หากจะพูดถึงกระแสการเมืองในช่วงนี้ต้องถือว่าเป็นช่วงที่น่าจับตาดูเป็นอย่างมาก เพราะหลายๆ อย่างเริ่มจะมีความเคลื่อนไหวแล้ว ที่เห็นได้ชัดคือการจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ รวมถึงจะมีการประชุมพรรคการเมืองเดิมในวันที่ 28 มี.ค.นี้ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ?เป็นผู้จัดประชุม จึงน่าจะเห็นท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นของพรรคการเมือง โดยเฉพาะ “เสี่ยตือ” หรือ “นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) หนึ่งในนักการเมืองที่คร่ำหวอดในวงการการเมืองมายาวนานให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวแนวหน้าออนไลน์ว่า ทำไมถึงได้หายหน้าหายตาไปจากการเมืองนานถึง 4 ปี
ถาม – ช่วงที่ว่างเว้นจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ไปทำอะไร อย่างไรบ้าง ?
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล – ช่วงเวลา 4 ปี ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ แต่ภารกิจในการที่จะดูแลทุกข์ของประชาชนก็ยังเป็นเหมือนเดิม เราต้องยอมรับว่าความผูกพันระหว่างคนที่เคยเป็นอดีตผู้แทนราษฎรกับปะชาชนไม่มีวันที่จะห่างหายไป เหมือนเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว ทั้งนี้ หากมีเวลาว่างก็ช่วยลูกทำทีมฟุตบอล แล้วก็มาเลี้ยงหลาน เราก็ถึงวัยที่จะต้องมาดูแลลูกหลานแล้ว ก็ปล่อยเด็กๆ ทำกิจกรรมที่สนใจกันต่อไป ส่วนเราก็ยืนอยู่ข้างหลังคอยให้กำลังใจให้คำปรึกษาอยู่ ส่วนเรื่องของการแถลงความคิดเห็นก็ยังมีอยู่เป็นระยะๆ โดยผ่านทางเฟซบุ๊กและทางไลน์ส่วนตัว ซึ่งได้แลกเปลี่ยนประเด็นบ้านเมืองร่วมกัน
“ชีวิตผมผูกพันกับการเมืองมาตั้งแต่เล็กจนโต ไม่ว่าจะมีสภาไม่มีสภา ถูกเพิกถอนสิทธิ ไม่ถูกเพิกถอนสิทธิ ก็ไม่มีอะไรแตกต่าง เพราะการเมืองเป็นเหมือนจิตวิญญาณของผมไปแล้ว” นายสมศักดิ์ กล่าว
ถาม – ขณะนี้ได้เตรียมวางแผนและเตรียมตัวสำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งไว้หรือไม่ ?
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล – ตอนนี้ไม่ได้มีการเตรียมการใดๆ ทั้งสิ้นเพราะในเมื่อยังไม่ปลดล็อคทางการเมืองมันก็เป็นเรื่องยากที่จะปรึกษาหารือกันอย่างเป็นงานเป็นการ ก็มีแต่พูดคุยกันทางโทรศัพท์ โดยเฉพาะในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ที่จะมีการรีเซตสมาชิกใหม่ว่าจะต้องทำแบบรูปแบบไหน ก็มีการวางทิศทางอนาคตของพรรคไว้เหมือนกัน ที่แน่ๆ คือ พูดคุยกันจนได้ข้อยุติหลังจากที่นายบรรหาร ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคเสียชีวิต ว่าพรรคจะต้องมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้จนกว่าจะได้ปลดล็อคทางการเมือง ก็คงเป็นเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ขึ้นมา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของสังคม
ถาม – มีความเห็นอย่างไรกับโรดแมปการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นภายในเดือน ก.พ. 2562 ?
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล – ประชาชนเริ่มไม่แน่ใจ แม้นายกรัฐมนตรีได้ย้ำเกี่ยวกับโรดแมปการเลือกตั้ง และก็ยืนยันในการที่จะให้ปฏิทินของระบอบประชาธิปไตยเป็นไปตามโรดแมป แต่ดูเหมือนว่ามีข้อจำกัด และมีปัญหาแทรกซ้อนเข้ามา ตั้งแต่ปฏิทินรอบแรกที่บอกว่าในปี 2561 จะมีการเลือกตั้งแน่นอน ประชาชนก็ยิ่งมั่นใจ แต่จู่ๆ กลับไปแก้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการจัดการเลือกตั้ง และต้องรอหลังจากออกประกาศราชกิจจานุเบกษาอีก 90 วัน ถึงจะมีผล ทำให้ประชาชนมองว่าทำไมต้องแก้กฎหมายฉบับดังกล่าว และไม่ประกาศให้มีผลบังคับใช้ทันที มาอ้างเหตุผลซึ่งฟังไม่ได้
“ไม่ว่าจะเป็น กกต. กับพรรคการเมืองอ้างโดยไม่เคยถาม โดยที่ไม่เคยเชิญพรรคการเมืองเข้าไป คิดเองหมด และพอมาถึงวันนี้ได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก มีการสรรหาคณะกรรมการการเลือกตั้งครบ 7 คนแล้ว แต่กลับไม่ผ่านทั้งๆ ที่หนึ่งในกรรมการสรรหาคือแม่น้ำ 5 สาย จึงทำให้ประชาชนสับสน เคลือบแคลงใจไปใหญ่ว่ามันจะเป็นไปตามโรดแมปได้อย่างไร แม้แต่กระทั้งโรดแมปที่เลื่อนไปถึงเดือน ก.พ.2562 ประชาชนก็ไม่มั่นใจอีก เพราะฉะนั้น ทำให้ความรู้สึกในเรื่องของความเชื่อถือในตัวรัฐบาลเริ่มสั่นคลอน”
ถาม – หลังจากที่นายบรรหาร เสียชีวิตได้วางตัวแกนนำพรรคไว้หรือไม่ ?
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล – เราได้แต่คุยกัน แต่ก็ได้วางเด็กรุ่นใหม่ไว้ อาทิ นายวราวุธ ศิลปอาชา บุตรชายของนายบรรหาร ศิลปอาชา นายศิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ นายเสมอกัน เที่ยงธรรม อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี นายยุทธพล อังกินันทน์ (ส.ส.ป๊อป) อดีต ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา และอดีต ส.ส.เพชรบุรี นายภราดร ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.อ่างทอง และนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล อดีต ส.ส.อ่างทอง ได้รวมตัวกันอย่างแน่เหนียว และมากำหนดทิศทางของพรรคในอนาคตใกล้ๆนี้
ถาม – การวางกลยุทธ์นำคนรุ่นใหม่ขึ้นมาจะสามารถเรียกคะแนนเสียงได้มากน้อยเพียงใด ?
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล – แนวทางของแต่ละพรรคมีวิธีคิดไม่เหมือนกัน นักการเมืองมีอยู่หลายแบบ นักการเมืองที่ภาพลักษณ์ดูดี ที่มีวิธีคิด และมีแนวปฏิบัติที่ผ่านมาดีๆ มีอยู่จำนวนมาก เพียงแต่ยังไม่ฉายแววเท่านั้นเอง ซึ่งรอบนี้คิดว่าน่าจะมีโอกาสฉายแวว ซึ่งคนพวกนี้ยังไม่มีบาดแผล ยังไม่เคยทำร้ายความรู้สึกของผู้คน ซึ่งคนพวกนี้ยังเป็นความหวังของประชาชนในระดับหนึ่ง ตนเชื่อว่าความรู้สึกนี้ยังไม่แปลเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองเก่า แต่เป็นหนุ่มรุ่นใหม่มีวิธีคิด และวิธีปฏิบัติ
“เพราะฉะนั้นผมนเชื่อว่าคนที่ยังไม่มีบาดแผลมีความตั้งใจ และได้แสดงออกให้สังคมประจักษ์จะยังไม่เป็นที่รังเกียจเหมือนรุ่นพ่อ รุ่นเก่าๆ สังคมตำนิติเตียนว่าเป็นสิ่งชำรุดของการเมืองไปแล้ว กลายเป็นคนที่ทำให้ประเทศอยู่ในวังวน ตนเชื่อว่าประชาชนก็อาจจะเหนื่อยหน่าย”
ถาม – ทางพรรคเพื่อชาติไทยพัฒนาจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ?
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล – “ผมตอบไม่ได้ แต่คงไม่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีแน่ และคงไม่มีพรรคไหนเสนอแน่ เพราะตัวท่านเองก็ตอบปฏิเสธอยู่ตลอดก็คงไม่มีพรรคไหนที่จะกล้า การสนับสนุนกับการเสนอชื่อมันไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ หากท่านตัดสินใจลงเล่นการเมืองก็แน่นอนอยู่แล้วหากท่านได้คะแนนเสียงมาก เราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน และเราก็จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แน่นอน และแน่นอนที่สุด”
ถาม – มองการเมืองไทยในอนาคตเป็นอย่างไร ?
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล – หากมองตอนนี้การเมืองไทยยังไม่เห็นทิศทางที่แท้จริงเลยว่าอนาคตจะไปทางไหน วันนี้รัฐธรรมนูญได้ประกาศใช้แล้ว พ.ร.ป.ว่าด้วยการจัดตั้
พรรคการเมืองก็ได้ประกาศใช้แล้ว แต่พรรคการเมืองนักการเมืองยังไม่สามารถที่จะทำกิจกรรมทางการเมืองได้ ไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ มันจึงเป็นเรื่องยาก หากนักการเมืองยังไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้มันก็ยังมองไม่เห็นอนาคตหรอก เพราะว่าอนาคตอยู่ภายใต้น้ำมือของ คสช.กับรัฐบาลชุดปัจจุบันที่จะกำหนด
“ส่วนนักการเมืองวันนี้ไม่มีสิทธิเลย จึงไม่มีสิ่งที่เป็นความเห็นของพรรคมันมีแต่ความเห็นที่เป็นปัจเจกบุคคล มันไม่เป็นความเห็นของพรรค”
ถาม – หากประเทศไทยยังมีกลุ่มสีและการแบ่งแยกกลุ่มการเมืองไทยยังเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ หรือจะมาจบอยู่ที่รัฐประหารเหมือนเดิมอีกหรือไม่ ?
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล – ทุกคนอาจจะพนมมือไหว้สิ่งศักดิ์ขอให้รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เป็นครั้งสุดท้าย เพราะประเทศเราไม่เคยห่างหายจากรัฐประหารเลย เว้นช่วงนานที่สุดก็ 9-10 ปี แล้วก็กลับมาเหมือนเดิมอีก การรัฐประหารไม่ได้เกิดจากการแบ่งสีเสื้อเลย เช่น รัฐประหารในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็ไม่ได้เกิดจากสีเสื้อเลย พอมาถึงสมัยของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ตอนนั้นสีเสื้อก็ยังไม่รุนแรง ที่อ้างมาเป็นสีเสื้อที่รุนแรง คือ ปี 2557 คสช.จึงต้องเข้าไปยุติสถานการณ์ตรงนั้น
“เราจะพูดไม่ได้ว่าการรัฐประหารมาจากสีเสื้อ เพราะบางครั้งก็มาจากการทุจริตเหมือนกัน เหมือนปี 2557 ก็อ้างเข้ามาเพื่อความปรองดอง แต่รัฐประหารจะครบ 4 ปีแล้ว ปรองดองก็ยังไม่เกิด ความขัดแย้งก็ยังมีอยู่ให้เห็น ซึ่งเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่มารองรับในการที่จะยึดอำนาจรัฐ แต่ยึดแล้วไม่สามารถที่จะถอนรากถอนโคนปัญหาได้ มันก็เลยกลายเป็นว่าตัวเองเข้าไปเลือกข้างสร้างปัญหาเสียเอง”
ชมคลิป
Cr.naewna
สำนักข่าววิหคนิวส์