เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2565 นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีสภาผู้แทนราษฎรล่มบ่อย ว่า เกิดจากการประสานงานวิปฝ่ายรัฐบาลที่ล้มเหลว ไม่สามารถควบคุมเสียง ส.ส.ในสภาได้ ทั้งนี้ กติกาที่ทราบกันคือฝ่ายรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา ก็จะเป็นฝ่ายที่ได้นั่งในตำแหน่งของฝ่ายบริหารด้วย แต่ตลอดเวลา 8 ปีพบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไม่เคยให้ความสำคัญกับการประชุมสภาแต่อย่างใด
“ที่เป็นเช่นนี้เพราะพล.อ.ประยุทธ์ เข้ามามีอำนาจบริหารประเทศ โดยการยึดอำนาจเข้ามา จึงไม่ให้ความสำคัญกับนักการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ ติดว่าตัวเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นรัฐบาลที่มาจากอำนาจพิเศษ พล.อ.ประยุทธ์จึงไม่สนใจงานในสภา รวมทั้งต้องมาบริหารสภาด้วย ไม่ใช่บริหารประเทศเพียงอย่างเดียว การที่สภาล่มรายสัปดาห์ สะท้อนถึงความล้มเหลวของการแก้ปัญหา ตลอดจนการบริหารประเทศที่ไร้ทิศทางที่ชัดเจน” นายสงวน กล่าว
นายสงวน กล่าวต่อว่า ระบอบประยุทธ์เต็มไปด้วยอภิสิทธิ์ชนมากมาย ไม่เคารพกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่บริหารสภา จะเห็นได้ว่าการกู้เงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 1.5 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญกำหนดว่า รัฐบาลต้องมารายงานการใช้จ่ายเงินกู้ว่าเอาไปทำอะไร เกิดประโยชน์อย่างไรกับประชาชน แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่ให้ความสำคัญกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ส่วนสภาเองก็เกรงใจรัฐบาล จึงไม่บังคับให้ต้องมารายงานต่อสภาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
นายสงวน กล่าวว่า ขณะที่การทำงานในสภาก็เป็นไปอย่างประหลาดมาก เป็นรูปแบบเผด็จการรัฐสภา พวกมากลากไป อาทิ การลงมติ หากฝ่ายรัฐบาลไม่พอใจก็สามารถลงคะแนนใหม่ได้ ทั้งๆ ที่ตามข้อบังคับการประชุมทำไม่ได้ เพราะกำหนดไว้หากคะแนนไม่ถึง แพ้ก็ต้องยอมรับว่าแพ้ แต่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ไม่ยึดกติกา ไม่ทำตามข้อบังคับ ใช้เสียงข้างมากลากไป ขอลงมติใหม่ได้ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดแต่ไม่สนใจ
นายสงวน กล่าวต่อว่า อย่างกรณีการลงมติในมาตรา 9/1 ของร่างพ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ… ทั้งๆ ที่ตามหลักแล้วหากองค์ประชุมไม่ครบ การลงมติใหม่ก็ไม่สามารถลงมติได้ เมื่อมีการลงมติไปแล้ว ผลที่ออกมาคือฝ่ายรัฐบาลแพ้ แต่ไม่ยอมจะนับใหม่ ทั้งนี้ นายชวนต้องยึดมั่นในหลักการ อย่าเป็นไม้หลักปักเลน ต้องเป็นกลาง จะเอาใจรัฐบาลอย่างออกนอกหน้ามันไม่เหมาะสม