วันที่ 14 ก.ย. 2563 ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรผ่าน นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้เเทนราษฎร เพื่อคัดค้านการบรรจุญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติของฝ่ายค้าน เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
นายไพบูลย์ ระบุว่า ลายมือชื่อของ ส.ส. ผู้เสนอญัตติทั้ง 4 ซ้ำกันกับญัตติอื่น คือ ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งจะกระทำมิได้เพราะจะทำให้จำนวน ส.ส. ที่เข้าชื่อเสนอญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัตติ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ มาตรา 251 (1) ที่จะต้องมี ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาดำเนินการยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยกรณีดังกล่าว
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งที่ 5/2563 ลงวันที่ 29 ม.ค. 2563 กรณี ส.ส.77 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตราขึ้นไม่ถูดต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ขอให้ศาลวินิจฉัยเป็นประเด็นเดียวกับเรื่องพิจารณาที่ 3/2563 ซึ่งมีรายชื่อ ส.ส.ซ้ำกัน 30 คน ทำให้ จำนวน ส.ส.ที่เข้าชื่อตามคำร้องนี้ไม่ครบตามเกณฑ์ ถ้าดูตามคำวินิจฉัยนี้หมายความว่า ส.ส.จะลงชื่อได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น จะลงชื่อซ้ำในทำนองเดียวกันไม่ได้
นายไพบูลย์ ยืนยันกับผู้สื่อข่าวด้วยว่า แม้จะเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญคนละมาตรา แต่เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนกัน ทุกญัตติคือการยื่นรายมาตรา
ด้านนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หากญัตติที่เสนอมาเป็นคนละประเด็นกัน ส.ส.มีสิทธิ์ลงชื่อแต่ละฉบับได้โดยไม่ถือว่าซ้ำกัน แต่จากการตรวจสอบ 4 ญัตติที่ฝ่ายค้านเสนอมา พบมี 3 ญัตติที่ ส.ส.บางคนลายมือชื่อไม่เหมือนกัน จึงต้องตรวจสอบว่าเป็นการลงชื่อแทนกันหรือไม่
ส่วนกรณีนายไพบูลย์ อ้างคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ แล้วศาลวินิจฉัยว่าเป็นการลงชื่อซ้ำกันนั้นถือเป็นกรณีส่งคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คนละกรณีกับการเสนอร่างกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 4 ญัตติ ที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นแก้ไขรายมาตราประกอบด้วย 1. การยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 และพ่วงมาตรา 159 ให้ที่มาของนายกรัฐมนตรีนอกจากเลือกจากบัญชีของพรรคการเมืองแล้ว สามารถเลือกจาก ส.ส.ได้ด้วย และปิดทางนายกรัฐมนตรีคนนอก
2. การยกเลิกอำนาจของวุฒิสภา ตามมาตรา 270 เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ และมาตรา 271 เกี่ยวกับการไม่เห็นชอบหรือแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายเกี่ยวกับ แก้ไขเพิ่มเติมโทษหรือองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฯลฯ เฉพาะเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมนั้นมีผลให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากความผิดหรือโทษ ที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร
3. การยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของ คสช. อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ
4. การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ด้วยการยกเลิกมาตรา 88, 83 , 85 , 90 , 91 และ 94 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้งให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญพ.ศ 2540 คือใช้บัตร 2 ใบ เลือกคนและเลือกพรรค
#workpointTODAY