อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีบริษัท คิงส์เกตคอนโซลิเดเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บมจ. อัครา รีซอร์สเซส ยื่นอนุญาโตตุลาการพิจารณาข้อพิพาทรัฐบาลไทย มีคำสั่งห้ามประกอบกิจการเหมืองทองคำชาตรี จ.พิจิตร และ จ.พิษณุโลก ที่จากเดิมคณะอนุญาโตฯ มีกำหนดนัดอ่านคำวินิจฉัยตัดสินวันที่ 31 ม.ค. 65 ว่า ล่าสุดทั้ง 2 ฝ่ายได้เจรจาขอเลื่อนการออกคำชี้ขาดคดีข้อพิพาทฯ ออกไปก่อน เบื้องต้นคาดว่าไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อให้มีเวลาเจรจารายละเอียดที่เหลือร่วมกันอีกครั้ง และเชื่อว่าน่าจะจบลงด้วยดี
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ไม่ทราบข่าวดังกล่าว แต่เท่าที่ทราบคือ ทางบริษัทจะกลับมาเปิดเหมืองแร่ในประเทศไทย เพราะมีการตกลงกันแล้วกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยยินยอมปฏิบัติตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ทุกประการ ซึ่งตรงนั้นไม่มีปัญหา เพราะไม่ว่าจะเป็นบริษัทใด หากมีคุณสมบัติครบถ้วนก็สามารถยื่นคำขอเข้ามาได้ โดยคณะกรรมการจะอนุญาตหรือไม่ต้องดูหลายข้อประกอบกัน เช่น สิ่งแวดล้อม มวลชน ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ หากปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านั้นได้ก็มีสิทธิยื่นขอ
ส่วนกระแสข่าวที่ว่า ไทยนำเรื่องการเปิดเหมืองแร่ไปต่อรองแลกกับการถอนเรื่องจากอนุญาโตตุลาการ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบเรื่องการต่อรองเจรจาอะไรกัน เพราะเป็นเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการ แต่การเจรจาเรื่องขอเปิดเหมืองมีมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ยังไม่ได้ต่อใบอนุญาตให้เท่านั้น เพื่อรอ พ.ร.บ.แร่ 2560 ออกมา และเมื่อมี พ.ร.บ.แร่ออกมาแล้ว และบริษัทดำเนินการตามขั้นตอน ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายของไทยทุกประการ ซึ่งเมื่อไปถึงจุดที่ยุติแล้ว ทุกฝ่ายก็ต้องชี้แจงได้ แต่วันนี้ยังไม่มีการรายงานใดๆ ให้คณะรัฐมนตรีทราบ
ด้านกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ ยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ขอให้ยกเลิกอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตร และโรงงานโลหกรรม ให้กับบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ด้วยเหตุผลว่า เป็นการอนุญาตโดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ บริษัท อัคราฯ ยังอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีเอาผิดในหลายกรณี จากกรณีประกอบกิจการทำเมืองแร่ทองคำในประเทศไทยและไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย
ส่วนความเคลื่อนบริษัท อัครา รีซอร์สเซส นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายกิจการภายนอก เชิญผู้นำท้องถิ่นในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบขุมเหมือง ในเขต จ.พิจิตร จ.พิษณุโลก และ จ.เพชรบูรณ์ รับฟังการอธิบายและตอบข้อซักถามของการกลับมาเปิดดำเนินการของเหมืองทองอัครา ว่า บริษัทได้รับการต่ออายุประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงินจำนวน 4 แปลง(เดิม) ออกไปอีก 10 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2574 และการได้รับอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม ออกไปอีก 5 ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2570
ช่วงแรก ในระยะ 5 เดือนนับจากวันที่ 1 ก.พ. 65 จะเป็นการส่งทีมช่างที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร เครื่องยนต์ พาหนะและยานยนต์ อาคารสถานที่ เข้าซ่อมแซมปรับปรุงให้ทุกอย่างมีสภาพพร้อมใช้งาน ก่อนรายงานไปยังกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมือง แร่ ให้มาตรวจความพร้อมเพื่อเข้าสู่การดำเนินกิจการ จากนั้นก็จะประกาศรับสมัครคนงาน ซึ่งมีข้อตกลงเอาไว้ว่า 90% จะต้องเป็นคนในพื้นที่รอบๆ เหมืองทองอัครา ส่วนอีก 10% จะเป็นผู้ที่มีความสามารถเฉพาะทาง
นายเชิดศักดิ์ ชี้แจงว่า ระหว่างที่รออนุญาโตฯ พิจารณาชี้ขาด บริษัทแม่เจรจากับรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นไปในแนวทางที่ดี จึงเริ่มเตรียมพร้อมเปิดเดินเครื่องการผลิตได้อีกครั้ง ส่วนประเด็นการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมถึงโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ อาชีพ การทำมาหากิน การศึกษา และอื่นๆ เหมืองทองอัครามีกองทุนตามเงื่อนไขแนบท้ายรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA หลายร้อยล้านบาท สำหรับชดเชยเยียวยาประชาชนรอบเหมือง หากเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพขึ้น