ข่าวประจำวัน » เศรษฐกิจ » #เศรษฐกิจไทยยังไม่ติดลบ ! สภาพัฒน์ชี้ GDP ปี64 โต 1.5-2.5

#เศรษฐกิจไทยยังไม่ติดลบ ! สภาพัฒน์ชี้ GDP ปี64 โต 1.5-2.5

18 May 2021
827   0

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรกของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลง 2.6% หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี ทำให้ทั้งปี สศช.ได้ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% เหลือเพียงขยายตัว 1.5-2.5% หรือเฉลี่ยขยายตัว 2% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 63
         นายดนุชากล่าวว่า สำหรับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 63 ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 10.3% ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 1.6% และ 4.3% ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 9.3% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.0-2.0% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 0.7% ของจีดีพี
    ทั้งนี้ ส่วนสำคัญมาจากการแพร่เชื้อโรคระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ในระดับหนึ่งในช่วงปลายเดือน มี.ค. แต่กลับมีการระบาดขึ้นมารอบใหม่ในช่วงเดือนเม.ย.และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/64 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/63 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวได้ 0.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวมาต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3/63 แต่อัตราการขยายตัวเริ่มลดลงเนื่องจากปัญหาการระบาดในช่วงไตรมาสที่ 1/64
    สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยคือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ความล่าช้าในการกระจายวัคซีน ทำให้มีแนวโน้มการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยวมีความล่าช้า ประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 แสนคน สร้างรายได้เพียง 1.7 แสนล้านบาท ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อีกทั้งฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจมีปัญหาสภาพคล่อง ในขณะที่ตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
    ทั้งนี้ ในส่วนการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 64 ควรให้ความสำคัญกับการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงในระลอกใหม่ การฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด การส่งเสริมส่งออกสินค้า การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ
    “วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถเคลื่อนตัวไปได้ในระยะถัดไป เพราะฉะนั้นขอความร่วมมือในการรับฟังข้อมูลและกระจายข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เพื่อที่จะให้การฉีดวัคซีนดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วขึ้น” นายดนุชากล่าว
    สำหรับรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยในไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 93,000 ล้านบาท ลดลง 51% ส่วนมาตรการการดำเนินมาตรการเปิดประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) ส่งผลให้ในไตรมาสนี้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวน 20,172 คน (รวมนักท่องเที่ยวกลุ่ม Thailand Privilege Card) อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 16.15% ลดลงจาก 32.49% ในไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่า 52.40% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยในปี 64 จาก 3.2 ล้านคนเป็น 5 แสนคน
    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า กระทรวงการออกประกาศขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับเดือน ก.ค.2564 โดยขยายออกไปเป็นวันที่ 30 ก.ค.2564 และการยื่นแบบในเดือน ส.ค.2564 ขยายออกไปเป็นภายในวันที่ 31 ส.ค.2564 เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมทางภาษีที่บ้าน ช่วยบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่
    สำหรับการขยายเวลาการยื่นแบบดังกล่าว จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในมือผู้ประกอบการให้มีมากขึ้นและนานขึ้น โดยไม่ได้กระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงการคลังต้องบริหารจัดการกระแสเงินสดเพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการชำระภาษีที่เลื่อนออกไป
    นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการผ่านการทำธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์จากที่บ้าน หรือ Tax from Home ซึ่งทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นและนานขึ้นกว่า 2.8 แสนล้านบาท และช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและแพร่กระจายของโควิด-19) ได้เป็นอย่างดี เช่น การขยายเวลายื่นแบบฯ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต.