ข่าวประจำวัน » ข่าวเด่น » #เฮือกสุดท้าย !! ปูดิ้นส่งทนายยื่นศาลยื้อเวลา

#เฮือกสุดท้าย !! ปูดิ้นส่งทนายยื่นศาลยื้อเวลา

26 July 2017
640   0

                  วันที่ 26 กรกฎาคม 2560 – 10:51 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสั่งเพิกถอนคำสั่งและกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

 จากการที่ศาลสั่งยกคำร้องขอให้ส่งเรื่องโต้แย้งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 212 โดยคำร้องดังกล่าวระบุเหตุผลอันเป็นข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงโดยสรุปว่า
ประการที่ 1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 212 บัญญัติว่า “มาตรา 212 ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยมาตรา 5 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” อันเป็นกฎหมายที่ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นสภาพบังคับตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญให้ศาล (ที่พิจารณาคดีนั้นๆ) ส่งความเห็นที่คู่ความโต้แย้งนั้นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย
“ศาลจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้ โดยเฉพาะการที่ศาลฎีกาได้สั่งยกคำร้องที่โต้แย้งของจำเลย อันเป็นผลโดยตรงว่า ศาลนี้ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ มาตรา 212 แห่งรัฐธรรมนูญฯ คือ ไม่ส่งความเห็นที่คู่ความโต้แย้งต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยนั่นเอง”
ประการที่ 2 โดยบทบัญญัติของมาตรา 212 แห่งรัฐธรรมนูญฯ และโดยบทบัญญัติอื่นใดตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ไม่มีบทบัญญัติใดที่ให้อำนาจศาลที่พิจารณาคดีจะมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องที่จำเลยโต้แย้ง แล้วสั่งยกคำร้องเสียเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ศาลฎีกาจะใช้ดุลพินิจพิจารณาวินิจฉัยเองว่าคำร้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่โต้แย้งดังกล่าวไม่เข้าเกณฑ์ที่จะยื่น เพื่อให้ศาลส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 212 แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันนั้น ย่อมไม่อาจกระทำได้ เพราะนอกจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลฎีกาแล้ว ยังมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ดังกล่าวอันมีสภาพบังคับที่ไม่อาจปฏิบัติเป็นอย่างอื่นได้
ประการที่ 3 บทบัญญัติของมาตรา 212 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญฯ ได้บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำโต้แย้งของคู่ความตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาก็ได้”

จึงเป็นที่ชัดเจนตามบทบัญญัติดังกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเพียงศาลเดียวเท่านั้นที่จะมีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งรับหรือไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ศาลอื่นไม่มีอำนาจในการสั่งไม่รับเรื่องไว้พิจารณาแต่อย่างใด
ประการที่ 4 เมื่อได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกประกาศใช้ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นเดือนเดียวกันทันที โดยได้ประกาศใช้ข้อกำหนดดังกล่าวไว้ในข้อ 4 ความว่า “ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 20 แห่งข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและ การทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน ข้อ 20 การยื่นคำร้องต่อศาลตามข้อ 17 ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และข้อกำหนดนี้ การยื่นคำร้องตามข้อ 17 (11) ให้ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลทหารที่จะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีส่งความเห็นหรือคำโต้แย้งของคู่ความพร้อมด้วยเหตุผลไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง หรือกรมพระธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เพื่อส่งให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย”
ซึ่งการยื่นคำร้องตามข้อ 17 (11) ก็คือ การที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ได้ยื่นคำร้องโต้แย้งตามมาตรา 212 แห่งรัฐธรรมนูญฯ ฉบับใหม่นั่นเอง แสดงว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ออกข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อยืนยันและขยายความถึงวิธีปฏิบัติตามมาตรา 212 ว่า ศาลที่นั่งพิจารณาจะต้องส่งคำร้องที่โต้แย้งฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเท่านั้น ศาลจะไม่ส่งคำร้องที่โต้แย้งฯ โดยสั่งยกคำร้องเสียเอง หรือสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นผลให้ไม่มีการส่งคำร้องที่โต้แย้งฯ นั้นมายังศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นอันขาด
ประการที่ 5 ด้วยเนื้อหาของการโต้แย้งจากคู่ความที่จำเป็นต้องร้องขอตามมาตรา 212 เพื่อให้ศาลที่นั่งพิจารณาต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เป็นการโต้แย้งต่อการนำเอากฎหมายใด ๆ มาบังคับใช้ต่อคดี โดยอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลที่นั่งพิจารณาจึงไม่ควรเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยเสียเอง เพราะอาจขัดต่อหลักนิติธรรม และการดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางในฐานะตุลาการได้
โดยท้ายคำร้องดังกล่าว น.ส. ยิ่งลักษณ์ ยังได้วิงวอนต่อศาลว่า การพิจารณาคดีนี้ หากมีคำพิพากษาจะทำให้คดีถึงที่สุด โดยที่ไม่มีโอกาสขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้อีก “สิทธิในกระบวนการยุติธรรม” ที่คุ้มครองจำเลยไว้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเสียสิทธิไป แม้ว่าการตัดสินใจยื่นคำร้องฉบับนี้จะสร้างความลำบากใจต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเกรงว่าจะเป็นการสร้างความยุ่งยากและรบกวนจนเป็นภาระต่อองค์คณะของศาลฎีกา แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพียงต้องการวิงวอนขอความเมตตาและขอความเป็นธรรมในกรณีดังกล่าว

ทีมข่าว สำนักข่าว  vihok news