เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ.… กล่าวถึงกรณีรัฐสภาให้กมธ.พิจารณากฎหมายลูกมาเพิ่มเติมร่างกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยการหาร 500 ว่า การหาร 500 หรือหาร 100 เป็นเรื่องการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยต้องตรากฎหมายเลือกตั้งให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2564 มาตรา 91 ฟังดูผู้คนยังสับสนพอควร ว่าอะไรหาร 100 หาร 500
เข้าใจง่ายๆ เป็นวิธีการคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้กี่คน สำหรับหลักการการหาร 500 เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสมใช้บัตรใบเดียว ซึ่งใช้กับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 มีคะแนนพึงมี มีการเอาจำนวน ส.ส.เขตที่ได้รับเลือกไปลบคะแนนพึงมี ซึ่งอาจทำให้พรรคนั้นไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย หรือได้น้อยมากเรียกกันว่าระบบ MMP แต่การหาร 100 เป็นระบบคู่ขนาน บัตรสองใบเรียกว่าระบบ MMM ซึ่งใช้กับการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 2554 เป็นระบบคู่ขนาน บัตรเลือกตั้งสองใบแยกกันนับ มีบัตร ส.ส.เขตกับบัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เขตใครชนะก็ได้เป็น ส.ส.ไป บัญชีรายชื่อก็นับสัดส่วนตามคะแนนพรรค
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ ร่างกฎหมายเลือกตั้งที่นำเสนอต่อรัฐสภา ใช้วิธีเอาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนไปหารคะแนนของพรรคการเมืองทั้งประเทศ เพื่อให้ทราบว่าคะแนนต่อส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คนเป็นกี่คะแนน แล้วหารคะแนนของพรรคการเมืองแต่ละพรรค จะทราบว่าพรรคนั้นจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อกี่คน ที่เป็นเช่นนี้เพราะทราบดีว่าเป็นระบบคู่ขนาน ไม่สามารถเอา 500 ไปหารได้ ที่สำคัญก็คือรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 ใช้ถ้อยคำเหมือนกับรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 ทุกประการ ในขณะนั้นเอา 125 หาร เนื่องจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อมี 125 คน ส.ส.เขตมี 375 คน กมธ.เสียงส่วนใหญ่ก็ใช้หาร 100 ด้วยกันเกือบจะเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด ร่างแก้ไขเพิ่มเติมทั้งสี่ร่างรวมของรัฐบาลก็เอา 100 หารทั้งหมด แต่ในชั้นการประชุมของรัฐสภา มีการกลับมติของกรรมาธิการฝ่ายข้างมากโดยเอา 500 ไปหาร ซึ่งเราเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 91 อย่างชัดเจน
“ขณะนี้คงอยู่ในขั้นตอนว่าหากเอา 500 หารต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตราอะไรบ้าง เพื่อให้สอดคล้องกัน เราเห็นว่าถ้ามาตราหลักขัดรัฐธรรมนูญ มาตราเสริมก็ย่อมขัดด้วย และสงวนความเห็นไว้เพื่อ อภิปรายในรัฐสภา คงจะมีการพิจารณากันในรัฐสภาอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 2-3 สิงหาคมนี้ ในที่สุดจะเดินไปจนจบกระบวนการของรัฐสภาหรือใหม่ อย่างไร ถ้าจบก็ต้องส่งร่างไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาว่าร่างเป็นแบบนี้ขัดรัฐธรรมนูญไหม และปฏิบัติได้หรือไม่ ถ้าความเห็น กกต.บอกว่าไม่ได้ ก็คงจะต้องมาพิจารณาในชั้นรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุดเกิดเห็นว่าไปได้ ไม่ขัด ปฏิบัติได้ พวกเราก็คงจะร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่าร่างกฎหมายนี้ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 สรุปดูเหมือนจะเป็นการเดินทางไกลอีกครั้งหนึ่ง ไตร่ตรองกันดูดีๆ แล้วกันว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมือง” นายชูศักดิ์ กล่าว