26 ก.พ. 2564 นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า เวลา 13.30 น. ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ‘หมอลำแบงค์’ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ของศาลชั้นต้น หลังเพิ่มหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดคนละ 4 แสนบาท และมีนายประกันเป็นอดีตอาจารย์และข้าราชการระดับสูง
นรเศรษฐ์เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า หลังทราบว่าศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตประกันตัว 8 แกนนำ กปปส. โดยให้เหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว จำเลยเคยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นมาก่อน ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไม่มาศาลตามกำหนดนัด แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่โทษจำคุกสำหรับความผิดในแต่ละกระทงก็ไม่สูงนัก จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์
ทีมทนายความ จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำราษฎร ไปยังศาลอุทธรณ์ ด้วยเหตุผลหลายประการ เทียบเคียงในแต่ละประเด็นตามเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัวคดีแกนนำ กปปส. โดยสรุปดังนี้
1. คดีนี้ จำเลยได้ยื่นประกันโดยใช้เงินสดเป็นหลักประกันจำนวน 400,000 บาท เพิ่มสูงขึ้นจากการขอประกันตัวในครั้งก่อน และนายประกันซึ่งได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้งสี่ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ และพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตำแหน่งสำคัญอื่น ๆ
นายประกันทั้งสองเป็นอดีตอาจารย์และข้าราชการระดับสูง เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือและได้รับความยอมรับนับถือในสังคม การที่นายประกันทั้งสองมาเป็นนายประกันให้แก่จำเลยทั้งสี่ประกอบกับจำนวนเงินสดที่ขอประกันตัว หลักประกันจึงเชื่อถือได้ว่า หากจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะไม่หลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น และการปล่อยตัวไม่เป็นอุปสรรคต่อการพิจารณา
2. จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี หรือไม่มาตามกำหนดนัด กล่าวคือ เมื่อพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกจำเลยมารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกและปฏิบัติตามนัดของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทุกนัด ในวันนัดส่งตัวฟ้องคดี จำเลยก็เดินทางมาศาลตามกำหนดของพนักงานอัยการโจทก์ และที่สำคัญคือโจทก์ก็ไม่คัดค้านการประกันตัว
สำหรับคดีความผิดลักษณะเดียวกันนี้ ทั้งพริษฐ์และอานนท์เคยได้รับการประกันตัวและไม่เคยหลบหนี หรือไม่ไปตามนัดแต่อย่างใด
3. จำเลยทั้งสี่คนเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดีเท่านั้น ยังไม่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด ควรจะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ กล่าวคือ จำเลยเป็นเป็นเพียงคนที่ถูกฟ้องเท่านั้น ยังไม่มีการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นผู้กระทำผิด ควรจะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และสิทธิดังกล่าวยังได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29 วรรค 2
ในคดีข้อหาทางการเมืองคดีอื่น แม้ศาลชั้นต้นจะได้พิพากษาแล้วว่าจำเลยได้กระทำความผิดลงโทษจำคุกจำเลย ศาลอุทธรณ์ก็อนุญาตให้ประกัน อันถือเป็นแนวบรรทัดฐานที่ดีในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญา จึงขอศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัว เพื่อให้จำเลยได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่และเป็นธรรม
4. จำเลยทุกคนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน กล่าวคือ
พริษฐ์เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเรียนการสอนที่ทางมหาวิทยาลัยกำหนด จึงมีหน้าที่จะต้องเข้าเรียน จัดทำรายงานต่าง ๆ และเข้าสอบให้ครบตามกำหนดหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ย่อมสามารถติดตามตัวได้โดยง่าย หากต้องถูกคุมขังไว้ต่อโดยไม่ได้รับการประกันตัว ก็จะไม่สามารถศึกษาต่อตามหลักเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด อาจจะทำให้เรียนไม่จบ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิทางการศึกษาและอนาคตของพริษฐ์
อานนท์ประกอบวิชาชีพทนายความ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ต้องเดินทางมาศาลเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง มีภาระหน้าที่จะต้องรับผิดชอบว่าความ หรือให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายในคดีสิทธิมนุษยชนหลายคดี และตลอดทั้งเดือน มี.ค. 2564 และเดือนอื่นๆ ก็ต้องทำหน้าที่ทนายความจำเลยที่ศาลอาญาและศาลอื่น ย่อมสามารถติดตามตัวได้โดยง่าย
ปติวัฒน์ประกอบอาชีพเป็นหมอลำ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน เมื่อพนักงานสอบสวนออกหมายเรียก หรือกำหนดนัดก็มาตามนัดโดยตลอด
สมยศประกอบอาชีพรับจ้างอิสระ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน พนักงานสอบสวนออกหมายเรียก หรือกำหนดนัดก็มาตามนัดโดยตลอด ย่อมสามารถติดตามตัวได้โดยง่าย
หลังยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตประกันตัวของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอาญาจะส่งคำร้องดังกล่าวไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยปกติอาจจะใช้ระยะเวลา 1-3 วัน จึงจะทราบผลว่าศาลอุทธรณ์จะให้ประกันตัวหรือไม่
อย่างไรก็ตาม นรเศรษฐ์ยืนยันหลักการว่า โดยหลักแล้วทุกคนควรจะได้รับสิทธิในการประกันตัวต่อสู้คดี การไม่อนุญาตให้ประกันตัวควรเป็นเพียงข้อยกเว้นที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น