วันที่ 13 ต.ค.65 น.ส..ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด และอาวุธปืน โดยระบุว่า อาจมีการทบทวนกรณี การแก้ไขกฎหมายปริมาณการครอบครองยาเสพติดใหม่ ถ้าเกินกว่า 5 เม็ดควรเป็นผู้ค้า เพื่อแยกประเภทผู้เสพ และผู้ค้ารายย่อยได้ชัดเจนขึ้น และให้มีการลงโทษอย่างเด็ดขาด ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น เรื่องนี้ตนได้เคยออกมาเสนอแนะในเรื่องนี้แล้วเมื่อ 2 เดือนก่อน โดยพบว่าส่วนหนึ่งของปัญหา คือการรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดรวม 24 ฉบับเหลือ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่2) พ.ศ.2564 ที่ ‘ดูเหมือน’ จะเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิด หรือจำเลย ได้ต่อสู้หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิด โดยมีการปรับโทษให้ผู้ต้องหายาเสพติดที่เป็น ‘ผู้ค้าตัวจริง’ ได้รับโทษเบาลงนั้น ซึ่งในความเป็นจริงหากย้อนไปดูกฎหมายเดิม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 หากผู้ใดครอบครองยาเกินปริมาณที่กำหนด ให้สันนิษฐานว่า ‘ครอบครองเพื่อจำหน่าย’ และจะได้รับโทษรุนแรง แต่หลังจากได้มีการปรับการชี้วัดผู้ค้าออกจากผู้เสพ ด้วยปริมาณการครอบครองยาเสพติด เดิม ‘หากครอบครองเกินกำหนดให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้ค้า’ เปลี่ยนมาเป็น ‘การพิจารณาจากพฤติการณ์การครอบครองยาแทน’ ทำให้ ‘คนขายกลายเป็นคนเสพ’ ผู้ค้ารายย่อยตัวจริงกลายเป็นผู้เสพ และได้รับโทษเบาลง จากช่องโหว่ของกฎหมายนี้ เป็นสาเหตุทำให้ผู้ขายทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ยาเสพติดจึงไม่หายไป และยังระบาดหนักมากขึ้นทุกปีจนเกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น
น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่ออีกว่า แม้หลังเหตุโศกนาฏกรรมที่สะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศและทั่วโลกที่ส่วนหนึ่งมาจากปัญหายาเสพติด นอกจากทบทวนกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาผู้ค้า และผู้เสพให้ชัดเจนมากขึ้นแล้ว ในเรื่องการกำหนดการครอบครองยาเสพติด ในเวลานี้สถานการณ์ที่ยาเสพติดแพร่ระบาดอย่างหนักในทุกชุมชน ทางแก้เรื่องนี้อาจไม่ใช่ลดจำนวนการครอบครองยาเสพติดเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีข้อมูลผู้ค้า ผู้เสพ รวมถึงฝ่ายความมั่นคงทุกภาคส่วนต้องตรวจสอบ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อดูความเชื่อมโยงการนำเข้าสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด และรัฐบาลซึ่งเป็นต้นน้ำของการแก้ไขปัญหา มีอำนาจเต็มในการบริหารต้องเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด ผู้ค้าคือผู้ค้า ผู้เสพคือผู้ป่วย ฝ่ายนโยบาย และฝ่ายความมั่นคง คือ ด่านหน้า ทุกฝ่ายต้องทำงานอย่างแข็งขันกันทั้งองคาพยพไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ
“การแก้ไขปัญหายาเสพติด ไม่ใช่เพียงการประกาศให้ยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และตั้งคณะกรรมการ ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน ‘หัวโต๊ะ’ ลุยแก้ปัญหาสารพัดเรื่อง ฯลฯ ตั้งคณะกรรมการมาแล้วจนนับจำนวนไม่ได้ มีกี่คณะที่แก้ไขปัญหาของประเทศได้อย่างแท้จริง วันนี้สิ่งที่ประชาชนอยากได้ คือการกำหนดเป้าหมายการปราบปราม จับกุมยาเสพติด เน้นการทำงานเชิงรุก กำหนดกรอบระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน เพื่อลดปริมาณยาเสพติดในสังคมไทย เมื่อไหร่พลเอกประยุทธ์ จะเรียนรู้ว่า ‘แก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆ ก็ได้ผลลัพธ์แบบเดิมไม่เกิดประสิทธิภาพ’ ก่อนทรัพยากรมนุษย์ถูกทำลาย เสียดายโอกาสประเทศ” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว