20 ส่วนข้าวและข้าวโพด ราคาปรับลดลงราวร้อยละ 3 ด้วยสาเหตุจากปริมาณผลผลิตในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่ นายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัจจัยของโลกที่เป็นความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย ได้แก่
1.อาหาร แต่เดิมผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่คือไทยกับเวียดนาม แต่ระยะหลังๆ มานี้ อินเดียและจีนจากที่เคยเป็นผู้นำเข้าข้าวจากภายนอก สามารถปรับปรุงการผลิตจนเพียงพอเลี้ยงคนในประเทศได้ โดยเฉพาะอินเดียที่มีผลผลิตเหลือมากพอถึงขั้นส่งออกขายได้ จากเดิมที่อินเดียจะขายเฉพาะข้าวบาสมาติ ซึ่งเป็นข้าวเกรดพรีเมียมแบบเดียวกับข้าวหอมมะลิของไทยเท่านั้น วันนี้อินเดียจึงกลายเป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดข้าวระดับบริโภคทั่วไปแล้วอีกชาติหนึ่ง
2.เนื้อสัตว์ ที่ธุรกิจอาหารสัตว์ในไทยยังขาดแคลนพืชสำคัญอย่างข้าวโพดและถั่วเหลือง ทำให้ต้องนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าสหรัฐฯ มีข้อได้เปรียบด้านนี้มานาน เช่น มีที่ดินเพาะปลูกกว้างขวาง อีกทั้งนำเทคโนโลยีมาช่วยอย่างรถแทร็กเตอร์ ตั้งแต่เมื่อราว 100 ปีก่อนแล้ว นอกจากนี้ยังมีตลาดกลางสินค้าเกษตร ทำให้ความเสี่ยงต่อปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำมีน้อย
รวมถึง 3.พลังงาน ทั้งการที่สหรัฐฯ สามารถขุดเจาะน้ำมันด้วยเทคนิคใหม่ หรือ Shale Fracking ทำให้ลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากภายนอกได้มาก เช่นเดียวกับจีนที่เอาจริงเอาจังกับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ อาทิ มีการตั้งแนวแผงพลังรับแสงอาทิตย์ หรือ Solar Cell Farm ขนาดใหญ่ในทะเลทรายโกบี รวมถึงการผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของค่ายรถยนต์จากหลายประเทศ ทำให้หลังจากนี้ ราคาน้ำมันดิบไม่น่าจะพุ่งสูงไปแตะที่ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลอีกแล้ว
นายโอฬาร ยังกล่าวถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อาทิ ธุรกรรมทางการเงินแบบไม่ต้องใช้เงินสด เช่น หากไปดูที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ยอดนิยมของชาวจีนในการเดินทางมาท่องเที่ยว จะพบร้านค้าจำนวนไม่น้อยติดตั้งบริการ WeChatPay หรือ AliPay ที่สามารถแปลงค่าเงินจากหยวนจีนเป็นบาทไทยได้ ไม่ต้องไปแลกเงินก่อนจับจ่ายอีกต่อไป หรือการโอนเงินที่ทุกวันนี้ไม่ต้องไปทำที่ธนาคารหรือตู้ ATM แต่โอนผ่านมือถือสมาร์ทโฟน เรื่องนี้มุมหนึ่งคือความสะดวกของลูกค้า แต่อีกมุมหนึ่ง การใช้คนน้อยลงก็กลายเป็นคำถามว่าแล้วคนเหล่านี้จะให้ไปทำอะไร
นายโอฬาร กล่าวถึงสิ่งที่ไทยจะต้องปรับตัว ประกอบด้วย
1.สถาบันการศึกษาต้องทำให้เด็กไทยใช้ภาษาสากล เช่น ภาษาอังกฤษหรือภาษาจีน ในระดับที่พูดจาสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ โดยเวลาสอบต้อง “สอบพูด” และให้ชาวต่างชาติเจ้าของภาษามาเป็นคนทดสอบ หากไม่ผ่านก็ไม่สามารถจบการศึกษาได้ ซึ่งคล้ายกับตอนที่ตนเรียนอยู่ในสหรัฐฯ แล้วในมหาวิทยาลัยบังคับให้นักศึกษาทุกคนต้องฝึกว่ายน้ำให้เป็นไม่เช่นนั้นจะไม่จบการศึกษา เพราะหากประเทศไทยจะเอาดีทางด้านการท่องเที่ยว ทักษะภาษาสากลถือเป็นเรื่องสำคัญ
2.สร้างผู้ประกอบการคู่กับการกระจายอำนาจ ในบรรดาผู้จบการศึกษา จะมีบางส่วนที่ออกไปเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งต้องให้ทุกจังหวัดสามารถมีแผนพัฒนาจังหวัดของตนเองด้วย เพราะแต่ละพื้นที่มีปัญหา ความต้องการ และความเหมาะสมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน เช่น เกษตรกรภาคกลางมีจำนวนที่ดินเฉลี่ยต่อรายมากกว่าเกษตรกรภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคใต้
“ท่านต้องพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ขนาดเล็ก เสริมกับผู้ลงทุนที่เป็นคนต่างประเทศบ้างคนไทยบ้าง และเสริมกับทายาทผู้ประกอบการในจังหวัด ที่หลายคนไม่อยากรับช่วงต่อจากพ่อแม่ เราต้องเก็บคนเหล่านี้ไว้เป็นผู้ประกอบการต่อ สำหรับธุรกิจที่การพัฒนาของจังหวัดนั้นๆ บอกว่าต้องมี อีกส่วนคือต้องมีคนงานมีพนักงาน ก็ต้องพัฒนาทักษะโดยเฉพาะด้านภาษา” นายโอฬาร กล่าวย้ำ
สำนักข่าววิหคนิวส์