ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #เอาแล้วไง…“มัลลิกา” โผล่จวก !! แบบนี้เจ้าสัวสบายไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทาน

#เอาแล้วไง…“มัลลิกา” โผล่จวก !! แบบนี้เจ้าสัวสบายไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทาน

4 April 2018
877   0

4 เมษายน 2561 นางมัลลิกา บุญมรกูล มหาสุข อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน www.mallikafoundation.com แถลงว่า จากความพยายามของฝ่ายกฎหมายรัฐบาล และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หาช่องทางใช้อำนาจพิเศษมาตรา44 ยืดจ่ายค่างวดคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ 5 ปี ของบริษัทโทรคมนาคม 2 รายนั้น

นางมัลลิกา กล่าวว่า ไม่เพียงจะเป็นการอุ้มเอกชน หรือ เศรษฐีซึ่งเป็นบริษัทที่รับสัมปทาน และเก็บประโยชน์จากประชาชน หรือผู้ใช้บริการไปแล้วเท่านั้น แต่เอกชนรายหนึ่งนั้นยังเป็นบริษัทที่ต่างชาติถือหุ้นเป็นเจ้ากิจการด้วย เหตุใดฝ่ายกฎหมายที่ชงเรื่องคือทั้งนักกฎหมายใกล้ตัวนายกรัฐมนตรี กับ ทีม กสทช. จึงนำสิ่งที่ตัวเองบริหารจัดการผิดพลาดและเป็นเรื่องเสี่ยงคุกตารางมายัดใส่มือนายกรัฐมนตรี และ คณะ คสช.

“การทำธุรกิจมีความเสี่ยงดังนั้นความเสี่ยงจึงควรเป็นภาระของบริษัทเอกชนเองไม่ใช่ภาระหน้าที่ของราชการ ซึ่งถ้าใช้หลักเกณฑ์นี้ทำไมไม่ใช้มาตรา44 เยียวยาให้กับความเสี่ยงของชาวนา เกษตรกร ที่ปลูกยาง ปาล์ม ปลูกข้าว ปลูกมันบ้าง ดังนั้นหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอย่าเอาแต่ชงเรื่องช่วยเหลือคนรวยไม่ช่วยคนจน ถ้า คสช. กับรัฐบาลนี้อยากจะพังเร็วก็เอามาใช้เลย” นางมัลลิกา กล่าว
หน้าที่รัฐบาลคือ ตามเอาค่าเสียหายคืนไม่ใช่อุ้มซ้ำ

วันนี้ความเสียหายของรัฐในคดีโทรคมนาคม ซึ่งส่วนราชการใส่เกียร์ว่างไม่ยอมปฏิบัติงานทวงคืนเงินแผ่นดิน ผลประโยชน์แผ่นดิน โดยเฉพาะเรื่องของวงจรดาวเทียมของประเทศไทย ซึ่งศาลมีคำพิพากษา เมื่อกุมภาพันธ์ 2553 ว่ามีการทุจริตจริงและบริษัททีโอที กับ กระทรวงดิจิตอลฯ ต้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทไทยคม และต้องยิงดาวเทียมขึ้นไปทดแทนตามสัญญา ซึ่งยังไม่ได้ทำและกำลังมีกระบวนการโมเมว่าสิทธิ์ในการใช้วงจรดาวเทียมนั้น รำพึงว่าจะให้เอกชนดูแล ซึ่งสิทธิ์นี้เป็นสิทธิ์ของประเทศชาติไม่ใช่ของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง

ประการต่อมา คดีความเสียหายจากการอนุมัติเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานมือถือ ที่ศาลระบุว่าผู้บริหารต้องชดใช้ครึ่งหนึ่งส่วนอีกครึ่งนั้นเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัททีโอที เรื่องนี้เป็นคำพิพากษาศาลชัดเจนต้องมีผู้รับผิดชอบความเสียหายนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้หายไปเฉยๆ เงินหลายหมื่นล้านบาทควรทวงกลับมาช่วยสร้างโรงเรียน สร้างโรงพยาบาล ซ่อมถนนหนทางให้คนจนได้ใช้

เพราะว่าคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2553 ระบุให้บริษัทเอกชนนั้นต้องเยียวยาค่าเสียหายให้รัฐรวมทั้งสถานะของวงจรดาวเทียมของประเทศไทยยังเป็นของประเทศชาติไม่ใช่ของเอกชนอย่าปล่อยให้เอกชนมาฮุบเพราะความรู้เท่าไม่ทันหรือเพราะสิ่งใด และดาวเทียมที่จะต้องเอามาทดแทนยังไม่ได้ยิงขึ้นไปตามสัญญา

ทั้งสองเรื่องนี้ขอให้รัฐบาลรีบแก้ไขโดยด่วน ประชาชนไม่อยากเห็นกระบวนการ “อภินิหารกฎหมาย” และพฤติกรรม “เหาะเกินลงกา” เกิดขึ้นในประเทศซ้ำซาก

สำนักข่าววิหคนิวส์