วันนี้ (10 พ.ค.) เมื่อเวลา 09.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าตรวจสอบเว็บไซต์และแพลตฟอร์มที่มีการนำเสนอโฆษณาด้านการตลาดในลักษณะที่ก้าวล่วงสถาบันของลาซาด้า และที่คล้ายกัน ว่า ขณะนี้เรากำลังรวบรวมพยานหลักฐานและทำงานร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งได้ดำเนินคดีไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งไปที่ศาล เพื่อขอให้ปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์ม รวมถึงการแชร์ผ่านยูทูบ ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก เบื้องต้นพบทั้งหมด 42 ยูอาร์แอล อย่างไรก็ตาม โดยปกติหากแพลตฟอร์มเหล่านี้ได้รับการแจ้งจากดีอีเอส จะมีการปิดตัวเองอยู่แล้ว เพราะหากไม่ปิดจะมีความผิด คือ เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์และกฎหมายอื่น
เมื่อถามว่า ขณะนี้สั่งปิดกี่ยูอาร์แอลแล้ว นายชัยวุฒิ กล่าวว่า กำลังตรวจสอบอยู่ แต่คาดว่า น่าจะสามารถปิดได้เกือบทั้งหมด เพราะมีความผิดชัดเจน เมื่อถามว่า จะมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้อีกอย่างไร นายชัยวุฒิ กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด เอเยนซีโฆษณา อินฟลูเอนเซอร์ และผู้ที่อยู่ในวงการประชาสัมพันธ์ต้องมีจรรยาบรรณและมีสมาคมวิชาชีพดูแล เพื่อหารือกันว่า การทำโฆษณาต้องถูกกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม ไม่บูลลี่ หรือทำให้สังคมเกิดความรู้สึกไม่ดี จึงต้องมีการกำกับดูแลระหว่างกัน หากให้หน่วยงานหรือรัฐบาลไปสั่งก็คงไม่เหมาะสม เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็อยากให้เคารพกฎหมายและเป็นไปตามบริบทที่สังคมไทยรับได้ อะไรที่สังคมไทยรับไม่ได้ ก็อย่าไปทำ หากไปทำอะไรที่ขัดความรู้สึกคนไทย สุดท้ายธุรกิจทำโฆษณาก็จะเสียหายเอง
เมื่อถามว่า การที่หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานออกมาแบนลาซาด้า จะกระทบต่อภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือไม่ เพราะสื่อต่างประเทศรายงานเรื่องนี้ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ตนคิดว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิของคนไทย และองค์กรต่างๆ ที่จะตอบโต้การกระทำที่ไม่เหมาะสม ทั้งลาซาด้า และแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในทางที่ไม่เหมาะสม ถ้าไม่ตักเตือนและส่งสัญญาณว่าเราไม่เห็นด้วย ก็จะมีการทำแบบนี้กันอีกไม่จบไม่สิ้น เราจึงต้องส่งสัญญาณให้ภาคธุรกิจและต่างชาติรับรู้ว่า คนไทยรับไม่ได้กับสิ่งเหล่านี้ และให้หยุดการกระทำอย่ามาทำแบบนี้ในประเทศไทย เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่ว่าจะกระทบความสัมพันธ์ เพราะลาซาด้าเป็นแพลตฟอร์มจากประเทศจีน นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ก็ต้องคิดถึงคนไทยเหมือนกัน จะคิดว่าอยากทำอะไรก็ได้ มันไม่ถูก เป็นคนจีนก็ต้องเคารพกฎหมายไทยและความรู้สึกของไทย
เมื่อถามว่า เอเยนซีผู้จัดทำโฆษณาจะมีความผิดมากกว่าลาซาด้าใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ตนคิดว่าในหลักการ ต้องเริ่มจากการตรวจสอบเอเยนซีผู้จัดทำโฆษณา เพราะแพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ ไม่ได้เป็นผู้จัดทำโฆษณา อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีอัลกอริทึมและกฎหมายป้องกันและแก้ไขให้ทันในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่รอจนคนไทยด่าทั้งประเทศแล้วค่อยมาแก้