ธปท.ใต้เผยปีนี้เศรษฐกิจใต้ไตรมาส 2 ยังขยายตัว คาดยังคงดีต่อเนื่องต่ออีก 3 เดือน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 เผยภาพรวมเศรษฐกิจภาคใต้ยังขยายตัวได้ดี ทั้งการท่องเที่ยวและภาคเกษตร ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสต่อไปก็คาดว่าจะดีอย่างต่อเนื่องจากปัจจัยสนับสนุนทั้งการท่องเที่ยว และการส่งออกเป็นสำคัญ
วันนี้ (2 สิงหาคม 2560) ที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ เป็นประธานการแถลงข่าวสรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 โดยมี สื่อมวลชนทุกแขนงเข้าร่วมรับฟังโดยพร้อมเพรียงกัน
นางสุรีรัตน์ ลัคนานิตย์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า โดยภาพรวมผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นทั้งปาล์มน้ำมัน ยางพารา และกุ้ง ทำให้ราคาสินค้าเกษตรชะลอตัว ส่วนภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวเล็กน้อย ตามความต้องการซื้อจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ในส่วนของด้านการท่องเที่ยวก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ทั้งนักท่องเที่ยวจีนและมาเลเซีย ด้านอุปโภคบริโภคขยายตัวชะลอลงตามการชะลอตัวของยอดขายสินค้าในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ แม้การใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐลดลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทรงตัว ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากไตรมาสก่อนตามราคาอาหารสดและน้ำมันเชื้อเพลิง และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ส่วนของแนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ก็คาดว่ายังคงขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการพื้นตัวของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีน และการส่งออกสินค้าสำคัญก็ยังคงมีอยู่ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐก็ยังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญจากการเร่งเบิกจ่ายก่อนสิ้นปีงบประมาณ ด้านปัจจัยเสี่ยงก็คงต้องมองความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน อีกด้วย
และในส่วนของสถิติการรับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านสายด่วน 1213 ภาคใต้ไตรมาส 2 ก็มีสถิติการให้บริการ 2,013 รายการ แบ่งเป็นสอบถามข้อมูลปรึกษา 96.7% ร้องเรียน 1.4% และข้อเสนอแนะ 1.9%
นอกจากนี้ ทาง ธปท.ก็ยังมีส่วนในการดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน ทั้งการป้องกัน โดยส่งเสริมความรู้และวินัยทางการเงิน และเมื่อเริ่มเป็นหนี้ก็มีมาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยการปรับลดวงเงินอนุมัติให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้และ ปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 20% เป็น 18% ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป เฉพาะลูกค้ารายใหม่เท่านั้น สุดท้ายคือการแก้ปัญหาหนี้ ที่จะมีคลินิกแก้หนี้ มาช่วยดูแลปรับโครงสร้างหนี้ให้อยู่ในระดับที่ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการได้ เป็นการแก้ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน
เครดิต:ภาพ/ข่าว เวปกิมหยง
อ.สาริต พรหมนรา
สำนักข่าววิหคนิวส์ รายงาน