.
วันนี้ (22 สิงหาคม) จิราพร สินธุไพร ส.ส. ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันนี้จะส่งหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ เพื่อบอกกล่าวถึงผลของการไม่ระงับยับยั้งความเสียหายจากการใช้มาตรา 44 ปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำ เพื่อให้ใช้โอกาสในการประชุม ครม. ในวันพรุ่งนี้ ซึ่งอาจเป็นนัดสุดท้ายในการระงับยับยั้งความเสียหายจากคดีเหมืองทองอัครา ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์
.
จิราพรกล่าวว่า หนังสือฉบับนี้จะเป็นผลโดยตรงกับ พล.อ. ประยุทธ์ หากรับหนังสือแล้วยังกระทำความผิด ละเลย เพิกเฉย ครม. จะมีส่วนในความรับผิดตามมาตรา 158 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และจะเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นที่องค์กรอิสระจะนำไปพิจารณาเมื่อมีการฟ้องร้องต่อไป
.
ทั้งนี้ การปิดเหมืองแร่ทองคำโดยลุแก่อำนาจทำให้หลายคนตกงานกว่า 5 ปี ภาพลักษณ์ประเทศเสียหาย ต้องนำเงินภาษีแผ่นดินกว่า 731 ล้านบาท ไปต่อสู้คดี เมื่อรัฐบาลไทยทราบว่าสุ่มเสี่ยงที่จะแพ้คดี จึงเริ่มมีการเจรจาประนีประนอมยอมความ มีข้อเสนอของ คิงส์เกต ทั้งหมด 11 ข้อ ซึ่งมีบางข้อที่ไทยได้ดำเนินการให้กับคิงส์เกตเรียบร้อยแล้ว ได้แก่
.
1. ไทยอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่ 4 แปลงในวันที่ 19 มกราคม 2566 เพื่อเปิดทางให้บริษัทอัคราฯ กลับมาเปิดเหมืองแร่ชาตรีที่ยุติการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2560 ได้
.
2. ไทยอนุมัติอาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำจำนวน 44 แปลง เนื้อที่ทั้งหมด 397,226 ไร่ ให้บริษัทคิงส์เกต ที่เคยขอไว้ตั้งแต่ปี 2546 และไม่เคยได้รับการอนุมัติ แต่เมื่อมีคดีกับบริษัทคิงส์เกตฯ และคดียังไม่ถึงที่สุดกลับอนุมัติทันที และยังเหลืออีกราว 600,000 ไร่ ที่รอการอนุมัติเพิ่มเติม
.
3. ล่าสุด ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ให้ความเห็นชอบเรื่อง นโยบายด้านอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่องระยะแรก โดยสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกันพิจารณา ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ด้วยการกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศอีกครั้ง ซึ่งอาจเป็นการเข้าข่ายเตรียมการเปิดทางให้กับบริษัทอัคราฯ สามารถขอรับการสนับสนุนจาก BOI และการลดหย่อนภาษีได้ ตามข้อเรียกร้องของคิงส์เกตฯ ข้อที่ 4 หรือไม่ โดยข้อเรียกร้องของคิงส์เกตคือ
.
ขอสิทธิส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ที่หมดสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีเท่ากับมูลค่าการลงทุนในปี 2563 ไปแล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เคยให้ความเห็นว่า การขอขยายระยะเวลาการส่งเสริมการลงทุนให้ครอบคลุมระยะเวลาที่ถูกระงับการประกอบกิจการ ไม่สามารถดำเนินการได้ อีกทั้งกิจการเหมืองแร่ทองคำไม่ได้อยู่ในรายการส่งเสริมการลงทุน (ในกรณีขอยื่นสิทธิส่งเสริมการลงทุนใหม่)
.
นอกจากนี้ ครม. ยังจะมีมติให้กิจการเหมืองแร่ที่ไม่ได้อยู่ในรายการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI กลับมารับการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ได้ ซึ่งย้อนแย้งกับประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม ตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ที่กำหนดให้ต้องจัดทำ ‘กรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ’
.
โดยกำหนดวิธีการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาแหล่งแร่ทองคำไว้ว่า ‘ไม่มีการให้สิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมการลงทุนให้กับโครงการทำเหมืองแร่ทองคำด้านภาษีต่างๆ’ แต่ ครม. กลับกระทำการขัดกับประกาศกระทรวงเสียเอง แม้การส่งเสริมการลงทุนจะเปิดทางให้เหมืองแร่หลายชนิดขอรับสิทธิประโยชน์ได้ แต่กิจการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยในขณะนี้เหลือเพียงแห่งเดียวที่ยังประกอบกิจการอยู่ คือ บริษัทอัคราฯ เท่ากับว่าการที่ ครม. มีมติเช่นนี้ เป็นการกรุยทางเอื้อประโยชน์ให้กับอัคราฯ ผูกขาดการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยหรือไม่ หากกระทำการสำเร็จ อาจทำให้ไทยสูญเสียเงินภาษีซึ่งเป็นรายได้แผ่นดินนับหมื่นล้านบาท
.
จิราพรกล่าวอีกว่า การที่ไทยมีการเจรจาให้สิทธิต่างๆ และผลประโยชน์ของประเทศที่เกินกว่าข้อพิพาทแก่บริษัทคิงส์เกตฯ ไป เพื่อนำไปสู่การถอนฟ้อง เป็นการปัดความรับผิดชอบมาไว้ที่แผ่นดินให้รับผิดแทน พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งเท่ากับว่า พล.อ. ประยุทธ์ได้ยอมรับแล้วว่าการใช้มาตรา 44 เป็นคำสั่งที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง จนทำให้ประเทศไทยต้องก้มหน้าก้มตาคืนสิทธิเดิม เพิ่มเติมด้วยสิทธิประโยชน์ใหม่มากมาย จึงอยากให้พี่น้องประชาชนจับตาดูข้อเสนอของบริษัทคิงส์เกตฯ ที่เหลือ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องข้อที่ 8 ซึ่งขอให้ไทยแก้ไขปัญหาทางกฎหมายในท้องถิ่นที่ค้างอยู่ทั้งหมด คือการยุติคดีของบริษัทคิงส์เกตฯ ที่อยู่ใน ป.ป.ช., DIS, ปปง. และกองปราบปราม
.
“หาก พล.อ. ประยุทธ์มีสามัญสำนึกรับผิดชอบมากพอ ก็ไม่ควรอยู่รอจนถึงวันที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งว่าครบ 8 ปีหรือยัง ถ้ายังพอมีสามัญสำนึกอยู่บ้าง ก็ควรจะแสดงความรับผิดชอบออกไปตั้งนานแล้ว ไม่ต้องรอทำความเสียหายให้กับประเทศนานขนาดนี้ แต่ถ้าดันทุรังจะอยู่ต่อจนถึงวันที่ลงจากอำนาจ พรรคเพื่อไทยจะเสนอตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ตรวจสอบเรื่องเหมืองทองอัคราอย่างเข้มข้นและถึงที่สุด เพื่อหาคนรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นให้ได้” จิราพรกล่าวในที่สุด
.