สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนทั่วประเทศ ในนาม “สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ” ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2/25560 เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูประบบงานสอบสวนของชาติโดยแยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยได้ชี้แจงกรณี ก่อนหน้านี้ มี 1 ในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ อ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่ ต้องการให้งานสอบสวนอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไปเช่นเดิม นั้น ไม่เป็นความจริง
แถลงการณ์สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ
ฉบับที่ 2/2560
สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ เกิดขึ้นจากการรวมตัวของข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่พนักงานสอบสวนทั่วประเทศส่วนใหญ่ทุกหน่วยงานในปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่รวมประมาณ 10,600 คน โดยมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูประบบงานสอบสวนของชาติโดยแยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งสหพันธ์ฯ ได้ติดตามการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญมาอย่างใกล้ชิดทุกระยะพร้อม ๆ กับประชาชนทุกภาคส่วนของสังคมพบว่า ได้มีคณะกรรมการท่านหนึ่ง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จะยังคงให้งานสอบสวนอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไปเช่นเดิม ด้วยเหตุผลว่า เป็นความต้องการของสมาคมพนักงานสอบสวนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ แต่จะปรับปรุงให้มีความเป็นอิสระ ผู้บังคับบัญชาไม่สามารถแทรกแซงหรือสั่งการได้เช่นเดียวกับพนักงานอัยการและศาล
เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติในฐานะตัวแทนของพนักงานสอบสวนส่วนใหญ่ทั่วประเทศที่แท้จริง จึงขอชี้แจงต่อพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชน ดังนี้
1.สมาคมพนักงานสอบสวนไม่ใช่ตัวแทนของพนักงานสอบสวนที่แท้จริง และการแสดงความคิดเห็นของผู้แทนสมาคมก็ไม่ใช่ความต้องการของพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ เพราะตัวนายกสมาคม อุปนายกสมาคม และเลขาธิการสมาคม ล้วนแต่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติงานสอบสวนในปัจจุบัน บางคนก็เป็นตำรวจนอกราชการที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังจะเห็นว่า ที่ตั้งสมาคมก็ได้รับอนุญาตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งอยู่ในสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี
2.คำกล่าวที่อ้างว่า งานสืบสวนกับสอบสวนไม่อาจแยกจากกันได้ เป็นวาทะกรรมหลอกลวงผู้มีอำนาจและประชาชนที่สร้างขึ้นเพื่อที่จะคงอำนาจสอบสวนให้อยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไปเท่านั้น เนื่องจากตามข้อเท็จจริงเป็นการเรียกร้องให้แยกงานสืบสวนและสอบสวนหลังเกิดเหตุออกจากตำรวจ ส่วนงานสืบสวนตรวจตราป้องกันอาชญากรรมก็ยังคงเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเช่นเดิม
3.การอ้างว่า จะปรับปรุงงานสอบสวนให้เป็นอิสระปลอดจากการแทรกแซงของผู้บังคับบัญชาเช่นเดียวกับอัยการและศาล ก็เป็นคำเท็จที่สามารถเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง เนื่องจากตราบใดที่ผู้ปฏิบัติงานสอบสวนยังคงเป็นข้าราชการตำรวจที่มีการปกครอง วินัยและระบบการบังคับบัญชาตามชั้นยศเช่นเดียวกับทหาร การแทรกแซงหรือสั่งการด้วยวาจาทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนโดยมิชอบย่อมเกิดได้ในทุกขั้นตอน
สหพันธ์พนักงานสอบสวนแห่งชาติ จึงขอสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่สั่งการตามหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 0505/ว555 ลง 3 พฤศจิกายน 2560 ข้อ 6 ว่า “…ให้แยกภารกิจด้านงานสอบสวนออกมาให้ชัดเจน โดยอาจให้บุคคลภายนอกที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่มีความรู้ความสามารถทางนิติศาสตร์และการพิจารณาอรรถคดีมาปฏิบัติหน้าที่ในการสอบสวนได้”
ขอเรียนว่า การแยกภารกิจงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าว ท่านนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องฟังเสียงตำรวจผู้ใหญ่ผู้เกรงว่าจะสูญเสียอำนาจ จึงพยายามให้ข้อมูลเท็จว่า จะเกิดความยุ่งยากและสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากนายกรัฐมนตรี จะต้องคำนึงถึงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นสำคัญและสามารถดำเนินการได้ด้วยการใช้อำนาจตาม มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โอนข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติงานในระบบงานสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกตำแหน่งทุกระดับรวมทั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องและอำนาจหน้าที่ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม โดยที่ทุกคนยังคงปฏิบัติงานสอบสวนในหน่วยงานของตนไม่ว่าจะเป็นสถานีตำรวจ กองบังคับการหรือกองบัญชาการเช่นเดิม
สำนักข่าววิหคนิวส์