29 พ.ย. 2560 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ย่านปทุมวัน กรุงเทพฯ องค์กร Protection international ร่วมกับสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย จัดโครงการ CFLI -“Her Life, Her Diary” จัดทำ Side by Side WHRDs 2018 Diary สมุดบันทึกความหวังและความฝันของ 20 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยในช่วงหนึ่งของงานดังกล่าว นางรอกีเย๊าะ สะมะแอ ตัวแทนเครือข่ายฅนรักษ์เมืองเทพา จ.สงขลา กล่าวถึงเหตุปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อเย็นวันที่ 27 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมาว่า
แนวหน้า – เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างที่เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ไปรอยื่นหนังสือคัดค้าน ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่ จ.สงขลา จนทำให้แกนนำถูกจับกุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหารวม 16 คน ตนนั้นอยากสะท้อนให้ไปถึงนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมานายกฯ ไม่เคยฟังเสียงชาวบ้านเลย โครงการดังกล่าวมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก แต่นายกฯ ไม่เคยรู้ว่าความเดือดร้อนที่พวกเราจะต้องเจอมีอะไรบ้าง
“นายกได้โปรดฟังชาวบ้านบ้าง อย่าฟังแต่นายทุน เสียงชาวบ้านคนเดียวนายกยังต้องฟัง นี่ชาวบ้านเป็นร้อยเป็นพันคนนายกยิ่งจะต้องฟัง เหตุการณ์ที่เกิดกับพี่น้องเราสะเทือนใจมาก ชาวบ้านธรรมดาๆ ถึงกับต้องเอาทหาร ตำรวจ มาเป็นกองร้อย พูดง่ายๆ ไม่สมศักดิ์ศรีนายกเลย พวกเราไม่ใช่ฆาตกร ไม่ใช่ผู้ร้ายข้ามแดน เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดาที่อยากบอกเล่าความทุกข์ยากของเราให้นายกฟัง” นางรอกีเย๊าะ กล่าว
นางรอกีเย๊าะ ยังกล่าวอีกว่า หากโรงไฟฟ้าแห่งนี้เกิดขึ้นจะต้องเผาถ่านหินตลอด 24 ชั่วโมง โดยใช้ถ่านหินถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัม และจะปล่อยควันจากการเผาไหม้ผ่านปล่องควันที่สูงกว่า 200 เมตร ซึ่งมลพิษเหล่านี้สามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 10 วัน โดยผลกระทบเหล่านี้จะกินพื้นที่ไปถึง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย และย้ำว่าการเคลื่อนไหวคัดค้านจะมีต่อไป เพราะได้ปฏิญาณในใจแล้วว่าจะเดินหน้าลูกเดียวไม่ว่าจะเกิดอะไรกับตนขึ้นก็ตาม
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสม. ได้รับคำร้องจากนักปกป้องสิทธิจำนวนมากในการเข้าถึงกองทุนยุติธรรม โดยเฉพาะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบางคนอาจมองว่าชาวบ้านในภูมิภาคนี้อาจเป็นคนที่เห็นต่างจากรัฐ ชอบคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ จึงเกิดเป็นความหวาดระแวง และนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหา หรือจับกุม
โดยการจับกุมดำเนินคดีชาวบ้านนั้นไม่ใช่แค่เพียงคดีเดียว แต่ชาวบ้านมักถูกจับในหลายข้อหาหลายคดี เมื่อชาวบ้านใช้เงินส่วนตัวประกันตัวเองในคดีที่ 1 ไปแล้ว ถามว่าในคดีที่ 2 ที่ 3 จะนำทรัพย์สินส่วนไหนมาประกันตัวได้อีก ซึ่งการเข้าถึงกองทุนฯนั้นผู้พิจารณาคือระดับจังหวัด แต่ทางจังหวัดจะอ้างว่ากลุ่มคนเหล่านี้กระทำผิดชัดเจน เช่น ผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ โดยที่ไม่พิจารณาว่าที่ชาวบ้านต้องออกมาคัดค้านไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของตัวเอง แต่เพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาทรัพยากรให้คนรุ่นต่อๆไป
“พบว่าส่วนมาก กลุ่มทุนหรือรัฐบาลมักจะฟ้องร้องคนที่ออกมาคัดค้านโครงการ โดยบริษัทมักบอกว่าฟ้องไปก่อนแล้วค่อยไปเจรจาในชั้นศาล แต่เวลามีการเจรจาในชั้นศาลชาวบ้านมักจะเสียเปรียบ เพราะในการเจรจาในศาลเนื่องจากชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย ทำให้เสียเปรียบในการเจรจาต่อรอง อีกทั้งเมื่อถูกฟ้องจะทำให้ชาวบ้านไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือไม่สามารถพูดถึงปัญหาผลกระทบของโครงการนั้นๆ ได้อีก” นางอังคณา ระบุ
สำนักข่าววิหคนิวส์