ในฐานะเจ้าภาพเอเปคครั้งนี้ รัฐบาลสังคมนิยมของเวียดนามต้อนรับการเยือนของ 3 ผู้นำมหาอำนาจ สหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย ตั้งแต่ 10 พ.ย. ในขณะที่กว่าสามปีของรัฐบาลทหารของไทย ยังไม่มีโอกาสนี้ ภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง จะทำให้เวียดนามแซงหน้าไทยในด้านการลงทุน และความมั่นคงของภูมิภาคได้หรือไม่
หากไม่นับรวมผลประโยชน์โดยตรงจากการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ของเวียดนาม งานศึกษาหลายชิ้นสะท้อนให้เห็นศักยภาพของเวียดนามที่จะก้าวล้ำนำหน้าประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า
รายงาน “ภาพรวมเศรษฐกิจปี 2017” จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัย Economic Intelligence Center ของธนาคารไทยพาณิชย์ระบุว่า หากย้อนกลับพิจารณาการเติบโตทางเศรษฐกิจในระหว่างปี 1985-1995 เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ 9.6% ต่อปีและยังคงเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยราว 6%-7% ต่อปี
รายงานฉบับนี้กล่าวด้วยว่าต่างชาติยังให้ความสนใจลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยอ้างถึง Global Competitiveness Index 2016 จัดทำโดย Deloitte ที่ระบุว่า ผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรมของเวียดนามในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเร็วกว่าไทย และภายในปี 2020 เวียดนามจะสามารถไต่ขึ้นไปอยู่อันดับที่ 12 แซงหน้าไทยที่คาดว่าจะอยู่อันดับที่ 14 จากทั้งหมด 40 ประเทศ
แล้วไทยจะอยู่ตรงไหน?
รายงานฉบับดังกล่าว แนะนำผู้ประกอบการไทยให้มองเวียดนามไม่ได้เป็นคู่แข่ง แต่ต้องเป็นคู่ค้า โดยใช้เวียดนามเป็นฐานส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคสู่ตลาดเวียดนาม ซึ่งกำลังเติบโต ในขณะเดียวกันก็เป็นการลงทุนเพื่อเป็นส่วนเชื่อมห่วงโซ่มูลค่าในสายการผลิตของเวียดนาม
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานการค้าและการลงทุน กล่าวกับบีบีซีไทย ว่า การเดินทางเยือนของผู้นำมหาอำนาจ ในระหว่างการประชุมเอเปคสะท้อนให้เห็นว่าเวียดนามกำลังได้รับความสนใจมากขึ้น
“ผมยอมรับว่าเวียดนามในตอนนี้เนื้อหอม ไม่ว่าจะเป็นด้วยขนาดประชากรกว่า 90 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาชาติมหาอำนาจอย่าง รัสเซีย และจีนก็ให้ความสำคัญ แต่ระยะหลังสหรัฐอเมริกาเริ่มหันกลับมาให้ความสำคัญมากขึ้น จึงเลือกที่จะเข้ามาเยือนเวียดนามในระหว่างการประชุมเอเปค” นายเกรียงไกรระบุ
รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า หากพิจารณาถึงความสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์ของเวียดนามในปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในระดับสูงกว่าไทย โดยเฉพาะในการเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของจีน Belt and Road Initiative การมีแรงงานราคาถูกและมีชายแดนติดกับจีนก็ทำให้กลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติให้ความสำคัญกับเวียดนามมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้ม
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนของไทย ยังมองว่าไทยยังคงมีจุดขายที่แตกต่าง โดยเฉพาะความร่วมมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 ที่มีความต้องการพัฒนามูลค่าเพิ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ รวมทั้งการผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านการลงทุนและอาศัยความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ การเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ และใกลักับท่าเรือและท่าอากาศยาน
เร่งขยายนโยบายโด่ยเหมย 2
“นโยบายโด่ยเหมยที่เริ่มต้นนับตั้งแต่ปี 1986 ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในความเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจของเวียดนามอย่างมาก โดยลดการผูกขาดของภาครัฐ เพื่อให้มีการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้นในภาคเอกชนเป็นผลทำให้เศรษฐกิจเวียดตามเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ตลอด 10 ปีหลังจากเริ่มมีผลบังคับใช้” ดร.เลอ ฮอง เฮียบ นักวิชาการจาก สถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาในประเทศสิงคโปร์บอกกับบีบีซีไทย
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากนโยบายดังกล่าว สามารถทำให้เวียดนามหลุดพ้นสถานะของประเทศรายได้ต่ำและกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย
ดร.เลอ ฮอง เฮียบ เสนอแนะว่า แม้ว่านโยบายโด่ยเหมยยังคงทำหน้าที่ผลักดันเศรษฐกิจของเวียดนามอย่างต่อเนื่อง แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่รัฐบาลเวียดนามจะต้องเริ่มนโยบายโด่ยเหมยครั้งที่ 2 อย่างเร่งด่วน โดยมีรากฐานมาจากการปฏิรูปพรรคคอมมิวนิสต์หรือภาคการเมือง กำจัดคอร์รัปชั่น ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มุ่งไปสู่การพัฒนาโมเดลใหม่ทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงขึ้น และมีมาตรฐานการผลิตมากขึ้น รวมไปจนถึงมาตรการแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของเขตอุตสาหกรรมต่างๆ
“ผมมองว่าด้วยนโยบายใหม่จะทำให้อนาคตของเวียดนามสดใสได้ เพื่อรองรับเงินทุนจากต่างประเทศ พร้อมกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งสอดรับกับการเปิดเสรีและกระจายบทบาทของรัฐสู่ภาคเอกชน ในลักษณะเดียวกันการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” นักวิชาการรายนี้อธิบาย
ขณะที่ ดร.ฮา ฮวง ฮอบ จากนักวิชาการชาวเวียดนามที่เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมืองจากสถาบันเดียวกัน กลับมองว่า ในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า เวียดนามยังคงต้องเผชิญกับความท้าท้าย จากเรื่องอัตราการเติบโตที่ต่ำลงกว่าในปัจจุบัน เพราะว่ามีความจำเป็นต้องชำระหนี้สาธารณะที่อยู่ในอัตราสูงราวร้อยละ 65 ของจีดีพี สิ่งที่รัฐบาลเวียดนามต้องทำต่อไป นอกจากการปฏิรูปหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญการพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพสูงขึ้น พัฒนาการศึกษาและการฝึกอบรมภาคอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น
“เอเปก” ความหวังเวียดนาม
ดร.เลอ ฮอง เฮียบ บอกว่า รายงานข่าวของสื่อมวลชนไปทั่วโลกจากการประชุมเอเปคและการเยือนของผู้นำของชาติมหาอำนาจแล้วจะทำให้โลกรู้จักเวียดนามมากขึ้น
“เวียดนามสามารถใช้เอเปกเป็นเวที ที่จะบอกนานาชาติว่า มีความพร้อมที่จะเป็นเป้าหมายทางการค้าการลงทุนที่สำคัญ รวมไปถึงเป้าหมายทางการท่องเที่ยวผ่านข้อได้เปรียบที่โดดเด่นหลายประการ เช่น การมีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก เสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศ” ดร.เลอ ฮอง เฮียบ กล่าว
ผลประโยชน์อีกประการสำหรับเวียดนาม คือ การเปิดโอกาสในการขยายกลุ่มนักลงทุนจากอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ ต่อยอดจากประเทศคู่ค้าเดิมๆ อย่าง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์จะเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ เพราะความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย
สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนามประมาณการล่าสุดเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาว่า จำนวนประชากรปีนี้จะอยู่ที่ 93.7 ล้านคน สำหรับแรงงานที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปมีประมาณ 54.88 ล้านคน คิดเป็นถึงร้อยละ 58.5 ของประชากรทั้งหมด ที่สำคัญจำนวนดังกล่าวยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาจากช่วงเดียวกันในปีก่อนถึงราว 446,400 คน
“สิ่งที่เวียดนามต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตคือการถ่ายทอดทางด้านเทคโนโลยีและเงินทุนจากประเทศใหม่ๆ เช่น จีน และสหรัฐฯ ซึ่งเวียดนามได้เตรียมสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้านการลงทุนไว้ในเขตอุตสาหกรรมหลักๆ ไว้แล้ว” นายเลอ ฮอง เฮียบอธิบาย
10 ประเทศที่ลงทุนมากที่สุดในเวียดนาม (ม.ค.-ก.ค. 2560)
อันดับ ประเทศ มูลค่าการลงทุน (ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) สัดส่วน (%)
1 เกาหลีใต้ 5,623 25.63
2 ญี่ปุ่น 5,466 24.92
3 สิงคโปร์ 3,809 17.36
4 จีน 1,615 7.36
5 หมู่เกาะบริติส เวอร์จิน 1,087 4.95
6 ไต้หวัน 981 4.47
7 ฮ่องกง 885 4.03
8 ไทย 511 2.33
9 สหรัฐฯ 366 1.67
10 เยอรมนี 388 1.54
รวมทุกอันดับ/ประเทศ 21,932
ที่มา.-หน่วยงานการลงทุนในต่างประเทศของเวียดนาม
เงินลงทุนที่เวียดนามต้องการเพิ่มเติม คือ การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure investment) โดยเฉพาะด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์
“การที่เวียดนามได้รับการกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative ของจีนภายในการขับเคลื่อนโดยประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ยิ่งเป็นการเปิดโอกาสในการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับเวียดนามในอนาคตอีกด้วย แต่ต้องขึ้นอยู่กับแผนการเจรจาระหว่างสองประเทศ” นักวิชาการรายนี้กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ดร.ฮา ฮวง ฮอบ มองต่างว่า การลงทุนตามนโยบาย Belt and Road Initiative ของจีน มีขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการขยายอิทธิพล ซึ่งอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเวียดนาม
สามมหาอำนาจ
ดร.ฮา ฮวง ฮอบ มองว่าการประชุมเอเปกในครั้งนี้ไม่ได้แตกต่างจากเวทีครั้งก่อนๆ แต่สิ่งที่คาดว่าจะทำให้เวทีนี้มีความหมายมากขึ้น คือ การผลักดันให้เกิด “ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” หรือ “ทีพีพี 11” โดยกลุ่มชาติที่เหลือ 11 ประเทศ หลังจากสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ตัดสินใจถอนตัว ออกจาก ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดังกล่าวซึ่งที่รัฐบาลของนายบารัค โอบามา เป็นผู้ริเริ่มและให้การสนับสนุน
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการประชุม 11 ชาติดังกล่าว ซึ่งมีมูลค่าจีดีพีรวมกันราว 12.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ วานนี้ (10 พ.ย.) ปรากฎว่านายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดากลับไม่เข้าร่วมการประชุมเพื่อลงนามข้อตกลงดังกล่าว สร้างความผิดหวังต่อบรรดาผู้นำอีก 10 ชาติที่เหลืออย่างมาก แต่ยังคงยึดมั่นที่จะผลักดันข้อตกลงดังกล่าวต่อไป
ดร.เลอ ฮอง เฮียบ บอกว่า หากว่าเรื่องดังกล่าวประสบความสำเร็จในระหว่างการประชุมที่นครดานัง เวียดนามก็น่าจะได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวด้วย แม้ว่าจะไม่มีสหรัฐฯ รวมอยู่ด้วยก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ผลประโยชน์หรือข้อตกลงทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีระหว่างเวียดนามกับสหรัฐฯ อาจจะไม่โดดเด่นนักระหว่างการประชุมเอเปก หนังสือพิมพ์สเตทส์ไทมส์ของสิงคโปร์ระบุว่า ไม่ได้คาดหวังว่าจะบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ ในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งแตกต่างจากความร่วมมือด้านความมั่นคงแบบทวิภาคี ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ส่งมอบเรือลาดตระเวน 6 ลำ เรือยามฝั่งทนทะเลสูง 1 ลำและเรือลำเลียงอีก 1 ลำให้กับยามชายฝั่งของเวียดนาม ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์จะมีกำหนดการหารือแบบทวิภาคีกับผู้นำระดับสูงของเวียดนามในวันนี้ (11 พ.ย.) ก่อนเดินทางต่อไปยังกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 31
ขณะที่เว็บไซต์ของฟอร์บส์รายงานว่า การเยือนของประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย อาจจะไม่มีอะไรมากมาย เพราะว่าปัญหาของรัสเซียอย่างหนึ่งคือ เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะหลังจากการเยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเวียดนามเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา โดยให้คำมั่นว่าจะช่วยยุติการขาดดุลทางการค้ากับสหรัฐฯ และฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างกันได้ อีกอย่างคือ เป้าหมายอุตสาหกรรของรัสเซียและสหรัฐฯ ในเวียดนามก็ต่างกัน เนื่องจากรัสเซียให้ความสำคัญกับธุรกิจพลังงานในขณะที่สหรัฐฯ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมด้านความมั่นคง
ส่วนการเดินทางมาของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีน ดร.เลอ ฮอง เฮียบ อธิบายว่า จีนน่าจะเป็นชาติที่ได้เปรียบมากที่สุดบนเวทีแห่งนี้ เพราะคาดว่านายสีจะหยิบยกนโยบาย Belt and Road Initiative ขึ้นมาเป็นเรื่องชูโรง ซึ่งเวียดนามเองก็เป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ดังกล่าวด้วย นอกจากนี้คาดว่า จีนจะเน้นย้ำความสำคัญของธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย หรือ AIIB ซึ่งริเริ่มโดยจีนอีกด้วย
เขายังกล่าวอีกว่า ในการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ของเวียดนาม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้เวียดนามมีความได้เปรียบทางด้านการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์มากขึ้น เรื่องทั้งสองที่จีนนำเสนอ ถือเป็นสิ่งที่เวียดนามกำลังสนใจ
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตตามทัศนะของนายเกรียงไกรแห่ง ส.อ.ท. บอกว่า สำหรับผู้ประกอบการไทยนั้น ได้รับคำเตือนมาแล้วในระดับหนึ่งเกี่ยวกับการแข่งขันกับเวียดนาม สิ่งที่จะต้องเตรียมรับมือไว้คือการพัฒนาขีดความสามารถขยับไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ
ผู้ประกอบการไทยต้องปรับทัศนคติใหม่ “เปลี่ยนเวียดนามจากคู่แข่ง ให้เป็นคู่ค้า”
ที่มา:BBC Thai
สำนักข่าววิหคนิวส์