ดร.เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ การเมือง การปกครอง ได้โพสข้อความระบุว่า
เอกราชของชาติไทย
การเมืองโลกที่กำลังวุ่นวาย จากสงครามทางการค้า สงครามไวรัส สงครามอาวุธ และสงครามพลังงาน ที่นับวันจะทวีความรุนแรง ที่มีต้นเหตุมาจากยุโรปพิมพ์ธนบัตร โดยไม่มีทองคำมาค้ำประกัน แล้วออกพันธบัตรมาค้ำประกันธนบัตร จนชาติต่างๆรู้ทันและหยุดซื้อพันธบัตร หลังมีการพิมพ์พันธบัตรสูงขึ้นกว่า 50 เท่าในระยะ 3 ปี และพันธบัตรที่ถือไว้จึงแทบไร้ค่า
การเทขาย และเลิกใช้เงินดอลลาร์ ของจีน-รัสเซีย มาใช้เงินหยวน เงินรูเบิ้ล ยิ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก จากการเดินยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่ผิดพลาดของสหภาพยุโรป ด้วยการปลุกสงครามอาวุธ ด้วยการยุให้ทำสงครามในยูเครน ไต้หวัน และพม่า ทำให้สหภาพยุโรปได้ขายอาวุธเพิ่มขึ้น นำเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ
แล้วออกมาตรการคว่ำบาตร รัสเซีย จีน จนทำให้กลุ่มตะวันออกกลาง ที่เคยถูกรุกรานยั่วยุจากตะวันตก รวมตัวกับรัสเซีย ขึ้นราคาน้ำมัน และเลิกขายน้ำมันให้ประเทศหัวหอกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ อย่าง เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา
จึงส่งผลทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง หนักที่สุดในรอบ 40 ปี ราคาพลังงานก็แพงขึ้น ค่าแก๊ส ไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นถึง 10 เท่าตัว อันส่งผลกระทบมายังประเทศไทย ทั้งราคาน้ำมัน แก๊ส และไฟฟ้า นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น อันไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง
ในอดีตที่ผ่านมาในช่วงเวลาที่เกิดสงครามไม่ว่าจะรูปแบบใด ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การปกครองประเทศ ชนชั้นกรรมาชีพจะลุกขึ้นสู้ เพื่อประทังชีวิต โดยมีนักการเมือง และพรรคการเมืองที่ต้องการอำนาจสูงสุดในการปกครอง จะรวมกันให้การสนับสนุน จนเป็นที่มาของการจราจล ก่อการร้าย และสงครามกลางเมือง การล้มตายของคนในประเทศ ที่สนับสนุน และต่อต้าน ล่าสุดเกิดขึ้นในบังคลาเทศ ก่อนหน้านั้นก็เกิดขึ้นในหลายประเทศ
ในประเทศไทยก็มีความพยายามอย่างสูง ของนักการเมือง พรรคการเมือง ที่มีชายผู้น่าสังเวชเป็นผู้บงการ สั่งงานจากนอกประเทศ หวังจะกลับมาประเทศอย่างเท่ๆ หวังให้เหมือนกับการปฏิวัติในอิหร่าน หรือเรียก การปฏิวัติอิสลาม หรือการปฏิวัติ ค.ศ. 1979; เปอร์เซีย: انقلاب اسلامی, Enghelābe Eslāmi หรือ انقلاب بیست و دو بهمن) หมายถึง เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการโค่นราชวงศ์ปาห์ลาวีภายใต้พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา และการแทนที่ด้วยสาธารณรัฐอิสลามภายใต้รูฮุลลอฮ์ โคมัยนี ผู้นำการปฏิวัติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การฝ่ายซ้ายและอิสลามหลายแห่ง และขบวนการนักศึกษาอิหร่าน
ในไทยความพยายามดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จนเกิดการรัฐประหารเพื่อหยุดการกระทำ ในวันที่ 19 กันยายน 2549 เวลา 20.09 น. ทลิทโทฤกษ์ ของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน โดยการยึดอำนาจครั้งนั้น มีข้อผิดพลาดอยู่สองประการคือ
1.ระยะเวลายึดอำนาจ จัดการประเทศ ที่ให้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สั้นจนเกินไป
2.จัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน แล้วจึงจัดเลือกตั้งใหญ่ ทำให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นกว่า 7500 แห่ง จึงรุมกินโต๊ะคณะรัฐประหาร จนส่งผลให้พรรคมาตุภูมิ แพ้การเลือกตั้ง ได้ ส.ส.เพียง 1 คนคือพลเอกสนธิ หัวหน้าคณะรัฐประหารเอง
เมื่อชายผู้น่าสังเวช ได้กลับมามีอำนาจในการปกครอง ก็พยายามที่จะเข้ายึดครองและพยายามขอพระราชทานอภัยโทษ จัดคนเสื้อแดงนับหมื่นไปชุมนุมกดดันหน้าพระบรมมหาราชวัง เมื่อไม่สำเร็จจึงพยายามจะล้มการปกครอง นำทฤษฎีปฏิวัติอิหร่านมาใช้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในการยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. ภพจอมฟ้า 3 ชั้น หรือภพบัวตูม หรือภพฉัตรมงคล คณะรัฐประหารจึงมีอายุการทำงานแก้ไขปัญหาที่คงค้าง ยาวนานกว่าการรัฐประหารที่ผ่านมา โดยมีดาบอาญาสิทธิ์ (ต้นร่างมาตรา 5 อนุ 3 หรือ มาตรา 44 ในเวลาต่อมา ) และเมื่อปรับเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็หยุดการเลือกตั้งท้องถิ่น จัดการเลือกตั้งใหญ่ก่อน ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นต้องหันมาสนับสนุนคณะรัฐประหาร ไม่กล้าต่อต้าน แล้วทำอย่างอื่นอีกหลายประการ ทำให้ชนะการเลือกตั้งมาแบบเหนือความคาดหมาย
อันการเลือกตั้งในภายหน้านี้ กลุ่มนายอินทร์ ผู้ปิดทองหลังพระ ได้วางตัวบท ตามหลักนิติรัฐไว้ เชิงยุทธศาสตร์การเมืองการปกครองชั้นสูง เตรียมพร้อมรับสถานการณ์การเมืองในทุกรูปแบบ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการล้มล้างเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยได้กำหนดในรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ทั้งพระราชอำนาจ องค์กรอิสระ หลักการบริหารแล้วปกครอง เช่น การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ที่เจตนาคือป้องกันการผิดพลาด มิให้เหมือนปี 2549 ที่ชายผู้น่าสังเวชชนะ และกลับมาล้มการปกครองอีก หากได้อำนาจก็จะไม่เกิน 8 ปี แต่วางข้อกำหนดให้คณะรัฐประหารอยู่ได้ยาวนานกว่ารัฐบาล ที่ถูกเลือกมาจากสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น
กาลในภายหน้าหลักกลยุทธ์ทางการเมือง ที่ปรับใช้มาตลอดตั้งแต่ “การทหารนำการเมือง” และ ปรับมาใช้ “การเมืองนำการทหาร” นั้น ใช้ได้มาหลายขวบปีแล้ว และเริ่มเข้าสู่การจนกระดาน จะกลับมาใช้อีกก็มิได้ ย่อมจะพ่ายแพ้เป็นแน่แท้ การปรับกลยุทธ์ “นักเลง นำการทหาร” จึงเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองใหม่ ที่ให้นักเลงนำ เดินหน้าจัดระเบียบองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น 7500 แห่ง โดยมีนักการทหารคอยสนับสนุน ด้วยการปรับคณะรัฐมนตรี ใช้ ชัชวาลย์ คงอุดม ช่วยมาดูแลท้องถิ่น และคืนอำนาจรัฐมนตรีให้ธรรมนัส พรหมเผ่า แล้วปรับกระทรวงอื่นๆให้คณะรัฐมนตรี ครบ 36 คน
โดยมุ่งเป้าหมายสร้างความหวังให้กับคนไทย ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ อัตราเงินเฟ้อ ค่าแรง น้ำมัน ก๊าซ ที่พุ่งสูงขึ้น แล้วประกาศการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เชิงโครงสร้าง ด้วยการ ย้ายเมืองหลวง หรือ เมืองเท็คโนโลยี บริเวณ โคราช สระบุรี ฯลฯ ที่สภาพัฒน์ ได้ศึกษาไว้อย่างละเอียดแล้ว อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รถติด ชุมชนแออัด ในกรุงเทพฯอย่างถาวร ทำให้จะเกิดการลงทุนขนาดใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศ การจ้างงานมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
ควรจัดตั้งสภาธรรมาภิบาลเพื่อการปฏิรูป นำคู่ขัดแย้ง แกนนำฝ่ายต่อต้านเข้าสู่สภา 500 คน โดยทะยอยตั้งชุดแรก 350 คนก่อน ภาระกิจคล้ายสภาปฎิรูป ตามหลักสมประโยชน์ การต่อต้านก็จะน้อยลง ประชาชนจะหวังให้รัฐบาลอยู่ต่อสานฝัน การปฏิรูปประเทศของจริงให้เดินหน้าต่อไป จากสมัยนี้จนถึงสมัยหน้า
อีกประการหนึ่งยังคงมีคำร้องจำนวนมากอยู่ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรณีนิรโทษกรรมสุดซอย ที่อดีตประธานรัฐสภาถูกชี้มูลความผิดไปแล้ว แต่ยังมีบรรดาอดีต ส.ส.ในอดีตและปัจจุบันเกี่ยวข้องและกระทำความผิดนับร้อยคน รวมทั้งคดีอีกจำนวนมากที่ได้มีการยื่นคำร้องคงค้างการพิจารณา หากถูกนำมาพิจารณาก่อนการเลือกตั้งผู้กระทำความผิดย่อมจะได้รับผลกรรมที่ได้กระทำ เพราะ “กรรมนั้นย่อมเกิดจากการกระทำ”
แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้บรรลุดั่งเป้าหมาย ก็จำเป็นต้องพิจารณาใช้หลักนิติรัฐ ตามรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2560 หมวดพระมหากษัตริย์
มาตรา 3 อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับ มิได้
เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้น ไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
สิ่งเหล่านี้คือหลักในการบริหารประเทศ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ที่เป็นหน้าที่ของผู้นำประเทศที่จะพาองค์การ และองค์กร ก้าวสู่อนาคต ให้ประสบความสำเร็จให้จงได้ ด้วยความปรารถนาดี
“ รู้จักแผ่นดินถิ่นกำเนิด รู้จักเทิดองค์กษัตริย์ของรัฐฐา รู้จักคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา รู้จักคำว่าประชาธิปไตย มีเมตตา กรุณา มุฑิตา แก่คนทั่วทั้งชาติ มีอุเบกขาในลาภ ยศ สุข สรรเสริญ มีความเจริญ เพราะขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด สุภาพและอดทน มีใจมั่นคงรักษาเอกราชของชาติไทย “
ดร.เทอดศักดิ์ เจียมกิจวัฒนา
3 กันยายน 2565