ดร.ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ระบุว่า
ด่วน ; ค่าไฟฟ้าขึ้น อีก 23.38 สตางค์ต่อหน่วย
แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐ เอื้อประโยชน์นายทุนสามานย์ ผลักภาระให้ประชาชน
รัฐบาล จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ แต่รัฐกลับละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ เช่น กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนเลขแดงที่ 1013/2562 โดยคำวินิจฉัยระบุว่า กระทรวงพลังงาน ปฎิบัติหน้าที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 56 วรรคสอง “โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจําเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ รัฐจะกระทำด้วยประการใดให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดมิได้”
เนื่องจากปราฎข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ปัจจุบันรัฐได้ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ส่งผลให้กำลังการผลิตของรัฐ ซึ่งดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีเพียง 37% และลดลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังปรากฏว่ารัฐได้เปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลไฟฟ้าล่วงหน้าเป็นจำนวนมาก ย่อมมีความเสี่ยงและส่งผลกระทบต่อสัดส่วนการผลิตของรัฐในอนาคตที่จะน้อยลงกว่าเดิมอีกด้วย
ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 เสนอ ต่อกระทรวงพลังงาน ให้ทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ให้รัฐมีสัดส่วนผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายใน 10 ปีนับตั้งแต่ ปี 62 รมต.ปลัด เลขากระทรวงพลังงานที่เป็น สมุนของนายทุนสามานย์ ทำหนังสือแย้งคำวินิจฉัยของ ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ต่อมาวันที่ 15 มิ.ย.2563 พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ลงนามหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ ผผ 07/141 เรื่อง การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีเนื้อหาสรุปว่า กระทรวงพลังงานยังไม่ได้ดำเนินทบทวนยุทธศาสตร์กระทรวงพลังงานและแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP 2018) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 56 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญปี 2560
อีกทั้งไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐในโรงไฟฟ้าเอกชนเพียงพอจะแสดงให้เห็นได้ว่า รัฐมีสัดส่วนความเป็นเจ้าของไม่น้อยกว่า 51% ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ประกอบกับไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานใดที่สามารถยืนยันได้ว่า รัฐมีอำนาจเข้าไปควบคุมกำลังผลิตไฟฟ้าเอกชน เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานได้อย่างเพียงพอ
ถือว่ากระทรวงพลังงานยังมิได้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงเป็นกรณีที่ ‘ไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันได้’
ดังนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 33 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเสนอเรื่องต่อครม. เพื่อให้พิจารณาสั่งการตามที่เห็นสมควร และให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมติครม.ต่อไป จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบจะ 3 ปี ค.ร.ม.ท่านนายกรัฐมนตรี มิได้ดำเนินการใดๆเพราะว่า ชะตากรรมของธุรกิจโรงไฟฟ้าเอกชนมูลค่าหลายแสนล้านบาท ซึ่งสร้างความร่ำรวยให้นายทุนสามานย์ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้า ทั้งที่อยู่ในและนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ แม้กระทั่งหนุนส่งให้เอกชนบางกลุ่มก้าวขึ้น ‘ทำเนียบเศรษฐีไทย’ นั้น ได้อยู่ในกำมือ พล.อ.ประยุทธ์ และครม.แล้ว แต่ ค.ร.ม.ประยุทธ์ ไม่ดำเนินการใดๆและการที่ไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 33 “หากหน่วยงานของรัฐไม่ปฏิตามคำเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน แจ้ง ป.ป.ช.ดำเนินคดี
จนถึงทุกวันนี้ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ที่หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ต้องดำเนินการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน เพราะปัญหาค่าไฟฟ้าแพงเกิดจาก
1 ปัญหาการวางแผนผลิตไฟฟ้าที่เกินปริมาณสำรองไฟฟ้าเอื้อประโยชน์นายทุน จนเกิดเป็นภาระของประชาชน
2 นายทุนประมูลโรงไฟฟ้า IPP ที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่ประชาชนต้องจ่ายเงินแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย นี่คือภาระที่รัฐเอื้อนายทุนแต่ส่งภาระให้ประชาชน ถ้ารัฐทำตามคำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่น รัฐก็ไม่ต้องประกาศขึ้นค่าไฟฟ้า ในขณะเดียวกันยังลดค่าไฟฟ้าลงได้ ยูนิตละอย่างน้อย 1 บาท
ผมและภาคประชาชนในฐานะที่ได้รับความเดือดร้อน จากการไม่ปฎิบัติหน้าตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอเตือนรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องหากยังไม่รีบดำเนินการ “แก้ในในสิ่งผิด”ผมและภาคประชาชนจะดำเนินคดีกับทุกท่าน
ดร.ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน 18 มีนาคม 2565