วันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2565 คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา จัดการประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นความเดือดร้อนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และเอกสารสิทธิ์ของประชาชนในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน โดยมีผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำนันในหลายพื้นที่ของอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมาธิการ ณ อาคารรัฐสภา
นายเมธวัฒน์ พุทธิธาดากุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา ให้ข้อมูลว่า อำเภอบ่อเกลือมีพื้นที่ประมาณ 576,000 ไร่ มี 4 ตำบล 39 หมู่บ้าน จำนวนประชากรประมาณ 16,000 คน โดยประชากรอาศัยในพื้นที่ราบประมาณร้อยละ 15 ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่อุทยานแห่งชาติร้อยละ 85
ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากราษฎรได้อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ของป่าสงวนแห่งชาติและพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐได้จับกุมดำเนินคดีกับราษฎรที่บุกรุกพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ราษฎรในพื้นที่อำเภอบ่อเหลืออยู่อาศัยแบบไม่มีความสุข ซึ่งก่อนที่จะมาเสนอเรื่องต่อคณะกรรมาธิการนั้น ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวไปหารือในระดับพื้นที่ โดยได้มีการสะท้อนถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด ดังนั้น จึง ใคร่ขอความอนุเคราะห์แก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ดังนี้
1) จัดโซนที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านออกจากเขตป่าทุกชนิด และให้สำนักงานที่ดินออกสำรวจรังวัดเพื่อออกเอกสารสิทธิ์เหมือนกับประชาชนในพื้นที่อื่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ที่อยู่นอกเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ
2) แก้ไขพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 เนื่องจากเกิดปัญหาว่า บ้านเรือนที่อยู่อาศัย แปลงนาหรือแปลงเกษตรกร ที่แม้จะอยู่ในพื้นที่เขตกันออกจากป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติแล้ว แต่เมื่อไม่มีเอกสารสิทธิ์มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะกล่าวอ้างว่าแม้จะเป็นเขตกันออกจากป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติแล้ว แต่ยังถือว่ายังอยู่ในป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 จึงถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐจับกุมดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484
ประเด็นปัญหาดังกล่าว เป็นเหมือนกับดักที่ทำให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นไปอย่างยากลำบาก รวมถึงเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติ
โดยในกรณีดังกล่าวนี้ได้มีการหารือกับหน่วยงานของรัฐแล้วว่า สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ แต่ต้องเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันไม่เกิน 35 องศา และต้องเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
3) พิจารณาให้ราษฎรอำเภอบ่อเกลือมีสิทธิได้รับประโยชน์จากโครงการ “บอกดิน” เช่น สิทธิ์ได้รับการออกเอกสารสิทธิ์เป็นลำดับต้น ๆ สิทธิ์ถือครองและทำประโยชน์ในที่ดิน โดยใช้เป็นเอกสารประกอบในการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร เพื่อแก้ไขปัญหาการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร
4) จัดโซนพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว แหล่งทำมาหากินในแต่ละพื้นที่ของอำเภอบ่อเกลือให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ สภาพภูมิสังคม สภาพวิถีชีวิต และวิถีการผลิตของชาวบ้านในปัจจุบัน
ประเด็นดังกล่าว ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางในการอยู่อาศัยและประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ
โดยอาจดำเนินการให้มีการเช่าพื้นที่ดังกล่าวของแต่ละหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความมั่นใจในการอยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ โดยส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวและลดการปลูกพืชเลื่อนลอย การใช้สารเคมีในพืชผลเกษตรกรรม
อันจะส่งผลให้ชาวบ้านในพื้นที่มีรายได้ประจำ ทำให้ไม่ต้องรบกวนพื้นที่ป่า ก็จะทำให้ป่าเหล่านั้นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
5) พิจารณาแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรงบประมาณเข้าไปดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เช่น ระบบน้ำประปา ถนนหนทางทั้งถนนลาดยางหรือถนนคอนกรีตเข้าสู่หมู่บ้านต่าง ๆ ในอำเภอบ่อเกลือได้ ซึ่งในปัจจุบันไม่สามารถทำได้
เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมายทั้งป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานอุทยานแห่งชาติ ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ที่อยู่อาศัยมาก่อนการประกาศเขตป่าทุกชนิด โดยตำบลบ่อเกลือได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ ได้ จึงต้องมีการคืนงบประมาณให้กับกระทรวงการคลัง
6) พิจารณาผ่อนปรน หรือมีมาตรการบางอย่างเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์สองข้างทางหลวง เนื่องจากถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1081 โดยเฉพาะในเขตตำบลบ่อเกลือใต้ มีการกันเขตทางหลวงจากจุดศูนย์กลางทางหลวงออกไปข้างละ 20 เมตร
ซึ่งการกันเขตดังกล่าว ไม่มีการประชาคมหรือทำข้อตกลงกับราษฎรและไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพราะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีที่อยู่อาศัยน้อยลง ทำให้กระทบความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิต
จากการประชุมได้มี การอภิปราย สรุปได้ดังนี้
นายเสน่ห์ วิวัฒน์ดงพญา กำนันตำบลดงพญา กล่าวว่าถ้ารัฐสนับสนุนการท่องเที่ยวโดย สนับสนุนให้ประชาชนมีทุนและมีโอกาส ทำกิจการด้านการท่องเที่ยว จะทำให้คนมีอาชีพและมีรายได้ จะช่วยลดการแผ้วถางป่า การเผาป่าและทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นายเมธวัฒน์ พุทธิธาดากุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา ได้กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมว่า พื้นที่อำเภอบ่อเกลือมีผู้คนอาศัยอยู่และตั้งชุมชนมาอย่างยาวนาน โดยอำเภอบ่อเกลือได้แยกออกมาจากอำเภอปัว มาจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอบ่อเกลือ ตั้งแต่ปี 2538 และหลังจากนั้นก็เป็นอำเภอบ่อเกลือ การประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่อุทยานแห่งชาตินั้น เป็นการประกาศภายหลังจากที่ประชาชนได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นก่อนแล้ว
ถึงแม้จะมีการประกาศให้ประชาชนยื่นเรื่องคัดค้านพื้นที่การประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แต่เนื่องจากในอดีตการสื่อสารต่าง ๆ ยังไม่มีความสะดวกสะบายและทั่วถึงเช่นปัจจุบัน จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ไปยื่นเรื่องคัดค้าน
นายวิทยา มหายศนันท์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลภูฟ้า ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมว่า พื้นที่ตำบลภูฟ้ามีลักษณะเช่นเดียวกันกับพื้นที่อื่น ๆ ในอำเภอบ่อเกลือ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการพัฒนาพื้นที่ได้ เนื่องจากว่าเป็นพื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรืออุทยานแห่งชาติ ดังนั้น จึงมีงบประมาณที่สะสมเป็นจำนวนมากเพราะไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่ดังกล่าวได้ สามารถดำเนินการได้แต่เพียงการซ่อมแซมเท่านั้น
นายธนดล วงศ์มณีทิพย์ กำนันตำบลบ่อเกลือใต้ ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า สำหรับประเด็นปัญหาในพื้นที่ตำบลบ่อเกลือใต้ ชาวบ้านอยากจะดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำไร่ เป็นการทำนาแบบขั้นบันได แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะเจ้าหน้าที่ห้ามนำเครื่องจักรเข้าไปในพื้นที่ นอกจากนั้น พื้นที่ดังกล่าวยังประสบปัญหาเรื่องน้ำใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคด้วย แต่ไม่สามารถดำเนินการจัดทำน้ำประปาได้
นายแก้ว ดวงพันธ์ กำนันตำบลภูฟ้า ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาไม่ได้อยู่บนที่ราบ ทำให้การเพาะปลูกไม่สามารถได้ผลผลิตตามที่ต้องการ ครั้นจะดำเนินการเพาะปลูกแบบผสมผสาน หน่วยงานของทางราชการก็ไม่อนุญาตให้ดำเนินการ
นอกจากนั้น พื้นที่ที่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ พี่น้องประชาชนได้ยื่นคำร้องให้หน่วยงานของรัฐออกมารังวัดพื้นที่เพื่อออกเอกสารสิทธิ์ แต่ยังไม่มีหน่วยงานของรัฐออกมาสำรวจพื้นที่เพื่อออกเอกสารสิทธิแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนนิยมไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีผู้ประกอบการสร้างที่พักเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว และมีข่าวเรื่องการดำเนินคดีกับผู้ประกอบการเรื่องการบุกรุกที่ดินนั้น นายเมธวัฒน์ พุทธิธาดากุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงพญา ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมว่า
ประชาชนที่ได้ประกอบอาชีพทำมาหากินและอยู่อาศัยในพื้นที่นั้น มีความหวาดระแวงตลอดเวลา เนื่องจากไม่ทราบว่าจะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาจับกุมดำเนินคดีในข้อหาว่าเป็นผู้บุกรุกป่าเมื่อใด ปัญหาต่าง ๆ ที่สะสมมาอย่างยาวนานและยังไม่มีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าวอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ การเดินทางมาในครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการบอกเล่าถึงประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อให้คณะกรรมาธิการช่วยดำเนินการหาทางออกและแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถอยู่อาศัยและประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องกลัวเจ้าหน้าที่ของรัฐมาจับกุมดำเนินคดี
นายประสาร มฤคพิทักษ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์คณะกรรมาธิการ ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมว่า ปัญหาเรื่องคนอยู่ในพื้นที่ป่า เป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐได้ประกาศพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับพื้นที่ที่มีประชาชนและชุมชนอาศัยอยู่มาก่อนแล้ว ประกอบกับการที่รัฐบาลใช้มาตรการทวงคืนผืนป่า ทำให้มีประชาชนที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก และปัญหาเหล่านี้ได้เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศไทย การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็วเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว รวมทั้งจะต้องให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม ได้แสดงความคิดเห็นต่อที่ประชุมว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกช่องทางหนึ่งคือการใช้ประโยชน์จากพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่ให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่าและสามารถหาผลประโยชน์จากพื้นที่ป่าได้ด้วย
สำหรับสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ถนนที่ใช้ในการเดินทางสัญจรนั้น สามารถดำเนินการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานได้เท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างขึ้นใหม่ได้
นอกจากนี้ในการลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นและบูรณาการการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้าร่วมในการเดินทางเพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย
จากการนำเสนอข้อมูลทั้งหมดมีประเด็นสำคัญที่เป็นประเด็นเรื่องด่วนอยู่ 4 ประเด็นดังนี้
1) จัดโซนที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และที่สาธารณประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ตำบลบ่อเกลือ ออกจากเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ
2) พิจารณาให้ราษฎรเช่าพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อการประกอบอาชีพและการอยู่อาศัย โดยอาจจะให้เช่าเป็นภาพรวมของหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือรายบุคคล
3) หยุดการจับกุมดำเนินคดีกับราษฎรที่อยู่อาศัยและทำกินอยู่ในเขตป่าทุกชนิด และ
4) ให้กรมพัฒนาที่ดินหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสำรวจเพื่อดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนที่อยู่นอกเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้สามารถนำเอกสารสิทธิ์เหล่านั้นไปแปลงหลักทรัพย์เป็นทุนได้
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ปัญหาต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชน ถ้าข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งนักการเมืองในพื้นที่มีความใส่ใจในการแก้ไขปัญหา เชื่อว่าปัญหาต่าง ๆ มีทางออกหรืออย่างน้อยก็สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ ความตั้งใจจริงและความสมัครสมานสามัคคี การบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในพื้นที่จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ซึ่งประเด็นปัญหาดังกล่าว คณะกรรมาธิการจะได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขดังกล่าวในช่วง ระหว่างวันที่ 5 -7 มกราคม 2566