เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 24 มิ.ย.62 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พร้อมด้วยนายณรงค์ รุ่งธนวงศ์ หัวหน้าศูนย์ข้อมูลและสถิติพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นหนังสือถึง กกต. ขอให้ตรวจสอบสมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สิ้นสุดลง เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ และขอให้รีบส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยและสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่
นายเรืองไกร กล่าวอ้างว่า ส.ว.หลายคนอาจจะสงสัยว่าโอนหุ้นไปแล้ว เหตุใดยังถูกยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ จึงอยากชี้แจงว่ามีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องให้ กกต. เรียกเข้าให้ข้อมูล เพื่อให้เปิดเผยขั้นตอนการสรรหา ส.ว. ของคณะกรรมการสรรหาที่ตั้งขึ้นมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะผิดถูกอย่างไร หรือต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ขึ้นอยู่กับการตรวจสอบของ กกต.
“สำหรับ ส.ว.อีก 200 คนยังไม่ต้องน้อยใจ ทุกคนจะถูกตรวจสอบทั้งหมด โดยขณะนี้ผมกำลังร่วมกับ 7 พรรคการเมืองตรวจสอบข้อมูล รวมถึง ส.ส. 55 รายชื่อที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กำลังจะยื่นตรวจสอบ” นายเรืองไกร กล่าว
เมื่อถามว่า ส.ว.ที่มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการสรรหาของ คสช.ไม่ได้ยื่นสมัคร ต้องโอนหุ้นในช่วงใดจึงจะไม่ขาดคุณสมบัติ นายเรืองไกร กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต้องโอนหุ้นเมื่อได้รับการทาบทามจากคณะกรรมการสรรหา เนื่องจากทุกคนจะต้องกรอกข้อความในหนังสือรับรองตนเองว่า มีคุณสมบัติครบถ้วน และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ส่วน ส.ว.ที่มาจากการสมัครและผ่านการคัดเลือกกันเอง จะต้องโอนหุ้นให้แล้วเสร็จก่อนวันสมัคร เทียบเคียงกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องกรอกหนังสือรับรองว่าไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่าคณะกรรมการสรรหา ส.ว.วางระเบียบและวิธีการในการสรรหาอย่างไร การประชุมในแต่ละครั้งองค์ประชุมครบหรือไม่ ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะต้องถูกเปิดเผยโดย กกต. จะต้องเรียกทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด และเมื่อเห็นรายละเอียดในวิธีการและขั้นตอน ส่วนตัวเชื่อว่าขั้นตอนไม่ถูกต้องโดยคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่ได้กำหนดขั้นตอนและไม่มีวิธีการอะไรเลย โดยก่อนหน้านี้ตนได้ยื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ
“ที่นายวิษณุ บอกว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อกรรมการได้นั้นไม่เป็นความจริง อย่าใช้รัฐธรรมนูญลักลั่น ผมไม่อยากใช้คำว่าอย่าแถกันไปมา แต่เรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามกำหนดไว้ชัดในรัฐธรรมนูญ ส.ว.จึงต้องโอนหุ้นให้แล้วเสร็จเมื่อได้รับการทาบทาม หรือในช่วงต้นเดือน ก.พ.62 ส่วนที่นายวันชัย สอนศิริ ขู่จะฟ้องกลับนั้น ผมยินดี เพราะตามข้อเท็จจริงคุณวันชัย โอนหุ้นให้ลูกเขยในเดือน เม.ย. ไม่ใช่เดือนก.พ.” นายเรืองไกร กล่าว
นายเรืองไกร ยังระบุว่า นอกจากนี้ยังจะตรวจสอบการถือหุ้นของ ส.ว.อีกกว่า 400 คน ทั้งที่อยู่ในบัญชีสำรอง และผู้ได้รับการคัดเลือกในรอบแรก โดยเฉพาะนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. ที่ตรวจสอบได้เบื้องต้นพบว่าถือหุ้นในบริษัทใหญ่ แต่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เรื่องการดำเนินธุรกิจสื่อ หรือพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวาณิช ที่ถือหุ้นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ที่ถือหุ้นด้วยตัวเองและภรรยาจำนวนมาก โดยเฉพาะหุ้นของมหาวิทยาลัยเอกชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ 21 ส.ว. ที่นายเรืองไกร ได้ร้องและระบุในหนังสือร้องเรียน ทั้งหมดมีการโอนหุ้นหลังรับตำแหน่ง ส.ว.แล้ว แต่ต้องการให้ กกต.ตรวจสอบว่ามีการโอนจริงหรือไม่ ประกอบด้วย
1.นายวันชัย สอนศิริ 2.ว่าที่ร้อยตรีวงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี 3.นายระวี รุ่งเรือง 4.นายยุทธนา ทัพเจริญ 5.พล.อ.อ.มนัส รูปขจร
6.นางสาวภัทรา วราวิตร 7.พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย 8.พล.ต.ท.พิสัณห์ จุลดิลก 9.นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ 10.นางประยูร เหล่าสายเชื้อ
11.นางเบญจรัตน์ จริยธาราสิทธิ์ 12.นายบรรชา พงศ์อายุกูล 13.นายนิอาแซ ซีอุเซ็ง 14.นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ 15.พล.ร.อ.ฐนิธ กิตติอำพน
16.นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล 17.ว่าที่ร้อยตรีเชิดศักดิ์ จำปาเทศ 18.นายเฉลียว เกาะแก้ว 19.นายกูรดิสถ์ จันทร์ศรีชวาลา 20.นายกำพล เลิศเกียรติดำรงค์ และ 21.นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา
Cr.naewna
สำนักข่าววิหคนิวส์