.
วันนี้ (21 มิถุนายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงกรณีมีการร้องเรียนผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่าลงสมัครผิดกลุ่ม ไม่ตรงกับคุณสมบัติ ว่า ตามมาตรา 16 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 กำหนดให้ผู้สมัคร สว. ต้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องเป็นจริงของเอกสารและหลักฐานอันแสดงว่ามีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงาน ด้านใดด้านหนึ่ง และต้องมีพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้สมัครมีคุณสมบัติเช่นนั้นจริง หากผู้สมัครหรือพยานลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานประกอบการสมัครเป็นเท็จ อาจมีโทษตามมาตรา 75 ของกฎหมายเดียวกัน
.
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและถูกต้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้บันทึกเจตนารมณ์ไว้ในความมุ่งหมายของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มาตรา 107 ว่า ในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทำให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มหนึ่งได้
.
โดยคำว่า ‘ความรู้’ ที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่งของมาตรานี้ มิได้หมายความถึงความรู้ที่จะวัดกันด้วยประกาศนียบัตรหรือปริญญาทั้งปวง แต่หมายถึงความรู้ที่บุคคลมีอยู่จริงในด้านต่างๆ เช่น ความรู้ในการทำนา ความรู้ในการทำการประมง หรือความรู้ในการเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ รวมทั้งเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 13 (3) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 สำนักงาน กกต. จะได้ศึกษา พร้อมทั้งจัดทำความเห็นเสนอต่อ กกต. เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องคัดค้านโดยเร็วต่อไป
.
ส่วนกรณีมีผู้มายื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้สมัคร สว. ระดับอำเภอและระดับจังหวัด ไม่ลงคะแนนเลือกตนเองในรอบแรกนั้น สำนักงาน กกต. อยู่ระหว่างดำเนินการสืบสวนและไต่สวนตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2566 หากข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติ และรับฟังได้ว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามที่กฎหมายกำหนด จะดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
.