“อลงกรณ์”ห่วงวิกฤติการเมืองบานปลายเสนอ”3 กลไก3หลักการ”เดินหน้าแนวทางคณะกรรมการสมานฉันท์ คู่ขนานการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โพสต์เรื่อง”3กลไก3แนวทางแห่งการสมานฉันท์:ก้าวแรกยากแต่ต้องเริ่มให้ได้”ในเฟสบุ๊ควันนี้(15พ.ย.) ว่า ต้นสัปดาห์นี้ รัฐสภาจะมีการประชุมเรื่องรัฐธรรมนูญในขณะที่ความพยายามคลี่คลายปัญหาการเผชิญหน้าและความขัดแย้งด้วยแนวทางคณะกรรมการสมานฉันท์ยังเดินหน้าและเผชิญอุปสรรคบางประการ
สำหรับ มุมมองของผม ในฐานะคนไทยคนหนึ่งมองว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ขยายตัวเป็นความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายต่อเนื่องมา15ปีตั้งแต่ปี2548จนถึงปี2563แม้จะมีความพยายามดับไฟไม่ให้บานปลายขยายตัวเป็นสงครามกลางเมืองเหมือนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเช่นลิเบีย อียิปต์ และซีเรียจนบ้านแตกสาแหรกขาดเป็นบทเรียนที่เราต้องถอดรหัสเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
วันนี้มีความพยายามของหลายฝ่ายที่ช่วยกันแสวงหาทางออกเช่นข้อเสนอเรื่องคณะกรรมการสมานฉันท์ที่ท่านประธานรัฐสภากำลังขับเคลื่อนตามข้อมติของรัฐสภาซึ่งทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและรัฐบาลรวมทั้งพรรคการเมืองส่วนใหญ่แสดงจุดยืนเห็นพ้องในแนวทางดังกล่าว
แม้ยังมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยหรือยังไม่เข้าร่วมแต่ก็นับเป็นความพยายามที่ได้จุดประกายความหวังในการแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองและควรสนับสนุนให้เดินก้าวแรกและก้าวต่อไปให้ได้
ข้อเสนอเรื่อง”3กลไก3แนวทางแห่งการสมานฉันท์:ก้าวแรกยากแต่ต้องเริ่มให้ได้” นี้ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผมเคยเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งนตะวันออกกลางของสหภาพรัฐสภาระหว่างประเทศ (IPU : Inter-Parliamentary Union) รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการปรองดองและสมานฉันท์ คณะกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.6สมัย เป็นรัฐมนตรี เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์4สมัยในช่วง30ปีของชีวิตการเมืองรวมทั้งประสบการณ์ก่อนหน้านี้ที่ผ่านเหตุการณ์14ตุลาคม2516 สมัยเป็นนักเรียน,6ตุลาคม2519สมัยเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์และพฤษภาทมิฬ พ.ค.2535
ผมมีข้อเสนอเรื่อง ”3กลไก3หลักการแห่งการสมานฉันท์“เพื่อเติมเต็มแนวทางคณะกรรมการสมานฉันท์ได้แก่
1. กลไกการปรึกษาหารือแบบ”4ตา”(Four Eyes principle)หรือ2คน2ฝ่ายคลี่ความคิดออกมาหารือในทุกประเด็นทั้งประเด็นหลักประเด็นย่อย
2. กลไกไตรภาคี3คน3ฝ่ายนำประเด็นจากกลไกแรกมาหาจุดร่วมเดินหน้าในประเด็นที่ทำได้ก่อนจากนั้นส่งต่อไปกลไกที่3
3. กลไกคณะกรรมการสมานฉันท์ของทุกฝ่าย
ความยากของการประชุมเจรจาคือการเริ่มจากการรวมทุกฝ่ายซึ่งมักไม่ได้ผลเพราะขาดความไว้วางใจและมีความแตกต่างในข้อเสนอและจุดยืนอย่างมาก ดังนั้นการเริ่มจากการเจรจาหารือระหว่าง2ฝ่ายและขยับเป็น3ฝ่านไตรภาคีจะเริ่มต้นได้ง่าย และเมื่อเริ่มก้าวแรกได้ก็จะมีก้าวต่อไปเปลี่ยนจาก”การเผชิญหน้าเป็นการพบหน้ากัน”จากนั้นก็เป็นการประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์โดยการร้อยเรียงประเด็นที่ผ่านการหารือตกผลึกมาแล้วโดยประเด็นใดที่เห็นพ้องก็เดินหน้าต่อไปส่วนประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปก็หารือระดับ2ฝ่ายและ3ฝ่ายตามลำดับต่อไป โดยทำงานคู่ขนานกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้แต่ละฝ่ายต้องยึดหลักการ3ข้อ
1. ยึดหลัก แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างคือเริ่มต้นจากประเด็นง่ายไปสู่ยาก
2. ยึดหลักสร้างความไว้วางใจ(Confidence Building)
3. ยึดหลักประโยชน์แห่งชาติเหนือประโยชน์ส่วนตัวหรือกลุ่มหรือพรรค
สถานการณ์ในอดีตรุนแรงและร้ายแรงกว่าในปัจจุบันถึงขั้นจับอาวุธต่อสู้กับอำนาจรัฐด้วยแนวคิดปฏิวิติพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาในขณะนี้จึงยังมีความหวังที่จะช่วยกันนำประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้โดยสันติวิธีขอให้ใช้ขันติธรรมเมตตาธรรมและความยุติธรรมนำทางการแก้ปัญหาเป็นสำคัญก็จะมีความคืบหน้าและบรรลุผลตามที่คนไทยทุกคนคาดหวัง
“ทุกปัญหามีทางออก ถ้ามีกุญแจดอกที่ใช่
ก้าวแรกยากแต่ต้องเริ่มให้ได้”