‘ระบบการแก้ปัญหาความยากจนในรูปแบบการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ จีนแก้ปัญหาความยากจนผ่านระบบพรรคการเมือง ซึ่งมีความเข้มแข็งโดยการใช้กระบวนการจัดชุดเคลื่อนที่รายหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนในระดับฐานรากเริ่มต้นจากหมู่บ้าน..’!!
เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2566 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ประชุมคณะกรรมาธิการฯ เพื่อศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาความยากจนของจีน โดยเชิญอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศและคณะเข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือประเด็นดังกล่าว เพื่อเป็นการตระเตรียมความรู้ การศึกษา และความพร้อม สำหรับคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ซึ่งมีกำหนดการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศจีนระหว่างวันที่ 26 มีนาคมถึง 2 เมษายน 2566 เรื่องการแก้ปัญหาความยากจน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน
นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และคณะ ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ‘ตามแนวทางการดำเนินงานการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศจีนที่ผ่านมา เป็นการแก้ปัญหาความยากจนในรูปแบบการปกครองของระบอบคอมมิวนิสต์ ประเทศจีนมีการแก้ปัญหาความยากจนผ่านระบบพรรคการเมือง ซึ่งมีความเข้มแข็งโดยการใช้กระบวนการจัดชุดเคลื่อนที่รายหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนในระดับฐานราก เริ่มต้นจากหมู่บ้านนำรายได้จากมณฑลที่มีการจัดเก็บรายได้ดีมาเฉลี่ยให้กับมณฑลที่มีขนาดเล็ก หรือมีการจัดเก็บรายได้น้อยเพื่อให้สามารถพัฒนาต่อไปได้’
‘มีการบูรณาการความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ภายในประเทศเพื่อร่วมมือการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศจีน ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ มณฑลที่น่าสนใจและเหมาะแก่การเดินทางเพื่อศึกษาดูงานในการแก้ปัญหาความยากจนของคณะกรรมาธิการ ฯ ดังนี้
1. เขตการปกครองตนเองกว่างซีจ้วง
1.1 ศูนย์นิทรรศการด้านการขจัดความยากจนเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง นครหนานหนิง เป็นพื้นที่จัดนิทรรศการเพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของการดำเนินการขจัดความยากจนตามนโยบายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
1.2 หมู่บ้านต้นแบบต้าลู่ อำเภอปินหยาง นครหนานหนิง เป็นเขตสาธิตทางนิเวศวิทยา ผสมผสานแนวคิดเกษตรอัจฉริยะการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยใช้ประโยชน์จากทุ่งนามาสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยว
1.3 เขตสาธิตการแปรรูปอาหารหวงซิง เป็นเขตสาธิตของอุตสาหกรรมการเกษตรและการผลิตอาหารแบบครบวงจร ภายใต้การกำกับดูแลของของบริษัท Guangxi Huangxin Food Group
1.4 อุตสาหกรรมมะลิ อำเภอเหิงโจว นครหนานหนิง เป็นแหล่งปลูกมะลิขนาดใหญ่ของประเทศจีน มีระบบอุตสาหกรรมการแปรรูปชามะลิ ซึ่งส่งออกจำหน่ายทั้งภายในประเทศจีนและต่างประเทศ สร้างรายได้ปีละประมาณ 1.06 แสนล้านบาท
2. มณฑลกุ้ยโจว
2.1 หมู่บ้านท่องเที่ยวว่านต๋า เป็นโครงการขจัดความยากจนในรูปแบบ “วิสาหกิจรับเหมาทั้งอำเภอ” พัฒนาโดยบริษัทว่านต๋า
2.2 โครงการพื้นที่ต้นแบบการปลูกบลูเบอร์รี่ออแกนิก เป็นโครงการของบริษัทกุ้ยโจวเหมาไถพัฒนาเกษตรกรรมเชิงนิเวศ จำกัด โดยใช้รูปแบบความร่วมมือ 3 ฝ่าย ได้แก่ บริษัทเอกชน สหกรณ์ และครอบครัวยากจน
3. มณฑลยูนาน
3.1 หมู่บ้านหย่งฟู่ อำเภอฟู่หมิน นครคุนหมิง เป็นโครงการต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงชนบทที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล เน้นการผสมผสานแนวคิด การเกษตร วัฒนธรรมสร้างสรรค์ และชนบทสมัยใหม่ เพื่อพัฒนาหมู่บ้านเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางการเกษตร วัฒนธรรมและสุขภาพ
3.2 หมู่บ้านหมี่ฮู่ อำเภอเป่ยกู่ นครคุนหมิง เป็นโครงการตัวอย่างลดความยากจนระดับมณฑลโดยเป็นพื้นที่ปลูกผลไม้ประเภทเชอร์รี่และแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเชอร์รี่ รวมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น การชมดอกซากุระ การเก็บเชอร์รี่ และการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์
4. มณฑลฝูเจี้ยน
4.1 หมู่บ้านเซี่ยต่าง อำเภอโซ่วหนิง เมืองหนิงเต๋อ เป็นโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยการปรับปรุงบ้านเก่าเป็นโฮมสเตย์
4.2 หมู่บ้านซิงซี อำเภอเจิ้งเหอ เมืองหนิงเต๋อ เป็นโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวในชนบท โดยการปรับปรุงนาเป็นขั้นบันไดปลูกดอกไม้และพืชผลทางการเกษตรและการแปรรูปอาหารท้องถิ่น
5. กรุงปักกิ่ง
– ศูนย์ช่วยเหลือความยากจนนานาชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นแหล่งข้อมูลและงานวิจัยส่งเสริมการเรียนรู้ในการแก้ปัญหาความยากจนให้แก่ต่างประเทศเพื่อศึกษา เรียนรู้
คณะกรรมาธิการฯ มีข้อคิดเห็นพร้อมข้อสังเกตในประเด็นข้างต้นดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก การศึกษาดูงานแก้จนจากประสบการณ์ของประเทศจีน เพื่อเรียนรู้ถึงทักษะ ประสบการณ์ และบทเรียนต่างๆ ทั้งที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จ
คณะกรรมาธิการฯ มีหลักคิดและทฤษฎีของเราว่า เราเรียนรู้บทเรียนจากจีน เพื่อเสริมสร้างมุมมองและวิสัยทัศน์ของเราให้ดีขึ้น เฉลียวฉลาดมากขึ้น แต่เราจะไม่ลอกเลียน และเดินตามประสบการณ์ที่ดีของประเทศจีนเพื่อมาปรับใช้กับประเทศไทยเด็ดขาด เพราะคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าทั้งประเทศจีนและประเทศไทยต่างเป็นประเทศที่มีลักษณะพิเศษและอัตลักษณ์ของตนเอง เราจึงไม่สามารถนำเข้า (import ) หรือโยกย้ายปัจจัยและเงื่อนไข (factors and conditions) ความสำเร็จต่างๆของประเทศจีนมาติดตั้งในประเทศไทยได้
ประเด็นที่ 2 การศึกษาการแก้ปัญหาความยากจนในรูปแบบของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น เพื่อศึกษารูปแบบและแนวคิดเชิงระบบในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการคัดเลือกพื้นที่หรือสถานที่ให้เหมาะสมนั้น ควรคำนึงถึงรูปแบบการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ที่ผ่านมาซึ่งได้ดำเนินการโดยการใช้รูปแบบ Stock , Flow และ System-transformations ที่จะสามารถนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานการแก้ปัญหาความยากจนในประเทศไทยของคณะกรรมาธิการฯให้มีประสิทธิภาพและทำให้มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีมากยิ่งขึ้น
ประเด็นที่ 3 ในแต่ละพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีลักษณะที่แตกต่างกัน ควรพิจารณมณฑลหรือสถานที่ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศใกล้เคียงกับประเทศไทย เพื่อจะสามารถนำแนวคิดและวิธีการที่ได้ศึกษาการแก้จนจากประเทศจีนมาปรับใช้กับประเทศไทยได้จริง และค่อนข้างสะดวก
ประเด็นที่ 4 คณะกรรมาธิการฯ มีความประสงค์ที่จะขอให้มีการบรรยายพิเศษและการอภิปรายซักถามอย่างเข้มข้นในห้องประชุม ก่อนที่จะลงไปศึกษาดูงานที่เป็นจริง
ประการที่ 5 คณะกรรมาธิการฯ มีความสนใจศึกษาดูงานในเรื่องของการทำการเกษตร การแปรรูป การศึกษาและการท่องเที่ยว
สิ่งที่เราสนใจคือเรื่องของนวัตกรรม (innovation) และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพในการผลิต สำหรับเรื่องการเกษตรเราสนใจดูนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี (technological innovation) ที่ง่าย (simple) ไม่สลับซับซ้อน ราคาถูก ประหยัด หากเสียชาวบ้านสามารถซ่อมได้เอง และสามารถนำมาปรับใช้กับชาวบ้านทั่วไป และสภาพภูมิประเทศของไทยได้ดี
ประเด็นที่ 6 เพื่อนำแนวคิดในการศึกษาดูงานมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ แก่รัฐบาลและประชาชนไทยให้มากที่สุด คณะกรรมาธิการฯ เห็นควรให้มีการตระเตรียมการเพื่อจัดทำเอกสารหรือบทความวิชาการ ตลอดจนจัดพิมพ์เป็นหนังสือที่อยู่ในรูปเล่มอีกด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการจัดทำเป็นรายงานเพื่อนำเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณา หากเห็นชอบจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปในเรื่องที่เกี่ยวกับ นโยบาย ยุทธศาสตร์ การจัดทำแผน ระบบและโครงสร้างการบริหารราชการในการแก้ปัญหาความยากจนของจีน โดยน่าที่จะชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในการทำงานระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนกับหน่วยงานภาครัฐว่าทำงานร่วมกันอย่างไร? และแบ่งงานกันทำอย่างไร ? อะไรคืองานของพรรค? และอะไรคืองานของรัฐ ?
ดังนั้นในระหว่างศึกษาดูงานควรมีการรวบรวมเอกสารทั้งภาษาอังกฤษและภาษาจีนซึ่งจัดทำโดยองค์กรของสาธารณรัฐประชาชนจีนมาประกอบเพิ่มเติมด้วย
พร้อมกันนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้แสดงความประสงค์ขอเข้าพบกับผู้นำระดับมณฑลและระดับพรรค เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น แลเประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวข้างต้นอย่างจริงจัง และตรงไปตรงมาด้วย
ประเด็นที่ 6 เรื่องการต้อนรับของประเทศจีนขอให้เป็นไปอย่างเรียบง่าย ลดพิธีการต่างๆที่ไม่จำเป็นลงขอให้ถือปฏิบัติกับพวกเราเหมือนเป็นเพียงนักเรียน นักศึกษาที่มาเรียนรู้และแสวงหา ประสบการณ์ใหม่ๆในชีวิตจากพวกท่าน
แต่เราไม่ได้ปฏิเสธพิธีการต้อนรับที่เป็นทางการ หากจำเป็นเรายินดีเข้าร่วมและปฏิบัติตามประเพณีการปฏิบัติเพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและที่ดีงามระหว่างมิตรประเทศคือไทยและจีนให้เจริญงอกงามและมีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นอย่าง สุดกำลังและด้วยความกระตือรือร้นเป็นอย่างยิ่ง
ประเด็นที่ 7 ก่อนการเดินทางศึกษาดูงาน คณะกรรมาธิการฯ ประสงค์จะขอพบปะหารือกับบุคคลผู้มีความรู้ความ ความสามารถและมีประสบการณ์โดยตรงกับประเทศจีนเป็นอย่างดี เพื่อขอข้อคิดเห็น และข้อแนะนำอันมีค่าที่สามารถนำมาเป็นชุดข้อมูลความรู้ในการเตรียมตัวก่อนการเดินทางศึกษาดูงานครั้งนี้ ซึ่งเรื่องนี้ท่านอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกได้กรุณาแนะนำชื่ออดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปักกิ่งจำนวนสองท่าน ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ จะได้ประสานงานติดต่อเพื่อหารือกันต่อไป
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ให้ข้อคิดในเรื่องนี้ว่า “ผลลัพธ์ของการศึกษาดูงานคราวนี้จะออกดอกออกผลเป็นเช่นไร ก็ขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวและการความพร้อมของพวกเราก่อนออกเดินทางไป เตรียมตัวให้ดี ผลลัพธ์จะออกมาดี เตรียมตัวไม่ดี ผลลัพธ์จะออกมาไม่ดี”
และภายหลังจากการเดินทางศึกษาดูงานแล้ว คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้ดำเนินการจัดทำเป็นหนังสือเล่มเพื่อรายงานเปรียบเทียบแนวคิดและประสบการณ์การแก้ปัญหาความยากจนในรูปแบบของประเทศไทย ที่คณะกรรมาธิการฯ ได้บากบั่นลงทุนลงแรงทำมาแล้วเป็นเวลากว่าสามปี กับรูปแบบของสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนจีน เพื่อนำเสนอต่อวุฒิสภา และเผยแพร่ให้แก่ประชาชนคนไทยได้รับทราบต่อไปด้วย
ที่ประชุมคณะกรรมาธิการมีมติเห็นชอบให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการจัดทำหนังสือประสานงานกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เพี่อขออนุญาตเข้าพบกับท่านเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนจีนประจำราชอาณาจักรไทย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและได้รับทราบข้อมูลอันเป็นประโยชน์แก่การเดินทางไปประชุมทวิภาคีและเพื่อศึกษาหาความรู้ของคณะกรรมาธิการฯ อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้การศึกษาดูงานการแก้ปัญหาความยากจน ณ สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนจีน ได้บรรลุ ตามวัตถุประสงค์ที่ คณะกรรมาธิการ ฯต้องการ
ในกรณีการประสงค์ขอเข้าพบกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ท่านอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก ได้ขอให้คณะกรรมาธิการฯ กำหนดประเด็นและหัวข้อในการพูดคุยแลกเปลี่ยน ข้อคิดเห็นให้ชัดเจนโดยให้กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ประสานงานในการจัดส่งหนังสือให้แก่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนจีนประจำประเทศไทยเพื่อดำเนินการต่อไป
สำหรับประเด็นหัวข้อที่จะหารือกับตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ผมได้จัดส่งให้ท่านอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเรียบร้อยแล้วในค่ำวันเดียวกัน พร้อมทั้งเหตุผลต่างๆประกอบด้วยว่า เพราะเหตุใดเราจึงอยากแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นเหล่านั้น
สวัสดีครับ…จากผมเอง
สังศิต พิริยะรังสรรค์
ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา
25 มกราคม 2566